พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เลิกเอียงสุดข้างนอก ระวังจะมาเอียงสุดข้างใน

ยิ่งกว่านั้น ในด้านภูมิปัญญาที่ว่าเป็นมาตรฐานวัดความจริง ก็ชักไม่เป็นจริงอีกแล้ว แนวความคิดแยกส่วน (reductionism) ก็มาจากวิทยาศาสตร์ การถือความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (specialization) ทางวิชาการ ก็มาจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ แนวความคิดแบบนี้ ไม่ทำให้แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ไปๆ มาๆ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำก็บอกว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงได้ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในยุคควอนตัม (quantum) หรือยุคทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ (Einstein's theories of relativity) ได้พัฒนาความคิดกันมาถึงยุคนี้ที่เรียกว่า new physics

พวกนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักฟิสิกส์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำในวงการวิทยาศาสตร์ บอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงได้ จะเข้าถึงได้ก็เพียงเงาของความจริงเท่านั้น ในที่สุดวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า การหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าเป็นการหาความจริงแบบปรวิสัย (objective) ไม่ขึ้นต่อสภาพจิตของมนุษย์ ไม่ขึ้นต่อการแปลความตีความหมายของคนนั้น ที่แท้ก็ไม่จริง เพราะการที่จะมองสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นความรู้ขึ้นนั้น สิ่งที่ถูกรู้นั้นถูกมนุษย์ตีความหมายโดยไม่รู้ตัว เพราะมันผ่านกระบวนการของจิตใจมนุษย์ทั้งนั้น เลยกลายเป็นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เป็นปรวิสัย (objective) จริง ไม่พ้นจากความเป็นอัตวิสัย (subjective) วิทยาศาสตร์ที่ภูมิใจกันมาตั้งเป็นร้อยๆ ปีว่าเป็นปรวิสัย (objective) มาถูกนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังๆ บอกว่าไม่ใช่ ทำให้มองเห็นต่อไปอีกว่ามนุษย์จะเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่เข้าใจเรื่องจิตด้วย ตอนนี้จึงมาถึงยุคที่นักวิทยาศาสตร์ก็เกิดการแตกแยกกันหรือสับสน บางพวกก็มาถึงจุดที่หันมาศึกษาเรื่องจิตใจ

มองดูแง่หนึ่งก็เป็นการสวนทางกันและน่าขำ ในยุคที่ผ่านมาพวกนักจิตวิทยาได้พยายามไปเป็นวิทยาศาสตร์ ถึงขนาดที่ยุคหนึ่งบอกว่า จิตใจนี่ไม่รู้จะดูได้อย่างไร มองไม่รู้ ก็เลยเอาจิตวิทยาเป็นศาสตร์แห่งพฤติกรรมไปเลย จิตวิทยาตามตัวอักษร แปลว่าวิชาว่าด้วยจิตใจ แต่ไปๆ มาๆ เรื่องจิตทำไมกลายเป็นเรื่องพฤติกรรมไป นี่คือจิตวิทยาสมัยใหม่ แต่ตอนนี้ที่น่าแปลกก็คือ นักวิทยาศาสตร์ใหม่ฝ่ายฟิสิกส์ที่เป็นฝ่ายรูปธรรมเอง กลับมาสนใจศึกษาเรื่องจิต ขณะที่นักจิตวิทยาหันไปศึกษาเรื่องรูปธรรม

ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ถามกันว่า จิต (consciousness) คืออะไร จิตใจ (mind) คืออะไร คอมพิวเตอร์ (computer) มีจิตใจ (mind) ได้หรือไม่ มีการพิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่มๆ เพียงเพื่อหาคำตอบว่า คอมพิวเตอร์นี้ ต่อไปจะพัฒนาให้มีจิตได้หรือเปล่า เพราะตอนนี้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่พัฒนาก้าวหน้าไปมากถึงกับมี artificial intelligence ที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ สามารถคิดเหตุผลเอง จนกระทั่งต่อไปอาจจะเป็นคู่แข่งกับมนุษย์ก็ได้ แต่มันจะมีจิตได้หรือเปล่า นักวิทยาศาสตร์บางคนหันมาศึกษาเรื่องนี้และพยายามทำวิจัย บางทีก็เขียนหนังสือเป็นเล่มโตๆ เพื่อตอบเรื่องนี้ แล้วก็มีหนังสือที่หาคำตอบเรื่องจิตใจ (consciousness หรือ mind) ซึ่งขณะนี้กลายเป็นปัญหาของวิทยาศาสตร์ เพราะเขามองว่า วิทยาศาสตร์จะเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติไม่ได้ ถ้าไม่ศึกษาเรื่องจิตใจ เพราะในที่สุดแล้ว จิตใจเป็นผู้ที่ศึกษาวัตถุหรือรูปธรรม ถ้าไม่รู้ตัวผู้ศึกษาแล้วจะไปเข้าใจสิ่งที่ถูกศึกษาได้อย่างไร

ไปๆ มาๆ ก็ไปไม่ไกล วิทยาศาสตร์ก็ย้อนกลับมาที่จุดตั้งต้นอีก เพราะฉะนั้น ยุคนี้จึงเป็นยุคที่เขาเรียกว่า “จุดหักเลี้ยว” (turning point) มีหนังสือบางเล่มที่ขายดิบขายดี (bestseller) เช่น Turning Point ของนายฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) ซึ่งเคยขายดีมากในยุคหนึ่ง นับว่าเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะมีการหักเลี้ยวของอารยธรรมมนุษย์ มีการสนใจและเปลี่ยนแปลงแปลกใหม่ เช่น ตะวันตกหันมาสนใจตะวันออก วิทยาศาสตร์เสื่อมฐานะลงไปจากการเป็นมาตรฐานวัดความจริง นักวิทยาศาสตร์หันมาศึกษาเรื่องจิต ดังนี้เป็นต้น

เวลานี้ โลกตะวันตกหันมาสนใจเรื่องทางด้านจิตใจ และแสวงหาภูมิปัญญาใหม่กันมาก เป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องติดตามและรู้เท่าทัน เมื่อเราไปทำงานในสังคมตะวันตก ขณะที่ฝรั่งกำลังมีแนวโน้มอย่างนี้ จะต้องเข้าใจด้วยถึงปกติวิสัยอย่างหนึ่งที่ว่า มนุษย์นั้นมีความโน้มเอียงในทางตีกลับตรงกันข้าม คือ เมื่อเอียงไปสุดข้างหนึ่งแล้วก็มักจะกลับเอียงไปสุดทางอีกข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาไปอเมริกาได้เห็นพวกฝรั่งมาสนใจเรื่องจิตใจหรือเรื่องนามธรรมมาก จึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปภูมิใจอะไรมาก คนของเราบางทีไปดีใจภูมิใจ แล้วก็ไปหลงตาม และไปสนองแนวโน้มของเขา ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ จึงต้องมีสติระวังไว้ ฝรั่งเขากำลังจะไปเอียงสุดอีกข้างหนึ่งที่ตรงข้ามกับสภาพเดิมของเขา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง