เป็นอันว่า เมตตา กรุณา ถึงแม้จะดี แต่ถ้าปฏิบัติผิด ก็เกิดโทษ นอกจากนั้นฝรั่งยังเอาไปติเตียนอีกด้วย เช่นในหนังสือของอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ (Albert Schweitzer) ซึ่งเป็นนักปราชญ์สำคัญคนหนึ่งของตะวันตก มีชื่ออยู่ในสารานุกรม (encyclopaedia) ใหญ่ๆ แทบทุกชุด ท่านผู้นี้เป็นหมอสอนศาสนา และมีอิทธิพลมาก คราวหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ขึ้น ก็มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ซึ่งส่งอาจารย์ทางโน้นมาช่วย
ศาสตราจารย์คนหนึ่งชื่อโรเบิร์ต แอล ซัตตัน (Robert L. Sutton) ได้มาสอนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และได้แต่งหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งดูเหมือนจะชื่อว่า Public Administration in Thailand แปลว่า รัฐประศาสนศาสตร์ในประเทศไทย เขาวิเคราะห์ประเทศไทยและสังคมไทยแล้วก็บอกว่า ปัจจัยที่ขัดขวางการพัฒนาของสังคมไทยคือ หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ สอง พุทธศาสนา แล้วเขาก็แจกแจงวิเคราะห์ว่าพุทธศาสนาเป็นเหตุปัจจัยให้สังคมไทยไม่พัฒนาอย่างไร ตอนนั้น ชาวพุทธเราส่วนหนึ่งก็ลุกขึ้นมาด่าซัตตันเป็นการใหญ่ (ต่อมาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ได้โอนไปรวมกับส่วนงานการศึกษาอื่นๆ ตั้งขึ้นเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คือ NIDA ในปัจจุบัน)
ในข้อความที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น ตอนหนึ่ง โรเบิร์ต แอล ซัตตัน ได้อ้างอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ที่เขียนไว้ว่า พุทธศาสนาสอนให้คนทำความดี แต่การทำความดีของพุทธศาสนาคืออย่างไร? คือเว้นจากความชั่ว เช่น เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ แค่นี้คือทำความดี พุทธศาสนาสอนให้ทำความดี ก็แค่เว้นจากความชั่ว เว้นความชั่วก็คือทำดีแล้ว และในทำนองเดียวกัน พุทธศาสนาสอนให้คนช่วยเหลือกันโดยแผ่เมตตา คือตั้งความปรารถนาดีให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข สรุปว่า พุทธศาสนาสอนความดีแบบ passive ไม่ active คือ สอนความดีแบบอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เจริญเมตตา ก็แค่ตั้งใจดีนอนแผ่อยู่ในมุ้ง แค่นี้ก็ทำดีแล้ว เลยไม่ช่วยให้คนออกไปดำเนินการสร้างสรรค์ในสังคม โรเบิร์ต แอล ซัตตัน ก็โจมตีพุทธศาสนาตามอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ เข้าไป แล้วหนังสือพวกนี้มีอิทธิพล นักวิชาการไทยเราเชื่อไม่น้อย นี่ผมเอามาเล่าเป็นตัวอย่างเท่านั้น
เรื่องกรรม เรื่องอุเบกขา เรื่องเมตตา และอะไรๆ หลายเรื่อง โดนฝรั่งตี แล้วนักวิชาการไทยก็ตี แม้แต่ดอกเตอร์คนหนึ่งที่เป็นลูกหรือลูกสะใภ้หรือหลานคนหนึ่งของท่านผู้ใหญ่อดีตคนวัดที่มีชื่อเสียงมาก ก็ยังเขียนติเตียนไว้ว่า เพราะคนภาคอีสานถือหลักอนิจจังตามคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงทำให้มีชีวิตแบบอยู่ไปวันๆ แล้วก็เลยไม่เจริญ ไม่สามารถพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าได้ นี่ขนาดคนที่อยู่ในเชื้อสายยังว่าอย่างนี้ ฉะนั้น เราจะต้องไม่ประมาทให้หนักทีเดียว เพราะคนของเรา แม้แต่พระเอง ถ้าเข้าใจธรรมไม่รอบคอบแล้ว อาจจะเป็นปัญหาได้อย่างหนัก ในวงวิชาการนั้น เรายังไม่ได้ไปสัมผัสอีกมาก คนที่เข้าใจกันได้ดีกับเราก็เยอะ แต่คนที่ยังไม่เข้าใจก็มากอยู่ จะต้องตื่นตัวรู้เท่าทัน โดยเฉพาะตัวเราเองจะต้องเข้าใจธรรมให้ชัดเจน ชนิดโยงกันได้ทั้งระบบ
เมื่อวานนี้ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่ง พูดในการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาสัก ๒ วันแล้ว เขาเอาเทปมาออกวิทยุ ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงมาก เคยเป็นรัฐมนตรี ได้ต่อว่าคุณหมอประเวศ วะสี และอาจารย์เสน่ห์ จามริก ที่มีความคิดเห็นเชิงว่า การพัฒนาชนบท อย่าไปเน้นการพัฒนาวัตถุมากเกินไป ให้เห็นความสำคัญของจิตใจ ตลอดจนให้พัฒนาสังคมในแนวคิดที่เรียกว่า เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อะไรทำนองนี้ ผมจำความทั้งหมดไม่ได้ ต่อมาท่านผู้ใหญ่ทางเศรษฐกิจท่านนี้ ขึ้นมาพูดว่า แนวคิดของคุณหมอประเวศ วะสี และอาจารย์เสน่ห์ จามริก นี่ เหมือนพระเทศน์ เชย! ใช้ไม่ได้ นี่ก็แสดงว่าเขามองว่า หนึ่ง...พระนี่ ความคิดใช้ไม่ได้ เชย สอง...ใครคิดอย่างพระ ก็เชย ใช้ไม่ได้ นี่คือนักเศรษฐกิจของสังคมไทย ยังมีปัญหามากสำหรับคนไทยเรา ต้องแก้กันอีกมาก
ผมมองว่า นักเศรษฐกิจแบบนี้ ตามไม่ทันความคิดตะวันตกด้วย ความคิดของเขาเป็นความคิดตะวันตกที่ล้าสมัย ตามลัทธิเศรษฐกิจของฝรั่งที่กำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว
ต่อจากนั้นมีนักการเมืองอีกคนหนึ่งเป็น ส.ส. ขึ้นมาพูดว่า เขาเห็นด้วยกับท่านอดีตรัฐมนตรีผู้นั้น เห็นมาด้วยตั้ง ๒๐ กว่าปีแล้ว เลยย้ำหนักเข้าไปอีก เราก็เลยมองว่า เอ้อ! นักการเมืองของเราได้แค่นี้หรือ ถ้าอย่างนี้เราจะพัฒนาประเทศกันอย่างไร ความคิดของคนในระดับผู้นำของสังคมไทย ที่เป็นนักการเมือง และนักเศรษฐกิจ ยังอยู่แค่นี้ เขาไม่รู้ว่าแนวคิดตะวันตกเวลานี้มาถึงจุดติดตันอย่างไร เราจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาของโลกอย่างไร ความคิดในระยะสั้น และระยะยาวเป็นอย่างไร เขามองไม่เห็น นี่แหละเป็นเรื่องที่เราจะต้องมีความรู้ตระหนักเท่าทัน
เป็นอันว่า ธรรมนั้นจะต้องปฏิบัติให้ครบชุดองค์รวมอย่างที่ว่าแล้ว เพราะมันมีความประสานสัมพันธ์กันและเติมเต็มแก่กัน ถ้าขาดชุดแล้ว ชีวิตและสังคมมนุษย์ก็จะเอียง เสียหลัก เสียดุล เกิดผลเสีย ธรรมที่เป็นกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้อย่างไร ธรรมที่เป็นอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้อย่างไร จะใช้อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล เช่น ใช้ตัณหาเป็นปัจจัยแก่ฉันทะได้อย่างไร ดังนี้เป็นต้น จะต้องวิเคราะห์กันให้ชัด จะได้ไม่พลาด เป็นการช่วยสังคมของเรา และแก้ความเห็นผิด โดยเฉพาะของคนที่เป็นผู้นำทางปัญญา
ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาถึงระดับนี้ เราก็จะแก้ปัญหาของสังคมไม่ได้สมบูรณ์ เพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้นำอยู่ ถ้าผู้นำหลงผิด ก็จะพาสังคมไปในทางที่ผิดพลาด
เวลานี้สังคมไทยก็ยังตามสังคมฝรั่งอยู่แบบตื่นเต้น ไม่ค่อยรู้เท่าทัน เช่นตื่น Alvin Toffler และ Michael Hammer มากเกินไป เราเพียงแต่รู้ทันและเอามาใช้ประโยชน์ให้ถูกที่ก็พอแล้ว และเราน่าจะมีอะไรให้แก่เขาบ้าง ไม่ใช่จะต้องไปตื่นเต้นอยู่เรื่อยกับการที่เขามีอะไรต่ออะไรมาแปลกๆ ใหม่ๆ ภายในวังวนแห่งเก่า