การศึกษาเพื่อสันติภาพ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถึงแม้ไม่มีสงคราม ก็ยังไม่มีสันติภาพ

ทีนี้หวนกลับมาพูดถึงเรื่องสันติภาพและการศึกษาเพื่อสันติภาพกันอีกครั้งหนึ่ง ขอย้อนไปพูดอย่างที่เริ่มต้นไว้ คนทั่วไปในโลก โดยเฉพาะเมืองฝรั่ง เวลาเขาพูดถึงคำว่า “สันติภาพ” เขามองไปที่สภาพที่คนไม่รบกัน คือไม่มีสงคราม เมื่อคนไม่รบราฆ่าฟันกันเขานึกว่ามีสันติภาพแล้ว

ถ้าความหมายของคำว่าสันติภาพอยู่ที่ความไม่มีการรบราฆ่าฟัน หรือไม่มีสงคราม ประเทศไทยเราตอนนี้ก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับปัญหานี้ คือประเทศไทยเรานี้นับว่ามีสันติภาพอยู่แล้ว เราเป็นประเทศที่มีสันติภาพ เพราะฉะนั้นเราแทบจะไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายในเรื่องนี้เลย ที่เขาวุ่นวายเรียกร้องสันติภาพให้แก่โลกกันโกลาหลนั้นเป็นประเทศอื่น เวลานี้เราดีที่สุด ข่าวคราวต่างๆ ที่ว่ารบราทำสงครามกัน วุ่นวายที่นั่นที่นี่ ขัดแย้งกันเรื่องราวใหญ่โตนั่นน่ะ เป็นเรื่องของประเทศอื่นๆ ทั้งนั้น ประเทศไทยเรานี้น่าจะได้รับรางวัลสันติภาพทุกคน เพราะไม่เห็นมีเลยสงครามรบราฆ่าฟันกัน เพราะฉะนั้นประเทศไทยเรา ถ้าว่าในแง่นี้ก็ดีอยู่แล้ว เรามีสันติภาพอยู่แล้ว

นี่แหละที่ว่าเขามองความหมายของสันติภาพเพียงอย่างเดียว คือมักจะมองว่าสันติภาพหมายถึงภาวะไร้สงคราม ไม่มีการขัดแย้ง ไม่รบราฆ่าฟันเบียดเบียนทำร้ายกันที่รุนแรง แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งลงไป สันติภาพไม่ใช่แค่นั้น ภาวะขาดสันติภาพนั้นเราจะเห็นว่ามีอยู่ในที่อื่นด้วย แม้แต่ยังไม่ได้รบราฆ่าฟันกัน มันก็มีความขาดแคลนสันติภาพในรูปอื่นๆ

สังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขันกัน ต่างคนต่างมุ่งหาผลประโยชน์ เอารัดเอาเปรียบข่มเหงกัน แม้ไม่ปรากฏเป็นการรบราฆ่าฟันกัน ไม่เป็นสงคราม ก็จัดว่าเป็นสันติภาพไม่ได้ เพราะไม่มีความสงบที่แท้จริง เมื่อไม่มีความสงบก็ไม่มีความสุขที่แท้จริง

ภาวะของการแก่งแย่งแข่งขันคอยที่จะเอาชนะกันนั้น ขอให้ลองดูโลกในระยะที่ผ่านไปแล้ว เขาแบ่งออกเป็นสองค่าย คือค่ายเสรีนิยม หรือเสรีประชาธิปไตย กับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นมีการแข่งอำนาจกัน สองฝ่ายต้องคอยระวังตัวและระแวงซึ่งกันและกัน อีกฝ่ายหนึ่งจะมีอะไรดีกว่าเหนือกว่าก็ต้องคอยจับตาดู ไม่มีความสงบสุข แต่ทั้งสองค่ายนั้นเขาไม่ได้ทำสงครามกัน เขาอยู่กันมาโดยพยายามแข่งขันเอาชนะกัน คอยแก่งแย่งผลประโยชน์กัน แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำสงครามให้ปรากฏ แต่เราก็มีศัพท์เรียกว่าเขาอยู่ในสงครามด้วยเหมือนกัน คือตลอดระยะที่ผ่านมานั้นเขาเรียกว่าสงครามเย็น ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Cold War แสดงว่ามีสงครามเหมือนกัน ไม่ได้มีสันติภาพ

ทีนี้เราดูแคบเข้ามาในสังคมต่างๆ ที่ผู้คนมีการแก่งแย่งแข่งขันคอยเอารัดเอาเปรียบกัน แม้ไม่ได้รบราฆ่าฟันทำร้ายเอาชีวิตกัน ก็เหมือนกับโลกสมัยที่อยู่ในสงครามเย็นเหมือนกัน สังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขันก็คือสงครามที่เต็มไปด้วยสงครามเย็นนั่นเอง หมายความว่า มนุษย์ที่อยู่ระบบสังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขัน หาผลประโยชน์ พยายามเอาชนะกันในการหาช่องทางที่จะเหนือกว่ากันในเรื่องผลประโยชน์ ก็เหมือนกับโลกในสมัยสงครามเย็นนั่นเอง เพราะฉะนั้นสังคมแบบนี้ก็คือสังคมที่อยู่ในภาวะสงครามเย็น ไม่ได้มีสันติภาพอะไร และมันพร้อมที่จะระเบิดเป็นสงครามร้อนเมื่อไรก็ได้ จึงต้องถือว่าไม่มีสันติภาพด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นประเทศที่เราเห็นเหมือนกับว่าสงบไม่มีสงครามมีสันติภาพนั้น ที่จริงไม่ใช่มีสันติภาพ แต่มีสงครามที่เป็นประเภทสงครามเย็น

ที่นี้หันไปดูอีกบางประเทศ ที่เพิ่งเริ่มมีระบบแก่งแย่งแข่งขันเข้าไป การแข่งขันยังน้อยอยู่แต่ต่อไปอาจจะมากก็ได้ แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่ม ทีนี้ในสังคมแบบนั้นก็ยังต้องสงสัยเหมือนกันว่ามีสันติภาพหรือไม่ ยกตัวอย่างเมืองไทยเรานี่เองเป็นสังคมที่บอกเมื่อกี้ว่ามีความสงบสุขพอสมควร เรายังมีน้ำใจเกื้อกูลกันช่วยเหลือกันอยู่ ในสังคมแบบนี้แม้จะไม่มีสงครามเย็น ไม่มีสงครามร้อน แต่ถ้ามีความไม่เรียบร้อย ความเสื่อมโทรม มีปัญหาต่างๆ ที่ทำให้สังคมมีความผุกร่อน มันก็ไม่เรียบร้อย ไม่สงบเหมือนกัน เพราะมีปัญหาต่างๆ มากมาย อย่างสังคมไทยเราเวลานี้เสียชื่อเยอะ ญาติโยมก็ทราบกันดีว่าปัญหาโรคเอดส์ก็ค่อนข้างเด่น เรื่องยาเสพติดก็ค่อนข้างรุนแรง ปัญหาโสเภณีก็หนัก ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมเสียหายก็ไปไกล ปัญหาบางอย่างก็นำอาจจะที่หนึ่งในโลก ปัญหาเหล่านี้ก็ทำให้สังคมไม่มีความสงบเรียบร้อยที่แท้จริง และพร้อมที่จะระเบิดเป็นปัญหารุนแรงเมื่อไรก็ได้ สังคมอย่างนี้ก็ไม่ถือว่ามีสันติภาพที่แท้จริง

สังคมที่อยู่ในสภาพอย่างนี้มักมีภาวะอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท สังคมที่ค่อนข้างสงบสุข อยู่กันสบาย มักจะตกอยู่ในภาวะนี้คือมีความประมาท ซึ่งทำให้ละเลยไม่มองดูเหตุปัจจัยในสังคมของตัวว่ามีอะไรที่เป็นไปอยู่ที่เป็นความบกพร่องเป็นความเสียหาย อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อม ความย่อยยับแก่สังคมต่อไป อะไรที่ควรจะทำเพื่อแก้ไขดำรงสังคมตัวเองให้มีความสงบสุขอย่างแท้จริงในระยะยาวหรืออย่างถาวร ก็ไม่คิดไม่พิจารณา ปล่อยตัวไปเรื่อยๆ หมกมุ่นมัวเมาแสวงหาความสุข ในที่สุด แต่ละคนก็มุ่งแต่จะหาผลประโยชน์ส่วนตัว สังคมแบบนี้ก็ไม่ใช่สังคมที่มีสันติภาพ เพราะมีความไม่เรียบร้อยและความกดดันที่จะทำให้สังคมระส่ำระสายเสื่อมโทรมและประชาชนไม่อาจจะอยู่กันด้วยดีต่อไป

เพราะฉะนั้นโลกปัจจุบันนี้เรามองภาวะที่ขาดสันติภาพได้หลายแบบ อย่าไปมองเพียงว่าไม่มีสงครามแล้วก็มีสันติภาพ ซึ่งเป็นความหมายที่หยาบเหลือเกิน เมื่อภาวะขาดสันติภาพเป็นไปอย่างรุนแรงจนถึงที่สุดแล้วมันถึงได้แสดงออกอย่างนั้น ถ้าเราคอยระวังแค่ว่าให้มีสันติภาพแบบไม่มีสงคราม ก็เรียกว่าเราอยู่ในความประมาท เราจะไม่สามารถรักษาโลกและสังคมนี้ไว้ให้อยู่อย่างสันติสุขหรือมีสันติภาพที่แท้จริงได้ เพราะว่าไม่นานหรอก ตัวเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมโทรมระส่ำระสายเหล่านี้จะต้องปะทุขึ้นอย่างรุนแรงแล้วก็จะเกิดเรื่องเกิดราวอีก

ภาวะที่เป็นเรื่องของความไร้สันติภาพ มีสงคราม มีการรบราฆ่าฟันนั้น ผลของมันคืออะไร ก็คือความระส่ำระสาย ความไม่เรียบร้อยของสังคม แม้สังคมไม่มีสงครามอย่างนั้น ไม่ได้รบราฆ่าฟัน สังคมก็อาจจะไม่เรียบร้อยก็ได้ อาจจะระส่ำระสายก็ได้ เราจะต้องตรวจสอบสังคมของเราว่ามีความระส่ำระสายไหม มีความไม่เรียบร้อยไหม ถ้าเป็นอย่างนั้น มันก็คือการประสบภาวะอย่างเดียวกับการมีสงครามชนิดหนึ่งนั่นเอง ไม่ได้ดีไปเลย เพราะฉะนั้นอย่าได้ประมาท และด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนนักในเรื่องความไม่ประมาท

ทีนี้เราต้องมาตรวจดูว่าสันติ ความสุข ความสงบที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงไหน สังคมของเราบรรลุหรือยัง อย่าเอาแค่ว่าไม่มีสงครามแล้วก็ใช้ได้อย่างที่ว่า เท่าที่พูดมาจะเห็นว่าภาวะที่ขาดสันติภาพในสังคมนี้มีได้หลายรูปแบบ รูปที่เห็นชัดๆ ที่ชาวโลกเขายอมรับกันก็คือ เรื่องสงคราม เขามองเห็นแค่นั้น มองเห็นแค่ว่ามีการสงครามรบราฆ่าฟัน แต่ที่จริงสังคมที่ไม่มีสงคราม ก็คือไม่มีสงครามร้อน แต่อาจจะมีสงครามเย็นก็ได้ คือสังคมที่คนไม่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการแก่งแย่งแข่งขัน มุ่งหาผลประโยชน์ แย่งชิงกันอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่มีสันติภาพ และสังคมที่มีความระส่ำระสายเนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมต่างๆ ก็เป็นสังคมที่ไม่มีสันติภาพเช่นเดียวกัน ถ้าทำความเข้าใจกันอย่างนี้ เราก็ต้องให้ความหมายของสันติภาพให้กว้าง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง