อย่างไรก็ตาม จะต้องรู้ตระหนักไว้ว่า ระบบแข่งขัน ที่อาศัยกิเลสมนุษย์ เป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้จริงนี้ มีผลเสียมาก เพราะมันเป็นระบบที่เอากิเลสของมนุษย์มาปลุกเร้า และเป็นไปเพื่อสนองกิเลส คือ ทุกคนดิ้นรนเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ดิ้นรนเร่งทำเพื่อให้ตัวรอด เพื่อให้ตัวอยู่ดี เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น จึงพยายามกอบโกยเอาเปรียบให้ได้มากที่สุด จึงต้องตั้งกติกากันขึ้น เพื่อจะมากีดกั้นป้องกันไม่ให้รุกล้ำสิทธิ์กัน สังคมตะวันตกเป็นอย่างนี้ คือ ในแง่หนึ่งเขาสนับสนุนความเห็นแก่ตัว และพร้อมกันนั้นเขาก็สร้างกติกากฎหมายและหลักการต่างๆ ของสังคมขึ้นมาเพื่อป้องกันการรุกล้ำสิทธิ์กัน การพัฒนาในทิศทางนี้จึงได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน (human rights) ที่ตะวันตกเขาภูมิใจนักหนา สิทธิมนุษยชนเกิดมีขึ้นเพราะสังคมตะวันตกเป็นมาอย่างนี้ ทั้งนี้รวมทั้งกฎเกณฑ์กติกา และกฎหมายต่างๆ ซึ่งตะวันตกชำนาญมาก
แม้ว่าสังคมตะวันตกจะใช้ระบบแข่งขัน ซึ่งเป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามแบบประดิษฐ์ของมนุษย์เอง มาเร่งรัดคนให้กระตือรือร้นขวนขวาย มีความไม่ประมาทชนิดเทียมแล้วสร้างความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ แต่มันก็มีผลร้ายในเบื้องปลาย คือ ทำให้คนมุ่งที่จะเอาแต่ตัวเองรอด เพื่อความอยู่ดีมีความสุขสมบูรณ์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น และไม่คำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อม ในที่สุด เมื่อแต่ละคนมุ่งหาประโยชน์ส่วนตน สังคมก็มากไปด้วยการเบียดเบียนกัน และธรรมชาติแวดล้อมก็เสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอ ฉะนั้น ระบบแข่งขันจึงไม่ปลอดภัย และโดยนัยนี้ ระบบที่ดีที่สุด จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นระบบแห่งความไม่ประมาทที่แท้ ซึ่งเป็นไปด้วยสติปัญญา
เมื่อเราใช้สติปัญญาแล้ว มันก็คลุมหมด ปิดช่องเสียไม่ให้มี มีแต่ส่วนที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราทำอย่างไรจะพัฒนาคนให้อยู่ด้วยธรรม คือความไม่ประมาทนี้ได้ และการพัฒนาคนให้ถึงขั้นที่อยู่ด้วยความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญานี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ (อย่างน้อยที่เห็นอยู่ คือ ในสังคมไทยนี่เอง ที่มีพระพุทธศาสนาซึ่งสอนหลักความไม่ประมาท แต่คนดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความประมาท และยิ่งกว่านั้น น่าสังเกตว่า เราไม่ค่อยสอนกันด้วยในเรื่องความไม่ประมาทนี้)
ตามหลักความไม่ประมาท สิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ก็คือ หนึ่ง ทำให้คนเจริญงอกงามอยู่ในความดีงาม มีความร่มเย็นเป็นสุข สอง เมื่อดีงาม ร่มเย็นเป็นสุขแล้วให้ไม่ประมาท เร่งสร้างสรรค์เพื่อให้เจริญก้าวหน้าต่อไป โดยไม่ผัดเพี้ยน ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่เพลิดเพลินมัวเมาตกหลุมความประมาท
เมื่อสำรวจตรวจดูสภาพสังคม จุดอ่อนของสังคมไทยน่าจะได้แก่ความประมาท คนไทยเรานี้ประสบความสำเร็จพอสมควรในการดำรงอยู่ด้วยดี สังคมของเรามีความร่มเย็นเป็นสุข แต่แล้วก็เฉื่อยชาเพราะว่าไม่เอาหลักความไม่ประมาทมาใช้ คนไทยไม่ค่อยเห็นความสำคัญของหลักความไม่ประมาทเลย ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้นักหนา ไม่รู้กี่แห่ง
ความไม่ประมาทเป็นเหมือนกับรอยเท้าช้าง ธรรมทุกอย่างรวมลงได้ในความไม่ประมาททั้งหมด เหมือนรอยเท้าสัตว์บกทุกชนิดรวมลงได้ในรอยเท้าช้าง ธรรมทั้งหลายมากมายจะกี่อย่างก็ตาม ไม่ว่าเราจะเรียนจะรู้จะจำมาเท่าไร ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้รับการปฏิบัติ แต่ในทางตรงข้าม ธรรมกี่อย่างก็ตาม แม้เรียนเพียงน้อยข้อ แต่ถ้าไม่ประมาทเสียอย่างเดียว มีกี่ข้อก็ได้รับการปฏิบัติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นความสำคัญของความไม่ประมาท และรวมความว่า ความไม่ประมาทเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษยชาติ ว่ามนุษย์จะไปรอดไหมโดยสังคมส่วนรวม
เป็นอันว่า ตอนนี้ ถ้าเทียบกันในแง่นี้ สังคมตะวันตกอยู่ด้วยความไม่ประมาทเทียมตามระบบแข่งขัน ที่ทำให้สร้างความเจริญทางวัตถุได้สำเร็จผลอย่างดี ส่วนสังคมไทยของเรา ได้ประสบความสำเร็จในความดีงามอยู่สุขสบายพอสมควร แต่ตกหลุมความประมาท อาจจะเป็นอย่างนี้ ขอตั้งสมมุติฐานหรือข้อสังเกตให้ไปพิจารณากัน
สรุปจุดเน้นตอนนี้ว่า เกณฑ์วัดการพัฒนามนุษย์คือ สำหรับมนุษย์ที่ยังไม่พัฒนา ต้องบีบเค้นจุดไฟลนจึงจะไม่ประมาท (ไม่ประมาทเทียม) สำหรับมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ใช้สติปัญญาเร่งรัดตัวเองได้ จึงไม่ประมาท (ไม่ประมาทแท้)
เวลานี้ฝรั่ง โดยเฉพาะอเมริกัน ก็ยังหาทางออกไม่ได้ เขายังไม่เห็นต้นตอของปัญหา หรือยังไม่เห็นโทษภัยแห่งฐานความคิดความเชื่อของตนด้วยซ้ำ เขายังคิดว่า ระบบแข่งขัน (competition) เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความเจริญ ตอนนี้สังคมอเมริกันเสื่อมลง เขาก็บอกว่า เป็นเพราะอเมริกันสูญเสียความพร้อมและความสามารถในการแข่งขัน แสดงว่าอเมริกันนี่ยังคิดอยู่ในแง่ของตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถือว่าตนประสบความสำเร็จมาด้วยการแข่งขัน เวลานี้ พอตัวเองเสื่อมลง ก็มองได้แค่ว่าเป็นเพราะคนของตนสูญเสีย competitiveness คือความพร้อมที่จะแข่งขัน หรือคุณสมบัติในการแข่งขัน หมายความว่า คนอเมริกันในยุคปัจจุบัน ไม่มีคุณสมบัติในการแข่งขัน เช่น ขาดจริยธรรมการทำงาน (work ethic) ขาดสันโดษ ไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นคนสำรวยหยิบโหย่ง เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่าเราจะต้องแก้ไขกู้ฐานะความเป็นผู้นำ และความยิ่งใหญ่กลับมา ด้วยการที่จะต้องทำให้คนอเมริกันกลับมีความพร้อมที่จะแข่งขัน (competitiveness) ก็ได้แค่นี้แหละ วนเวียนอยู่แค่การถือว่าตนจะฟื้นตัวได้ก็ต้องให้แข่งขัน (competition) เก่ง
ในเวทีโลกเวลานี้จะเห็นได้ชัดว่า มีคำว่าแข่งขันนี้ใช้ทั่วไปหมด โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เวลานี้ถือกันว่าโลกเป็นเวทีของการแข่งขัน ประเทศชาติต่างๆ ก็คิดถึงแต่การที่จะแข่งขันกัน เมืองไทยเราก็พลอยรับเอาลัทธินี้เข้ามาด้วย และพูดกันเกร่อถึงการพยายามแข่งขันให้สู้เขาได้ เมื่อมองในแง่นี้ก็เป็นการเอาแต่ตัวของแต่ละประเทศ แต่ในการแก้ปัญหาของโลก ระบบการแข่งขันแบบนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ มีแต่จะทำให้โลกพินาศ เพราะในที่สุด มันจะกลับมาซ้ำเติมปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด เช่นทำให้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมแก้ไม่ได้ เพราะว่าเมื่อต่างคนต่างแข่งขันหาผลประโยชน์ หรือว่าต่างคนต่างคิดแบ่งแยกกัน มันก็แก้ไม่ได้ มนุษย์จึงมาถึงจุดติดตัน
ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้มองเห็นปัญหาโทษภัยของแนวความคิดบางอย่าง แต่เขาก็หนีไม่พ้นจากแนวความคิดนั้นเองอีกด้านหนึ่งที่มองไม่เห็น เหมือนอย่างอเมริกันที่มองเห็นว่า ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติผิด แต่ก็มองไม่ออกว่าจะหาทางออกอื่นได้อย่างไร ก็ต้องมาใช้วิธีการสร้างความเจริญด้วยการแข่งขัน (competition) อีก ซึ่งก็อยู่ในลัทธิเดียวกัน คือการหาผลประโยชน์ด้วยการทำลายธรรมชาติ ก็วนไปวนมา เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าติดตัน
พระพุทธศาสนานี้ ในความคิดของผม ท่านอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ผมมั่นใจว่า เป็นคำตอบ เรามีคำตอบให้อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างจริยธรรมก็เช่นเดียวกัน จริยธรรมตะวันตกที่พูดเมื่อกี้ก็มาติดตันที่จริยธรรมแห่งการจำใจ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้ามนุษย์จะสุขที่สุด ธรรมชาติต้องพินาศ และมนุษย์ก็พินาศด้วย แต่ถ้ายอมให้ธรรมชาติอยู่ มนุษย์ก็ไม่สามารถสุขที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องประนีประนอมด้วยการยอมให้ธรรมชาติอยู่ได้โดยมนุษย์ยอมอดยอมขาดความสุขบ้าง ซึ่งก็คือจะต้องอยู่ด้วยความจำใจ เพราะฉะนั้น เวลานี้แม้เขาจะให้ความสำคัญแก่จริยธรรม แต่ก็ได้แค่จริยธรรมแห่งความจำใจด้วยการประนีประนอม