ถ้าพัฒนาต่อไปอีก พระพุทธศาสนายังมีวิธีที่จะให้มนุษย์มีความสุขเพิ่มขึ้นอีก พระโสดาบันเป็นตัวอย่างเชื่อมระหว่างโลกิยะกับโลกุตตระ พระโสดาบันมีความสุขมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์ที่คนปุถุชนเขามีกัน ถ้าเปรียบก็เหมือนภูเขาหิมาลัย แต่พระโสดาบันนั้นเหลือทุกข์เท่าเม็ดกรวด ลองคิดดูซิว่าพระโสดาบันจะมีความสุขขนาดไหน เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้พัฒนาชีวิตของคนแล้ว ความสุขก็จะเกิดมากขึ้นๆ ตามไปด้วย ที่พูดว่าพุทธศาสนาพัฒนาคนนั้น หมายถึงพัฒนาทุกอย่างที่มีอยู่ในตัวคน แม้แต่ความสุข คนที่พัฒนาแล้วจึงมีช่องทางที่จะมีความสุขมากขึ้น จนกระทั่งว่าความสุขนั้นในที่สุดไม่ต้องหา เมื่อคนไม่ต้องหาความสุข ก็ไม่มีใครมาทำลายสันติ
สำหรับมนุษย์ปุถุชนที่ต้องพึ่งการเสพวัตถุนั้น ความสุขขึ้นอยู่กับวัตถุข้างนอก จึงเป็นความสุขที่ต้องแสวงหา เมื่อแสวงหาความสุขก็แสดงว่ายังขาดความสุข การแสวงหาความสุขเป็นเครื่องหมายบอกอยู่ในตัวว่าเราขาดความสุข มนุษย์ปุถุชนจึงแสวงหาความสุขกันตลอดเวลาเพราะยังขาดความสุข แต่เมื่อเราพัฒนาความสุขขึ้น ชีวิตก็เริ่มมีความสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นกับวัตถุมากนัก ความสุขเริ่มมีอยู่ข้างในของเรา ความสุขที่มีอยู่ข้างในของเราทำให้เราเริ่มมีความสุขเป็นของตัวเอง พอมีความสุขเป็นของตัวเองได้แล้วคราวนี้ก็ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหา แต่ตอนนี้ความสุขก็ยังต้องขึ้นกับสิ่งโน้นสิ่งนี้อยู่ เช่นอย่างพ่อแม่นี่ยังต้องขึ้นกับลูก แต่มันไม่ขึ้นกับวัตถุโดยตรง
ต่อมาพัฒนาขึ้นไปอีก ก็มีความสุขภายในที่ปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นได้เอง เป็นการพัฒนามาถึงขั้นที่เอาความสามารถในการปรุงแต่งของตนมาใช้ปรุงแต่งความสุข
มนุษย์มีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งคือสามารถในการปรุงแต่ง เก่งในการประดิษฐ์สร้างสรรค์ การประดิษฐ์สร้างสรรค์นั้นเริ่มจากจิตใจโดยมีความคิด ที่เห็นง่ายๆ คือ มนุษย์ปรุงแต่งวัตถุ โดยใช้ความคิดสร้างขึ้นมาก่อน แล้วก็ทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา เช่นเป็นเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนในด้านภายในมนุษย์ก็มีความสามารถที่จะปรุงแต่งสุขทุกข์ แต่มนุษย์ปุถุชนมักจะใช้ความสามารถนี้ในทางที่ผิด คือปรุงแต่งทุกข์ ปรุงแต่งความเครียด ปรุงแต่งความกังวล ปรุงแต่งความกลุ้มใจ ปรุงแต่งความขุ่นมัวเศร้าหมอง สัตว์เดรัจฉานไม่มีความทุกข์เหล่านี้เพราะเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ มนุษย์จำนวนมากปรุงแต่งความทุกข์ให้กับตัวเองจนกระทั่งเหลือหลายกลายเป็นโรคจิต สัตว์ปรุงแต่งไม่เป็น เพราะฉะนั้นสัตว์จึงไม่เป็นโรคจิตเพราะปรุงแต่งความคิดไม่เป็น มนุษย์นี่เก่งมาก แต่ใช้ความสามารถนั้นในการปรุงแต่งความทุกข์
พระพุทธศาสนาท่านจับจุดนี้ได้ท่านจึงสอนว่า เธออย่ามัวปรุงแต่งทุกข์ เธอมีความสามารถในการปรุงแต่ง จงใช้ความสามารถนั้นในการปรุงแต่งความสุข เราก็เอาอารมณ์ที่ได้รับเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นแหละมาใช้ แต่แทนที่จะปรุงแต่งทุกข์ก็มาปรุงแต่งสุข เพราะฉะนั้น คนที่ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องจึงมีจิตใจเป็นสุข เพราะปรุงแต่งสุขเองได้ ต่อจากนี้ไปถึงขั้นสุดท้าย ก็คือสุขโดยไม่ต้องปรุงแต่ง
สุขมีหลายขั้น เพียงแค่สุขขั้นปรุงแต่งก็เก่งแล้วเพราะเป็นสุขได้ในตัวของตัวเอง แต่ยังมีสุขขั้นพ้นปรุงแต่งคือสุขได้โดยไม่ต้องปรุงแต่งอีก ได้แก่ความสุขที่เกิดจากปัญญารู้เข้าใจสัจธรรม เข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย จนวางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งปวง ซึ่งวันนี้ไม่ต้องอธิบาย เพราะได้บอกไว้แล้วว่าพูดให้สั้น แต่ตอนนี้ชักจะยาวไปเยอะ เดี๋ยวจะเกินไป เอาเป็นว่าเราต้องมีความสามารถที่จะมีความสุขจนกระทั่งถึงสุขขั้นพ้นปรุงแต่ง