กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จริยธรรมของนักวิชาการไทย อยู่ที่ไหน

ถาม: ตามความเข้าใจของดิฉันนะคะ ที่เห็นพระก็ดี ผู้ที่ปฏิบัติธรรมขณะนี้ก็ดี มีความเห็นผิด หลงทางกันเยอะทีเดียว ทีนี้การหลงทางนี่ ดิฉันคิดว่าถ้าหากว่าท่านได้ศึกษาพระไตรปิฎก คงจะช่วยให้การหลงทางนี้น้อยลง ดิฉันคิดว่าอย่างนั้นนะเดิม แต่พอมาอ่านชีตอันนี้ เรื่อง “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?” ซึ่งท่านก็อ้างพระไตรปิฎกมาเยอะแยะเลย ก็หลงอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการศึกษาพระไตรปิฎกนี่จะช่วยไม่ให้หลงทาง หรือถ้าหลงทางก็หลงไปอย่างแนบเนียนหรือเปล่าคะ

ตอบ: ไม่ว่าเรื่องอะไรละ ถ้าตั้งใจไว้ผิดละมันก็เขวได้หมด เช่น เรามีเจตนา มีความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง แล้วก็ไปเที่ยวจับเอาอะไรๆ ในแง่ที่จะให้สนองความประสงค์ของเรา อย่างนี้เป็นต้น แสดงว่าเราไม่ได้ตั้งวางจิตใจเพื่อจะเข้าใจไปตามสิ่งนั้น แต่เรามีเป้าหมายของเรา แล้วเราไปเอาสิ่งนั้นมาสนอง ถ้าอย่างนี้ก็ต้องเกิดปัญหา

อย่างในกรณีนี้ คือบทวิเคราะห์เรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่ท่านเมตตานันโทเขียนนั้น เมื่อวานนี้พระท่านก็เอาหนังสือพิมพ์ข่าวสดมาอ่านให้ฟังว่า ท่านตอบโต้คนอื่นที่วิจารณ์ข้อเขียนของท่าน โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “จริยธรรมของนักวิชาการไทยอยู่ที่ไหน1 ก็มานึกว่า เออ ! ที่จริงนี่ท่านไม่ควรจะไปถือสาคนที่ว่าท่านหรอก ความสำคัญอยู่ที่ท่านจะต้องจับประเด็นที่เขาว่า คือ อย่าไปถือในเรื่องถ้อยคำ เพราะบางคนเขาอาจจะพูดรุนแรง บางคนก็พูดตามเหตุตามผล ทีนี้ตัวประเด็นนี้มันอยู่ที่ไหน ในเมื่อคุณหมอยกเรื่องนี้ขึ้นมาถาม ไหนๆ พูดแล้วก็เลยขออธิบายสักหน่อย

เราจะรู้ว่าจริยธรรมของนักวิชาการไทยอยู่ที่ไหน ก็ต้องรู้ก่อนว่าจริยธรรมที่ว่านั้นคืออะไร เป็นอย่างไร เหมือนกับจะรู้ว่านาย ก. อยู่ที่ไหน ก็ต้องรู้ว่านาย ก. เป็นใคร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อพูดทั่วๆ ไปอย่างง่ายๆ “จริยธรรม” ก็คือ การประพฤติปฏิบัติถูกต้องที่จะให้เกิดผลดีสมความมุ่งหมาย จริยธรรมในเรื่องใด ก็เป็นการประพฤติปฏิบัติถูกต้องให้เกิดผลดีตามวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้น จริยธรรมทางวิชาการก็เป็นการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องให้เกิดผลดีตามวัตถุประสงค์ของวิชาการ

การประพฤติปฏิบัติในทางวิชาการ นอกจากมีจริยธรรมพื้นฐานคือการประพฤติตามหลักศีลธรรมทั่วไปแล้ว ก็ต้องมีการประพฤติปฏิบัติถูกต้องดีงาม ที่เป็นส่วนเน้นส่วนขยายเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายของวิชาการด้วย

งานวิชาการเป็นงานด้านเสริมสร้างปัญญา เพราะฉะนั้น จริยธรรมที่จะต้องเน้น ก็คือจริยธรรมในระดับปัญญา ซึ่งหมายความว่า นอกจากมีความสุจริตใจ ซื่อสัตย์ต่อเรื่องที่ทำ ไม่ลักไม่ขโมย เป็นต้นแล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบในการทำงานวิชาการ เริ่มตั้งแต่เรื่องข้อมูล การจะตีความ วิเคราะห์ วินิจฉัยต่างๆ ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ เพื่อมุ่งจะนำผู้อ่าน ผู้ฟัง ฯลฯ ไปสู่ความจริง และนำเสนอความจริงให้ถ่องแท้ ไม่ทำแบบสุกเอาเผากิน หรือสื่อชนิดฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด หรือเขียนแบบจับแพะชนแกะ หรือนำเสนออย่างไม่ตรงไปตรงมา ถ้าทำโดยไม่รับผิดชอบอย่างที่ว่านี้แหละ คือการเสียจริยธรรมทางวิชาการแท้ๆ ไม่ต้องไปพูดถึงคำรุนแรงอะไรต่างๆ ซึ่งยังเป็นเรื่องเบา

ถ้าข้อมูลผิดพลาด ไม่ตรวจสอบให้ถ่องแท้ หรือนำเสนอไม่ตรง ทำให้คนอ่านเข้าใจผิดนี่ เป็นการเสียจริยธรรมทางวิชาการโดยตรง และถ้าจงใจทำให้ผิดก็ร้ายแรงที่สุด เพราะว่าถ้าเราทำงานอะไรขึ้นมาแล้ว ทำให้คนที่อ่านที่ฟังซึ่งยังไม่รู้ เกิดรู้ผิดจำผิดนี่ มันอันตราย ยิ่งกว่าให้เขายังไม่รู้อีก ใช่ไหม พอรู้ขึ้นมา ก็เป็นการรู้ผิดจำผิดไปเสียนี่ ข้อสำคัญจึงอยู่ที่นี่

จริงอยู่ แม้จะตั้งใจระวังอย่างดี แต่บางทีก็ยังมีความผิดพลาดไปบ้างด้วยพลั้งเผลอ หรือด้วยเหตุที่คาดไม่ถึงบางอย่าง ซึ่งจะต้องให้อภัยกันบ้าง แต่ความผิดพลาดแบบนั้นโดยมากจะเป็นเพียงเรื่องปลีกย่อย มีไม่บ่อย และไม่ใช่สาระสำคัญ

เคยแยกไว้แล้วว่า ในการทำงานวิชาการ ที่มีการวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์อะไรต่างๆ นี้ มีอย่างน้อย ๒ ขั้นตอนที่ต้องระวัง คือ

  1. ขั้นข้อมูล
  2. ขั้นวิเคราะห์วิจารณ์สันนิษฐานวินิจฉัย รวมทั้งตีความ

เรามักจะมองข้ามขั้นไปเสีย แล้วมัวตื่นเต้นว่าวิจารณ์ได้เก่ง อะไรต่างๆ โดยไม่ได้ดูว่าข้อมูลนั้นถูกต้องถ่องแท้หรือไม่ ทีนี้ถ้าข้อมูลผิดพลาด มันก็เสียหมด เหมือนอย่างว่าเขาพูดเรื่องแมวแล้วตัวเองไปจับเอาเป็นเรื่องเสืออย่างนี้ ข้อมูลที่จับเอาไปผิดแล้ว การสันนิษฐานวิจารณ์ก็คลาดเคลื่อนหมด หรือเขาพูดเรื่องมะนาวตัวเองไปฟังเป็นมะพร้าว แล้วจะเอาไปวิเคราะห์วิจารณ์สันนิษฐานอย่างไร มันก็ไปคนละเรื่อง

อีกอย่างหนึ่ง เวลานี้ชอบพูดกันในเรื่องเสรีภาพ จนกลายเป็นตื่นหลงไป แทนที่จะศึกษากันให้เข้าใจ เพื่อจะได้ใช้ให้ถูกต้อง บางทีพูดกันเหมือนกับว่าถ้ามีเสรีภาพหรือใช้เสรีภาพ ก็เป็นอันว่าถูกต้อง ดังจะเป็นจริยธรรมไปเลยในตัว

เสรีภาพเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้คนมีโอกาสและใช้โอกาส ประชาธิปไตยสร้างเสริมโอกาส และเสรีภาพก็ทำให้คนเข้าถึงและสามารถใช้โอกาสนั้น เสรีภาพที่สำคัญคือ เสรีภาพในการแสวงและแสดงความจริง กับเสรีภาพในการแสดงความต้องการ ทำสิ่งที่ต้องการ และได้รับผลตามควรแก่ความต้องการ

การใช้เสรีภาพไม่ใช่เป็นจริยธรรม แต่เป็นตัวบ่งบอกว่ามีจริยธรรมหรือไม่ พูดง่ายๆ ว่า การใช้เสรีภาพอย่างถูกต้องนั้นแหละ เป็นจริยธรรม ถ้าใช้เสรีภาพไม่ถูกต้องก็เป็นการทำลายจริยธรรม

ถ้าใช้เสรีภาพในการแสดงความเท็จ เช่น เพื่อหลอกลวงผู้อื่น หรือแม้แต่เพื่อทำอะไรง่ายๆ ตามใจตัว หรือเพียงเพื่อสนองอารมณ์ หรือใช้เสรีภาพเพื่อทำการสนองความต้องการของตนในทางที่เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพของชีวิตและโลก ก็ไม่เป็นจริยธรรม และก็ไม่เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตยด้วย จึงพูดว่า เสรีภาพถูกจำกัดด้วยสิทธิ และถูกคุมโดยความรับผิดชอบ อีกทั้งมีกฎกติกาเป็นกรอบกั้น

ถ้าใช้เสรีภาพในการแสวงและแสดงความจริง โดยมีจริยธรรมทางวิชาการอย่างที่กล่าวข้างต้น ก็จะก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม เริ่มด้วยการพัฒนาปัญญา ที่เป็นผลดีทั้งแก่ชีวิตและสังคม แต่ถ้าใช้เสรีภาพนั้นโดยขาดจริยธรรมทางวิชาการ ผลงาน และการกระทำ แม้จะเรียกว่าเป็นวิชาการ ก็จะไม่ก่อให้เกิดผลดีอะไรเลย ตนเองก็ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เจริญปัญญา ไม่ก้าวหน้าไปในทางที่จะเข้าถึงความจริง ทั้งบั่นทอนประโยชน์สุขและความดีงามแห่งชีวิตและสังคม ตลอดจนก่อความเสียหายแปดเปื้อนเลือนรางแก่หลักการอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวหล่อเลี้ยงและเป็นตราชูแก่ชีวิตและสังคมนั้นด้วย

เสรีภาพทางวิชาการที่แท้ จึงหมายถึงเสรีภาพที่เป็นเครื่องมือของจริยธรรมทางวิชาการ

1นสพ.ข่าวสดรายวัน ฉบับวันอังคารที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๓
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง