สุขขั้นไม่ต้องปรุงแต่งนี้เป็นสุขประจำชนิดที่ว่าเป็นคุณสมบัติในใจของตัวเอง เกิดจากมีปัญญา คือได้พัฒนาศีล พัฒนาจิต และพัฒนาปัญญาจนรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยสมบูรณ์ รู้เท่าทันความจริงในธรรมชาติจนกระทั่งทุกข์ในธรรมชาติก็เป็นทุกข์อยู่ในธรรมชาติ ไม่เข้ามาเป็นทุกข์ในใจเรา หมายความว่าเก่งจนกระทั่งว่าความเป็นไปตามกฎธรรมชาติก็ครอบงำจิตใจของเราไม่ได้
ความจริงมีอยู่ว่า ในที่สุดแล้วทุกข์ของมนุษย์นี้มาจากกฎธรรมชาติ เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตใจของเราถูกครอบงำด้วยความผันผวนปรวนแปรของสิ่งทั้งหลายไปตามกฎธรรมชาตินั้น ทุกข์ในธรรมชาติจึงพลอยทำให้เราทุกข์ไปด้วย แต่เมื่อเรามีปัญญารู้เท่าทันในขั้นสุดท้ายแล้ว เราก็มองเห็นว่า ทุกข์ที่มีอยู่ในธรรมชาติมันเป็นของธรรมดา เราไปแก้มันไม่ได้ เมื่อเรารู้เท่าทันแล้วทุกข์ในธรรมชาติก็ปล่อยให้มันเป็นทุกข์ในธรรมชาติไป ใจเราไม่พลอยทุกข์ด้วย ถึงตอนนี้ก็เป็นอิสระแล้ว พ้นจากทุกข์ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน แล้วความสุขก็กลายเป็นคุณสมบัติประจำตัวที่มีอยู่ข้างในและมีอยู่ตลอดทุกเวลา
เมื่อความสุขเป็นของประจำตัวอยู่ข้างในตลอดทุกเวลาแล้ว ความสุขกลายเป็นคุณสมบัติประจำใจ ตอนนี้ท่านบอกว่า อะไรต่ออะไรก็พัฒนามาถึงจุดเต็มเปี่ยมเพียบพร้อมสมบูรณ์ บุคคลนั้นก็กลายเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตน มีความสมบูรณ์ทุกอย่าง ความสุขก็สมบูรณ์ อิสรภาพก็สมบูรณ์ สันติก็สมบูรณ์ ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีก นี่คือบุคคลที่บรรลุประโยชน์สูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก
เมื่อไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก ถึงตอนนี้ก็ไม่ก่อปัญหาแก่ใครแล้ว จะไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเลย และตัวเองก็สุขสมบูรณ์แล้ว ทีนี้ชีวิตก็ยังเหลืออยู่ ยังมีพลังชีวิตเหลือแหล่ และพร้อมกันนั้น กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ ก็เป็นผู้ที่ได้พัฒนาตัวเองมาอย่างดีแล้วด้วย ทำให้มีความสามารถ มีปัญญาดี เมื่อไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเองอีกแล้ว ก็ใช้พลังชีวิตที่เหลืออยู่นั้นทำประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ เข้ากับหลักที่ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย คือบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูลและความสุขแก่พหูชนคนจำนวนมาก และเพื่ออนุเคราะห์โลก นี่แหละคือชีวิตของท่านผู้พัฒนาโดยสมบูรณ์ มีอิสรภาพสมบูรณ์ สันติสมบูรณ์ และสุขสมบูรณ์ การพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้องคือการศึกษาที่ถูกต้องจะดำเนินไปในทิศทางนี้
การศึกษาที่ผิดทำให้มนุษย์แย่งชิงผลประโยชน์เพื่อมุ่งเสพโลกามิส มนุษย์พากันติดโลกามิส แล้วก็แข่งขันแย่งชิงกัน ในใจก็ไม่สันติ โลกก็ไม่สันติ ถ้าอย่างนี้สันติภาพจะมีได้อย่างไร ไม่มีทางหรอกเพราะคนเป็นทาสของโลกามิส พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข ถ้าหวังสันติต้องตัดโลกามิสได้
เป็นอันว่า คนที่พัฒนาถูกต้อง มีการศึกษาถูกต้องเท่านั้นจึงจะเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับอามิส สามารถมีความสุขด้วยตนเองจนกระทั่งเป็นภาวะประจำจิตใจ มีความสุขสมบูรณ์ จึงไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีก เพราะฉะนั้นชีวิตของเขาจึงไม่มีปัญหาแก่ใคร ทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น และพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลก โดยใช้ชีวิตนี้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ แล้วจะมีปัญหาอะไร เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็มีแต่จะเกิดสันติ ตัวเองก็สันติภายในแล้วก็สร้างสันติให้เกิดขึ้นในโลก นี้คือการศึกษาที่ถูกต้อง อย่างนี้เป็นทั้งการศึกษาสันติ และเป็นการศึกษาเพื่อสันติด้วย
นี้แหละคือการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงที่ทำให้หมดปัญหา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้นท่านย้ำไว้เรื่องหนึ่งที่ต้องระวัง ถ้าข้ามเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นข้อบกพร่องของปาฐกถานี้ไป จึงขอพูดไว้เป็นข้อสุดท้าย