กระบวนวิธีในการที่เราจะทำตัวให้พ้นจากอำนาจของตัณหา มานะ ทิฐิ นั้น พระพุทธศาสนาได้จัดวางเป็นรูปกระบวนการการศึกษาที่เรียกว่าไตรสิกขา ซึ่งทราบกันอยู่แล้วว่า ได้แก่
พูดง่ายๆ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้เป็นเครื่องพัฒนามนุษย์ที่จะทำให้เข้าถึงตัวความจริง คือเข้าถึงตัวธรรมและเอาธรรมะมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ส่วนในการที่จะเอาสิกขามาปฏิบัติให้สำเร็จเป็นสันติในหมู่มนุษย์นั้น ก็มีวิธีปฏิบัติที่มนุษย์จะต้องดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดมากมายด้วยกัน แต่คติหนึ่งที่อยากจะเอามาพูดในที่นี้ คือพุทธภาษิตบทที่ว่า โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข บอกไว้แล้วว่าวันนี้มีบาลีมากหน่อย บาลีพุทธพจน์นี้แปลว่า ถ้าหวังสันติ ต้องตัดโลกามิสได้ ถ้าตัดโลกามิสไม่ได้ก็ไม่มีทางได้สันติ
โลกามิสคือเหยื่อล่อของโลก ได้แก่วัตถุที่เป็นสิ่งเสพทั้งหลาย การละอามิสได้ หมายความว่าละในทางจิตใจที่เข้าถึงรู้ความจริงและไม่ติดไม่ตกเป็นทาสของมัน คนเรานั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะทิ้งวัตถุหมด พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนั้น แต่ท่านสอนให้ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามคุณค่าประโยชน์ที่แท้จริงที่เป็นสาระของมัน แต่ปัญหาสำคัญก็คือ มนุษย์นั้นพอได้โลกามิสมาหรือไปอยู่กับโลกามิส ก็ไปติดไปหลงไปขึ้นต่อมันเสียจนกระทั่งยึดถือว่าชีวิตของเราจะดีมีสุขประเสริฐเลิศได้ เป็นชีวิตที่สุขสมบูรณ์ อยู่ที่ได้มีและได้เสพวัตถุที่เรียกว่าโลกามิส
เมื่อมนุษย์ไปหลงติดอยู่กับโลกามิสก็ต้องวุ่นวายแน่นอน ในด้านพฤติกรรมก็วุ่นทั้งกายและวาจา ต่างคนต่างลุ่มหลงติดจะเอาอามิส ก็ต้องแย่งชิง พฤติกรรมกายวาจาก็กลายเป็นการเบียดเบียนกัน ตลอดจนรบราฆ่าฟันเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ ต่อไปในด้านจิตใจ เมื่อวุ่นวายหลงอยู่กับอามิส จิตใจก็มีความทุรนทุรายกระสับกระส่ายดิ้นรนทะยานหา มีความสุขช่วงสั้นตอนเดียวที่ได้ที่เสพโลกามิสเหล่านี้ แต่ในเวลานอกนั้นที่เป็นส่วนใหญ่ จิตใจก็ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบที่แท้จริง มีแต่ความวุ่นวายเดือดร้อน เกิดปัญหาภายในชีวิตจิตใจของตนเองอีก สันติระหว่างเพื่อนบ้านก็ไม่มีเพราะแย่งชิงกันด้วยพฤติกรรมกายวาจาที่เบียดเบียน ส่วนสันติในใจก็ไม่มีเพราะว่าจิตใจไม่สงบไม่มีความสุข
ยิ่งกว่านั้น พอติดในอามิส ปัญญาที่แท้ก็ไม่เกิด ไม่รู้ไม่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ใจที่คิดแต่จะได้จะเอาจะเสพอามิส ทำให้มองไม่เห็นหรือไม่ยอมมองดูว่า การแสวงหาเสพบริโภคอามิสนั้น ก่อให้เกิดทุกข์โทษความเดือดร้อนแก่เพื่อนมนุษย์และสังคมอย่างไร เป็นผลร้ายทำความเสียหายแก่ธรรมชาติแวดล้อมอย่างไร และการหมกมุ่นมัวเมาเสพสิ่งเหล่านั้น ทำลายคุณภาพชีวิตของตนเองอย่างไร มองเห็นแต่ว่าอามิสเหล่านี้เท่านั้นเป็นสิ่งจะทำให้ชีวิตของเราดีงามประเสริฐ มีความสุข หารู้ความจริงของมันที่เป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาตินั้น มีความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาเป็นต้นไม่ ไม่สามารถเข้าถึงความจริงเหล่านี้
รวมความว่า เพราะความยึดติดในโลกามิสจึงทำให้เสียสันติทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนไม่สามารถเข้าถึงสันติที่ลึกซึ้งสูงขึ้นไป ฉะนั้น ถ้าเราหวังสันติก็ต้องตัดโลกามิสได้ คือไม่ยึดติดหลงไปขึ้นกับมัน แต่มนุษย์จำนวนมากจะหลงติดอามิสจนกระทั่งในที่สุดเขาจะฝากชีวิตและความสุขไว้กับโลกามิสนั้น
โลกนี้ไม่รู้ตัว บางทีเราอยู่กันไปเราก็แสวงหาแต่อามิส แสวงหาแต่วัตถุเสพจนกระทั่งเรานึกว่าความสุขของเราอยู่ที่อามิสเหล่านั้นเท่านั้น ในที่สุดเราก็สูญเสียอิสรภาพ คือความสุขของเราขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ขาดมันเราอยู่ไม่ได้ มนุษย์สมัยปัจจุบันนี้มีความโน้มเอียงอย่างนี้ ยิ่งระบบผลประโยชน์ ระบบบริโภคนิยมเข้ามา ก็ยิ่งผลักดันและหล่อหลอมชีวิตจิตใจคนให้เป็นไปในทำนองอย่างนั้น จนกระทั่งคนหมดความสามารถที่จะมีความสุขด้วยตนเองโดยปราศจากอามิสวัตถุที่จะเสพ ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่า ชีวิตและความสุขของคนนั้นเป็นทาสของวัตถุ ขึ้นต่อวัตถุโดยสิ้นเชิง เมื่อขึ้นต่อวัตถุตัวเองก็ขาดอิสรภาพ เมื่อไม่มีอิสรภาพ ไม่มีความสุขด้วยตนเอง ความสุขต้องขึ้นกับสิ่งเหล่านั้น ความสุขอยู่ข้างนอกตัวเอง ก็ต้องดิ้นรนทะยานหา ในใจของตัวเองก็ไม่มีความสุข ได้แต่ดิ้นรนทะยานหาความสุข เมื่อแต่ละคนต่างก็ดิ้นอย่างเดียวกัน ก็ต้องขัดแย้งกัน ต้องทะเลาะวิวาท สงครามก็เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น การติดยึดในโลกามิสจึงเป็นหนทางแห่งการสูญเสียสันติภาพทั้งภายในจิตใจและภายนอกในสังคมและในโลก ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ถ้าหวังสันติต้องตัดโลกามิสได้ หมายความว่าตัดความยึดติดหลงมัวเมาที่ทำให้ชีวิตขึ้นต่อมันเสีย ทำตัวให้เป็นอิสระ