ในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ตามหลักพระพุทธศาสนาท่านสอนไว้แล้วว่า เราจะต้องแก้ที่สาเหตุ ทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย ผลเกิดจากเหตุ ต้องสืบดูว่าเหตุปัจจัยมาจากที่ไหน แต่เหตุปัจจัยมีมากหลายอย่างเหลือเกิน
คนเรานี้รบราฆ่าฟันกันเพราะอะไร เพราะความเกลียดชังโกรธแค้นกัน หรือบางทีก็เป็นเพราะการแย่งชิงผลประโยชน์ หรือบางทีก็เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกัน ยึดถืออุดมการณ์ต่างกัน หรือมีความยึดถือแบ่งแยกกันในเรื่องเชื้อชาติศาสนาเป็นต้น เช่นยึดถือว่าเชื้อชาติของเราต้องดีที่สุด เชื้อชาติเราเท่านั้นจะต้องอยู่ เผ่าเราเท่านั้นเป็นเลิศ เผ่าอื่นเลวทั้งนั้น อะไรต่างๆ เหล่านี้ ตลอดจนการแบ่งแยกกันของลัทธิศาสนาต่างๆ ล้วนเป็นปัญหาของโลก
รวมความว่าพระพุทธศาสนาบอกว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นเกิดจากเหตุสำคัญในใจของมนุษย์นั่นเอง ก่อนที่จะแสดงออกมาเป็นการรบราฆ่าฟัน เอาอาวุธมายิงกัน ขว้างระเบิดใส่กัน เอาเครื่องบินไปทิ้งระเบิดนี่ การริเริ่มต้องเกิดในความคิดก่อน คนเราต้องคิดแล้วถึงจะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นปัญหาเกิดในจิตใจของคนก่อน
ปัญหาเกิดในจิตของคน จิตนั้นมีอะไร จิตมีปมปัญหาสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงให้หลักไว้แล้ว เราจึงมาพูดกันง่ายๆ สั้นๆ โดยใช้ศัพท์พระท่านหน่อย เป็นคำที่จุความดี ถ้าใช้ศัพท์ชาวบ้านจะต้องพูดกันยืดยาว เสียเวลา แต่ถ้าใช้ศัพท์พระท่านสรุปให้เพียง ๓ คำ ก็จบ มันแทนหมดเลย
ศัพท์พระที่แสดงถึงสาเหตุสำคัญในใจของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์ออกไปแสดงบทบาทต่างๆ มากมายในโลกที่เราเรียกว่าขาดสันติภาพ นั้นคืออะไร ศัพท์พระท่านบอกไว้มี ๓ คำคือ
ตัณหานั้น เมื่อแปลให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันก็คือความปรารถนาในผลประโยชน์ ความจริงการหาผลประโยชน์นี้เป็นเรื่องขั้นปลาย ลึกลงไปก็คือความต้องการที่จะเสพรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ แต่พูดกันง่ายๆ ว่าความต้องการผลประโยชน์ ความต้องการผลประโยชน์นี้เป็นเหตุใหญ่ที่ทำให้มนุษย์แย่งชิงรบราฆ่าฟันกัน แทบจะเป็นสาเหตุตัวแรก ยิ่งสังคมปัจจุบันนี้ ระบบของสังคมจะเป็นตัวผลักดันให้คนมีสภาพจิตอย่างนี้มาก คือระบบแข่งขัน ระบบผลประโยชน์ ระบบทุนนิยม ระบบวัตถุนิยม ระบบที่มุ่งการบริโภค เดี๋ยวนี้ศัพท์เหล่านี้เกร่อไปหมด
เป็นที่รู้กันว่าโลกที่ผ่านมานี้อยู่ในอำนาจครอบงำของลัทธิวัตถุนิยม ลัทธินี้เจริญมาครอบงำอารยธรรม โลกปัจจุบันนี่เป็นสายวัตถุนิยมหมด และวัตถุนิยมมาถึงปัจจุบันนี้ก็อยู่ในระยะที่เรียกว่าบริโภคนิยม คือนิยมบริโภค หมายความว่าถือเรื่องการบริโภคเป็นหลักใหญ่ เป็นวิถีชีวิตของสังคม วิถีชีวิตก็เป็นวัฒนธรรม บางทีจึงเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมบริโภค และคนทั่วไปก็จะยึดถือว่าการบริโภคเป็นแหล่งที่มาของความสุข บุคคลจะมีความสุขด้วยการบริโภคหรือการเสพวัตถุแทบจะเป็นอย่างเดียว เขามองเห็นแค่นั้น
เมื่อมีลัทธิความเชื่อความคิดเห็นอันนี้ก็แน่นอนละว่า คนเราจะต้องมุ่งหาผลประโยชน์ หาวัตถุมาเสพให้มากที่สุด ทำให้ต้องแก่งแย่งช่วงชิงกัน เพราะแต่ละคนก็ต้องได้ต้องเอา จึงต้องเกิดการรบราฆ่าฟันเบียดเบียนกัน อันนี้เป็นเหตุที่หนึ่ง
ตัวที่ ๒ เรียกว่า มานะ แปลว่าความต้องการยิ่งใหญ่ ภาษาพระท่านแปลว่าความต้องการเป็นดุจธง หมายความว่า ต้องการเด่น ต้องการใหญ่ ต้องการเหนือผู้อื่น โดยเฉพาะก็คือต้องการอำนาจ ความต้องการอำนาจนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คนเราต้องการยิ่งใหญ่
เวลาเด็กจะเรียนหนังสือ เรามักจะสอนเด็ก ๒ อย่าง คือ หนึ่งให้เล่าเรียนเพื่อจะได้มีรายได้ดีหาเงินหาทองให้มากๆ สองเพื่อจะได้มียศมีตำแหน่งใหญ่ๆ เป็นผู้ยิ่งใหญ่คือมีอำนาจมากๆ อันนี้มักจะถูกจัดเป็นจุดหมายของชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งที่จริงก็เป็นมาแต่ในอดีตแล้ว เพราะว่าโลกเรานี้ไม่เคยสงบจริง มันไม่มีสันติภาพมาโดยตลอด เนื่องจากตัวคุกคามคือตัวเหตุปัจจัยที่จะทำลายสันติภาพนั้นมีมาเรื่อย ตั้งแต่สมัยโบราณ ประเทศต่างๆ ก็รบราฆ่าฟันกันด้วยเหตุเหล่านี้ บางทีกษัตริย์ในสมัยโบราณใฝ่ฝันที่จะให้ตัวเองยิ่งใหญ่ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้เดียวในชมพูทวีป หรือเป็นจักรพรรดิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อได้ชื่อแค่นี้แหละก็สามารถจะยกทัพไปปราบปราม ไปรบราฆ่าฟันให้คนตายเป็นหมื่นเป็นแสนก็ได้ กษัตริย์ในอดีตจำนวนมากปรารถนาอันนี้ คือต้องการได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เพื่อให้สมปรารถนาอย่างนั้นก็ทำได้ทุกอย่าง
ต่อไปข้อสุดท้าย ทิฐิ คือความเชื่อ ความเห็น ความยึดถือในแนวความคิด ลัทธินิยม อุดมการณ์ ศาสนา ทั้งหมดนี้อยู่ในคำว่าทิฐิหมด กว้างมาก ซึ่งทำให้ถือว่าของฉันเท่านั้นจริง ของคนอื่นเท็จทั้งสิ้น และของฉันเท่านั้นประเสริฐเลิศ ของคนอื่นเลวทั้งนั้น พวกฉันเท่านั้นจะต้องอยู่ในโลก พวกอื่นต้องพินาศไปหมด เมื่อมีความเชื่อความยึดถืออย่างนี้ก็ทำได้ทุกอย่าง สงครามทิฐินี้ร้ายแรงอย่างยิ่ง ดังที่ได้เกิดสงครามล้างเผ่า ล้างชาติพันธุ์มนุษย์
ยกตัวอย่างเช่น ในเยอรมัน ฮิตเล่อร์ถือว่า ชาติพันธุ์อารยันนั้นเป็นเลิศ เป็นชาติพันธุ์ที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นชาติพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นชาติพันธุ์ที่ชนะในโลก จะต้องกำจัดชาติพันธุ์เผ่าพันธุ์อื่นได้หมด เมื่อยึดถือเชื่อปักใจอย่างนี้ ก็ทำสงครามรบฆ่าคนเท่าไรก็ได้
ระยะที่แล้วมาโลกแบ่งเป็น ๒ ค่าย คือ อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แล้วก็แข่งอำนาจกันกลายเป็นสงครามเย็นแทบแย่ เวลานี้ค่ายใหญ่ล้มไปค่ายหนึ่ง เหลือค่ายเดียว แต่สงครามศาสนา ลัทธิ เชื้อชาติ ผิวพรรณต่างๆ ก็รบกันไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสงครามทิฐิทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสงครามทิฐิจึงร้ายแรงเป็นอย่างยิ่ง
สงครามในโลกมาจาก ๓ ตัว นี่แหละ คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ ขอให้ทุกท่านลองสำรวจดู ภาพที่ปรากฏง่ายๆ ก็คือ การแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจ อันนี้แหละเป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์ล้างผลาญกันในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับระหว่างชาติมาจนกระทั่งถึงระหว่างบุคคล
รวมความว่า ตัณหา มานะ ทิฐิ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มนุษย์ออกไปแสดงบทบาทต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ลิดรอนสันติภาพหรือทำลายสันติภาพ แต่กิเลส ๓ ตัวนี่เกิดขึ้นที่ไหน ก็ก่อตัวขึ้นในจิตใจของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ในที่สุดก็จะต้องมาแก้ปัญหาที่จิตใจของคน การแก้ปัญหาที่จิตใจของคนจะทำได้ก็ด้วยการพัฒนามนุษย์ คือทำให้มนุษย์เป็นคนที่ดีขึ้นนั่นเอง
ดีขึ้นนั้นก็มีความหมายหลายอย่าง ดีขึ้นในด้านพฤติกรรม คือความประพฤติทั่วไป ดีขึ้นในด้านจิตใจ คือจิตใจดีงามมีคุณธรรมขึ้น จิตใจเข้มแข็งมั่นคงมากขึ้น จิตใจเป็นสุขในตัวมากขึ้น เรื่องนี้ก็สำคัญ เพราะมนุษย์ไม่สามารถมีความสุขในตัวเองจึงดิ้นรนออกไปวุ่นวายข้างนอก แต่พอมีความสุขมันก็สงบได้ แล้วก็ดีขึ้นในด้านปัญญา คือทำให้มนุษย์มีปัญญามากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจ รู้จักเหตุรู้จักผล รู้จักดีรู้จักชั่ว รู้จักคุณโทษ ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ดีขึ้น ตลอดจนเข้าใจธรรมชาติ มองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ชีวิตของเราก็ดี สิ่งทั้งหลายก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้สภาวะเข้าถึงความจริงจนกระทั่งมองเห็นความเหลวไหลไร้คุณค่าของการที่จะเที่ยววุ่นวายแย่งชิงผลประโยชน์ และแสวงหาอำนาจในสังคม
การพัฒนามนุษย์นี้สำคัญที่สุด เมื่อพัฒนามนุษย์ขึ้นไปก็จะค่อยๆ ทำให้คนนั้นห่างออกไปจากการที่จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของตัณหา มานะ ทิฐิ คือถูกตัณหา มานะ ทิฐิ ครอบงำน้อยลง เมื่อครอบงำน้อยลงก็เป็นอิสระแก่ตัวมากขึ้น สามารถทำสิ่งที่ดีงามได้มากขึ้น การที่จะสร้างสันติก็มีทางเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนาคน เพื่อให้มีตัณหา มานะ ทิฐิ น้อยลง หรือตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของกิเลสเหล่านี้น้อยลง การพัฒนามนุษย์นั้นก็คือการศึกษา ซึ่งได้แก่สิกขานั่นเอง