มนุษย์จะทำอย่างไรในเมื่อมาเจอปัญหาอย่างนี้ ความจำเป็นทำให้เราจะต้องยอมให้ธรรมชาติอยู่ แต่เราก็จะต้องฝืนใจตัวเองที่จะยอมตัวไม่สามารถจะมีความสุขมากที่สุด โดยยอมอดความสุขลงไปบ้าง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็กลายเป็นลัทธิจำใจ คือจำใจยอมให้ธรรมชาติอยู่ หรือจำใจรักษาธรรมชาติ เพื่อให้ตัวเราอยู่ได้ และจำใจยอมอดไม่สามารถมีความสุขมากที่สุด เกิดเป็นลัทธิประนีประนอม ซึ่งเป็นเรื่องของแนวคิดตะวันตก ที่ไปสุดจบลงที่การประนีประนอม อารยธรรมของเขามาได้แค่นั้น เราต้องแยกให้ถูก
อารยธรรมตะวันตกมีจุดยุติที่การประนีประนอม อันนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่ทำให้ตะวันตกหันมาสนใจตะวันออก เพราะตะวันออกมีสิ่งที่เรียกว่า harmony คือความกลมกลืนประสานสอดคล้อง ซึ่งต่างจากฝรั่งที่ไปได้แค่ compromise ที่เราแปลกันว่าการประนีประนอม
การประนีประนอม (compromise) คือการที่ทั้งสองฝ่าย ต่างก็ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อได้บางอย่าง หรือเพื่อต่างก็ได้ด้วยกันต่างฝ่ายต่างก็ต้องยอมเสียบ้าง ทีนี้ปัจจุบันมนุษย์ก็มาถึงจุดที่ต้องประนีประนอมกับธรรมชาติ คือ เพื่อให้ธรรมชาติอยู่ได้ มนุษย์ต้องยอมอดความสุขบ้าง ส่วนธรรมชาตินั้น ก็ต้องยอมให้มนุษย์บ้าง เมื่อประนีประนอมกันอย่างนี้ก็พอจะอยู่กันไปได้ ก็เลยเกิดเป็นจริยธรรมสภาพแวดล้อมที่ตั้งอยู่บนหลักการแห่งการประนีประนอมนี้
ระยะนี้สังคมตะวันตกกำลังให้ความสำคัญแก่จริยธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะมาประสบปัญหาที่ทำให้จำใจจะต้องเอาจริยธรรมมาใช้ และจริยธรรมของตะวันตกก็เป็นจริยธรรมแบบจำใจ เรามาดูประวัติศาสตร์จริยธรรมตะวันตกกันนิดหนึ่ง
จริยธรรมตะวันตกได้ถูกวิทยาศาสตร์ทำลายสถานะโค่นลงจากบัลลังก์ไปครั้งหนึ่งแล้ว จนกระทั่งแทบจะหมดความหมาย โดยถูกวิทยาศาสตร์หาว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่เป็นความจริง เรื่องเป็นอย่างไร
ในยุคที่แล้วมานี้ โลกเป็นโลกที่เจริญด้วยวิทยาศาสตร์ นิยมวิทยาศาสตร์ หรือถึงกับคลั่งวิทยาศาสตร์ โดยที่วิทยาศาสตร์ได้เจริญขึ้นมาในระยะ ๒๐๐ ถึง ๓๐๐ กว่าปีนี้อย่างมาก และในช่วงเวลานั้น มนุษย์มีความภูมิใจในวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง จนกระทั่งวิทยาศาสตร์มีสถานะสูงสุด ด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ คือ หนึ่ง...วิทยาศาสตร์เป็นความหวังและความฝันอันสูงสุดของมนุษยชาติว่าจะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ สอง...วิทยาศาสตร์ได้ก้าวเข้ามาเป็นมาตรฐานสำหรับวัดความจริงทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรไม่เป็นวิทยาศาสตร์ใช้ไม่ได้ แม้แต่เดี๋ยวนี้ ในสังคมไทยคนก็ยังคิดอย่างนี้มาก แต่เวลานี้ ในสังคมตะวันตก วิทยาศาสตร์กำลังจะหมดฐานะเป็นมาตรฐานวัดความจริง คือวัดได้บางส่วน ไม่ถึงที่สุด
ศตวรรษที่ ๑๙ ของตะวันตก เขาเรียกว่าเป็นยุคแห่ง scientism แปลว่า ลัทธินิยมวิทยาศาสตร์ คือเป็นสมัยของการนิยมวิทยาศาสตร์ ถ้าใช้คำแรงก็เรียกว่ายุคคลั่งวิทยาศาสตร์ คนตื่นวิทยาศาสตร์เหลือเกิน จนกระทั่งวิชาการทั้งหลาย ต้องพยายามปรับตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์กันไปทั่ว หมายความว่า วิชาการที่เคยเจริญมาในสมัยก่อน พอวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น พวกนั้นด้อย เลยต้องพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างวิชาการเมืองการปกครอง มีมาตั้งแต่สมัยโสคราตีส เพลโต อริสโตเติล แต่พอมาถึงยุควิทยาศาสตร์เจริญ เขาไม่ยอมรับวิชาเหล่านี้ว่าเป็นศาสตร์ วิชารัฐศาสตร์พึ่งมาเป็นสังคมศาสตร์ เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นสังคมศาสตร์จึงเพิ่งเกิดหลังวิทยาศาสตร์เมื่อ ๒๐๐ ปีมานี้ ทั้งๆ ที่ตัววิชาเดิมนั้น เกิดมาก่อนวิทยาศาสตร์เป็นพันปี
ในการพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ วิชาการต่างๆ ต้องใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ (scientific method) มาศึกษา เช่นศึกษาสังคมด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์จึงเป็นสังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ก็ต้องใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ แล้วก็ภูมิใจนักหนาว่าฉันเป็นวิทยาศาสตร์ ปลอดจากเรื่องคุณค่า (value-free) ที่เป็นเรื่องของจิตใจคิดหมายเอาเอง ไม่เป็นจริง แม้แต่จิตวิทยา ซึ่งเป็นวิชาทางจิตใจแท้ๆ ยังต้องปรับตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย โดยใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ รวมความว่าในยุคที่แล้วมานี้ โลกคลั่งวิทยาศาสตร์มาก โดยฝันว่า มนุษย์จะอุดมสมบูรณ์พูนสุขด้วยวิทยาศาสตร์ และใช้วิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง วิชาการใดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ วิชาการนั้นก็ด้อย จึงมีวิชาการต่างๆ ที่กลายเป็นสังคมศาสตร์ขึ้นมาด้วยการพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์
ทีนี้หันมาดูจริยธรรมบ้าง จริยธรรมในที่นี้คือ ethics ซึ่งหมายถึงคำสอนหรือหลักปฏิบัติในทางความประพฤติ หรือพฤติกรรมของมนุษย์ แต่เดิมนั้นจริยธรรมของตะวันตก เป็นจริยธรรมแบบเทวบัญชา คือเป็นคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า (เช่นเป็น commandment) พระผู้เป็นเจ้าสั่งมาทุกอย่างว่าต้องเว้นหรือต้องทำอย่างนี้ๆ ถ้าเธอฝ่าฝืน ฉันจะลงโทษ ถ้าเธอทำตาม ฉันจะให้รางวัล เรียกว่าเป็นระบบลงโทษและให้รางวัล เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาแล้ว ก็บอกว่าไม่จริงหรอก มีที่ไหน พระผู้เป็นเจ้ามาสั่ง มาบัญชา ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นเหตุผล จริยธรรมก็หมดความหมายไปเลย
จากนั้นวิทยาศาสตร์ก็ทำให้คนมองจริยธรรมในความหมายใหม่ว่า จริยธรรมเป็นเพียงบัญญัติของสังคมมนุษย์เท่านั้นเอง คือเป็นเรื่องที่มนุษย์ตกลงกัน จะว่าอย่างไรก็ได้แล้วแต่ยอมรับกัน สิ่งนี้สังคมนี้ว่าดี แต่สังคมนั้นว่าไม่ดี สิ่งที่สังคมนั้นว่าไม่ดี สังคมนี้ว่าดี เป็นเรื่องที่มนุษย์ติ๊งต่างหรือสมมุติกันขึ้นทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จริยธรรมจึงไม่ใช่ของจริง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จากนั้นจริยธรรมก็หมดความหมาย เพราะไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ก็ด้อยฐานะลงไป ไม่ว่าจะเป็นเทวบัญชาก็ตาม หรือมาเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติบัญญัติขึ้นก็ตาม ก็คือไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงไม่มีฐานะสำคัญอะไรอีก ฉะนั้น จริยธรรมก็หลงเหลืออยู่ในปรัชญาและศาสนาต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาไม่ให้ความสำคัญเท่าไรนัก
เวลาผ่านมาจนกระทั่งถึงยุคหลังนี้ มนุษย์ในสังคมตะวันตกได้ประสบปัญหาทางด้านจิตใจ และทางด้านสังคม แล้วก็มองเห็นว่าความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ มนุษย์เริ่มสำนึกตัวว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษยชาติได้ ไม่สามารถสร้างสรรค์ให้สำเร็จความใฝ่ฝันในความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของโลกมนุษย์ แต่บางทีกลับทำให้เกิดปัญหามากมายหลายอย่างที่ไม่เคยเกิดมีด้วย ตอนนี้คนชักผิดหวังกับวิทยาศาสตร์ ปัญหาทางสังคมก็แก้ไม่ได้ ปัญหาทางจิตใจก็แก้ไม่ได้