คนเรามีช่องทางได้ความสุขอีกเยอะแยะนอกเหนือจากการเสพอามิส อาตมาขอยกตัวอย่างนิดเดียว เดี๋ยวจะไม่เห็นว่าสุขพัฒนาได้อย่างไร อย่างคุณพ่อคุณแม่นี่ ไม่ได้มีความสุขเฉพาะเสพอามิสหรอกนะ แต่ท่านมีความสุขอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคุณแม่นี่มีความสุขพิเศษที่คนอื่นไม่ค่อยมี คือความสุขจากการให้
คนทั่วไปจะมีความสุขจากการได้ คือ คนทั่วไปมีชีวิตที่หวังความสุขจากการเสพอามิส จึงมีความสุขจากการได้การเอา ต้องได้ต้องเอาจึงจะมีความสุข จนกระทั่งลืมไปว่า ที่จริงยังมีหนทางหาความสุขอีกแบบหนึ่งที่ประณีตกว่า เช่น คุณแม่ เมื่อให้แก่ลูกก็มีความสุขใช่ไหม พอให้แก่ลูกแล้วนี่ ลูกยิ้มย่องผ่องใส พ่อแม่สบายมีความสุขยิ่งกว่าลูก หรือมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะอะไร เพราะการเป็นพ่อเป็นแม่ทำให้ได้พัฒนาจิตใจขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือมีความรักมีเมตตาต่อลูก ซึ่งทำให้การให้กลายเป็นความสุข แต่นั่นเป็นไปโดยธรรมชาติ ทีนี้มนุษย์ที่พัฒนาจิตใจขึ้นไปอย่างเช่นเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันนี่ไม่ติดในวัตถุแล้ว มีอะไรให้ได้หมด เพราะว่า ในใจมีคุณธรรม เมื่อพอใจมีความรักความเมตตาแล้ว การให้ก็กลายเป็นความสุข
สำหรับมนุษย์ปุถุชน การให้คือการสูญเสีย จึงเป็นความฝืนใจ ทำให้เกิดความทุกข์ ให้คือเสีย ต้องได้จึงจะสุข พอได้ก็มีความสุข เพราะฉะนั้นมนุษย์ปุถุชนจึงมีความสุขจากการได้การเอา แต่เมื่อเป็นพ่อแม่ก็มีความสุขจากการให้ด้วย การให้กลายเป็นความสุขเพราะอะไร เพราะพ่อแม่รักลูก รักลูกคืออะไร คืออยากให้ลูกมีความสุข ความอยากให้ลูกมีความสุขก็ทำให้การให้กลายเป็นความสุขไป เพราะการให้เป็นวิธีการที่จะทำให้ลูกมีความสุข เมื่อคนเราพัฒนาจิตใจขึ้นมาเป็นพระโสดาบัน เมตตาก็เปี่ยมจิต จาคะก็เปี่ยมใจ หมดมัจฉริยะไม่มีความหวงแหน เมื่อให้ก็มีแต่ความสุขทั้งนั้น ฉะนั้นการให้จึงกลายเป็นความสุข
พอการให้กลายเป็นความสุข ชีวิตของตัวเองก็ดีขึ้น เพราะมีช่องทางหาความสุขทั้งจากการได้และการให้ และโลกก็มีสันติสุข เพราะคนอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน ตอนนี้ความสุขของเขาก็เป็นความสุขของเรา ความสุขของเราก็เป็นความสุขของเขา แต่ก่อนนี้เรามีความสุขแบบแย่งชิง ถ้าเราได้เขาก็เสีย ถ้าเราสุขเขาก็ทุกข์ ถ้าเขาได้เราก็เสีย ถ้าเขาสุขเราก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นฝ่ายหนึ่งสุขฝ่ายหนึ่งทุกข์ แต่เมื่อมีเมตตาคุณธรรมในใจเป็นตัวสมาน มีกรุณาเป็นตัวสมาน ก็เปลี่ยนการให้เป็นความสุขทันที และสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นความสุขก็ร่วมกัน ไม่แย่งชิงกัน นี่เป็นตัวอย่างของการพัฒนามนุษย์
คนที่พัฒนามากขึ้น และมีความสามารถในการมีความสุขมากขึ้น ก็ยิ่งติดยิ่งขึ้นต่อโลกามิสน้อยลง เขาจึงตัดโลกามิส (คือตัดความยึดติดหรือขึ้นต่ออามิส) ได้ง่ายขึ้น เมื่อตัดโลกามิสได้ดีขึ้น นอกจากช่องทางที่จะมีความสุขจะเพิ่มขึ้นแล้ว การปฏิบัติต่อโลกามิสของเขาก็จะพัฒนาเปลี่ยนไปด้วย คือชีวิตของเขาอาศัยโลกามิสน้อย ไม่ต้องขึ้นต่อโลกามิส โลกามิสก็ไม่จำเป็นสำหรับความสุขของเขา เขาไม่เห็นคุณค่าของโลกามิสในแง่ที่จะเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตัวเองแล้ว เขาก็เลยเปลี่ยนความหมายของโลกามิสเสียใหม่ แต่ก่อนนี้ โลกามิส โดยเฉพาะทรัพย์และอำนาจ หรือทรัพย์สมบัติ ยศศักดิ์ บริวาร เคยเป็นเครื่องบำรุงบำเรอหรือเครื่องมือหาความสุขให้แก่ตัวเอง พอถึงตอนนี้ ทรัพย์และอำนาจที่เป็นโลกามิสนั้น ก็เปลี่ยนความหมายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมโอกาสให้สามารถสร้างสรรค์ความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่โลกและสังคมได้มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น
คนมีความคิดดีๆ แต่ไม่มีทรัพย์ ยศ บริวาร ก็ทำอะไรได้ไม่มาก ความคิดดีๆ และคุณค่าของเขาก็มีผลจำกัดในวงแคบ แต่ถ้าเขามีทรัพย์ ยศ บริวาร ความคิดดีๆ ของเขานั้น ก็ออกผลเป็นประโยชน์มากมายกว้างขวาง
ตัวอย่างที่ชัดเจน และเป็นตัวแบบที่ดี ก็คือพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ก่อนนั้น พระเจ้าอโศกมุ่งแต่แสวงหาโภคะและอำนาจ เพื่อความสุขสำราญและความยิ่งใหญ่ของพระองค์เอง ทรัพย์และอำนาจนั้นก็เป็นโทษภัยแก่สังคม แต่ต่อมาเมื่อทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมแล้ว ทรัพย์และอำนาจนั้นก็หมดความหมายที่จะเป็นเครื่องบำเรอความสุข แต่พระเจ้าอโศกก็ไม่ได้ทิ้งหรือละเลยทรัพย์และยศ แต่ทรงเปลี่ยนความหมายของมันใหม่ โดยทรงใช้มันเป็นเครื่องสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขแก่ประชาชน ดังที่ทรงให้จารึกความไว้ในศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า ยศอำนาจของพระองค์จะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันได้ช่วยให้ประชาชนประพฤติธรรม...