พระผู้เข้าอบรม - มีคนพูดว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนาทำไมเมืองไทยจึงไม่พัฒนา อยู่ในสภาพอย่างนี้ แต่ฝรั่งนับถืออย่างอื่นกลับเจริญไปไกล?1
พระธรรมปิฎก - เรื่องนี้มีแง่พิจารณาหลายอย่าง แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเข้ามาในสังคมไทยแล้ว แต่ในด้านหลักการและลักษณะของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก พระพุทธศาสนาไม่มีการบังคับศรัทธา การนับถือเป็นไปโดยเสรี ให้ใช้ปัญญาพิจารณา และไม่ถูกผูกมัดด้วยข้อกำหนดตายตัวทั้งในด้านความเชื่อและการปฏิบัติ (อย่างที่ฝรั่งว่าพุทธศาสนาไม่มี dogma) คนจะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้เพียงใดก็อยู่ที่การศึกษา หลักการและลักษณะนี้ ทำให้คนที่เรียกว่านับถือพระพุทธศาสนายังอาจจะอยู่ห่างไกลจากตัวจริงของพระพุทธศาสนามาก ระดับของคนที่นับถือก็ห่างกันได้มาก และชาวพุทธก็ยังอาจจะนับถืออะไรอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลมากยิ่งกว่าตัวพระพุทธศาสนาเอง เพราะฉะนั้น
ประการแรก ไม่ใช่ว่าคนไทยเราจะเข้าถึงแนวทางของพระพุทธศาสนากันทั้งหมดและทุกสมัย เราอาจจะพยายามเข้าถึงพุทธศาสนา และในบรรดาชาวไทยทั้งหมดนั้น บางส่วนอาจจะเข้าถึงบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึง ในบางยุคสมัยคนอาจเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนามากหน่อย แต่บางยุคสมัยก็อาจจะเหินห่างมาก โดยเฉพาะ
ประการที่สอง เพราะไม่บังคับความเชื่อนี่แหละ คนไทยจึงไม่ได้นับถือเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อาจจะนับถือลัทธิศาสนาอย่างอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ ไสยศาสตร์ และลัทธิผีสางเทวดา ลัทธิความเชื่อเหล่านั้น จึงเข้ามามีอิทธิพลด้วย บางอย่างก็ถึงกับก้าวล่วงล้ำเข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ และก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปอยู่ใต้อิทธิพล จึงไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาเป็นปัจจัยหลักที่ชักนำชะตากรรมของสังคมไทยอย่างแท้จริง เรียกว่าคนไทยยังอยู่ใต้อิทธิพลของแนวความคิดและความเชื่ออย่างอื่นอีกมาก มองในทางกลับกัน อาจจะพูดใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาช่วยมาได้แค่นี้ หรืออาจจะตั้งคำถามใหม่ว่า ทำไมพระพุทธศาสนาจึงช่วยมาได้เพียงแค่นี้ และ
ประการที่สาม ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางลัทธิศาสนาหรือความเชื่ออีก เช่นปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมเป็นต้น
สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ดีมีสุขท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแวดล้อม ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับปุถุชน หมายความว่า มนุษย์ปุถุชนจะดิ้นรนขวนขวายต่อเมื่อมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม ในแง่นี้จะเห็นได้ว่า ในอารยธรรมตะวันตกนั้น ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความเจริญก็คือการถูกทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคาม กล่าวคือ ความขาดแคลนปัจจัยสี่และความบีบคั้นของภัยธรรมชาติ เช่นความหนาวเย็น ที่รุนแรงถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่ได้แก้ไขป้องกันแล้ว ชีวิตจะอยู่ไม่ได้
สำหรับเมืองไทยเรานี้เราอาจจะผัดผ่อนได้ เช่นว่า เอ้อ..บ้านเราฝาผุแตก แต่เรายังไม่มีเวลา ยังไม่ซ่อมนะ เอาไว้เดือนหน้า พอถึงเดือนหน้าเราก็ผัดต่อไปอีก เอาไว้อีกเดือนหนึ่ง เดือนหน้าจึงจะซ่อม แล้วก็เดือนหน้าๆๆ จนกระทั่งครบปีก็ยังไม่ได้ซ่อม แต่ในประเทศฝรั่ง จะผัดเพี้ยนไม่ได้เลย อีกสองเดือนฤดูหนาวจะมา เดือนหน้าถ้าไม่ซ่อมจะหนาวตาย ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและความขาดแคลนเนื่องจากธรรมชาติที่ไม่อุดมสมบูรณ์นี้เป็นอันตรายที่บีบคั้นทำให้เขาไม่ประมาท หรือมัวประมาทอยู่ไม่ได้ คือจำเป็นต้องไม่ประมาท ต่างจากของเราที่สุขสบายอุดมสมบูรณ์ ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ไม่พัฒนาพอ ปัจจัยตัวเอื้อต่างๆ จะนำไปสู่ความประมาท เช่น ทำให้นอนเสพเสวยความสุข และชอบผัดเพี้ยนเรื่อยไป เดี๋ยวก็ได้ เมื่อโน้นก็ได้ เมื่อนี้ก็ได้ นี่ก็คือลัทธิแห่งความประมาทนั่นเอง ตรงนี้แหละที่อาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ที่ทำหน้าที่สอนพระพุทธศาสนาจึงไม่ช่วยพัฒนาคนไทยให้พ้นจากลัทธิแห่งความประมาทนี้ไปได้
นอกจากนั้น ยังมีความบีบคั้นทางอื่นอีก โดยเฉพาะทางจิตใจ และทางปัญญา สังคมตะวันตกนั้นเป็นสังคมที่ผ่านประวัติแห่งการบีบคั้นทางปัญญามาอย่างมาก พวกเราก็เรียนประวัติศาสตร์กันมา อย่างในสมัยกลางของยุโรป ศาสนาคริสต์มีอำนาจครอบงำยุโรปทั้งทวีป โดยมีวาติกันเป็นศูนย์กลาง โป๊ป (Pope) ที่แปลว่าสันตะปาปา เป็นผู้สวมมงกุฏให้กษัตริย์ของประเทศทั้งหลายทั่วไปหมด ฉะนั้น ถ้ามีกษัตริย์องค์ไหนเกิดเรื่องขัดแย้งไม่เชื่อฟัง โป๊ปสามารถสั่งลงโทษ เช่น เมื่อปี ๑๖๑๙ (ค.ศ. ๑๐๗๖) โป๊ป เกรกอรี ที่ ๗ (Pope Gregory VII) สั่งลงโทษคว่ำบาตรพระเจ้าเฮนรีที่ ๔ (Henry IV) กษัตริย์เยอรมันและเป็นจักรพรรดิโรมันด้วย พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ต้องเดินทางข้ามเทือกเขาแอลป์ส์ (Alps) มาขอขมาโทษโป๊ป และต้องยืนพระบาทเปล่าหนาวสั่นและอดอาหารอยู่กลางหิมะ ๓ วัน โป๊ปจึงยกโทษให้
ในยุคนั้น คำสอนในศาสนาคริสต์ ใครจะเถียงไม่ได้ สงสัยไม่ได้ สงสัยพระเจ้าไม่ได้ ถ้าพูดขึ้นมาทำนองนี้นิดหน่อยก็ถูกจับขึ้นศาล ซึ่งทางองค์กรศาสนาคริสต์และบ้านเมืองได้ร่วมกันตั้งขึ้น เรียกว่า Inquisition แปลว่า ศาลไต่สวนศรัทธา ไม่ว่าจะสงสัยในองค์พระเจ้าหรือสงสัยคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิล (Bible) ก็จับขึ้นศาลได้เลย และถ้าไม่ละความเชื่อหรือความสงสัยนั้น ก็ถูกเผาทั้งเป็น ในประเทศสเปนคนถูกเผาตายเป็นหมื่น
กาลิเลโอนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญในประวัติศาสตร์ก็โดนด้วย เพราะเขาไปสอนเรื่องว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่พระอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง เท่านี้แหละถือว่าขัดแย้งกับคำสอนในพระคัมภีร์ ถูกจับขึ้นศาลเลย แล้วก็ถูกตัดสินจะให้ดื่มยาพิษ แต่กาลิเลโอยอมบอกว่า ตัวเองหลงผิดไป ก็เลยรอด แสดงว่ากาลิเลโอนี่ไม่มั่นจริงในแนวความคิด กรณีของกาลิเลโอก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่ศาสนาคริสต์บีบคั้นปิดกั้นทำให้คนไม่สามารถใช้ความคิดเหตุผลสงสัยถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับความจริงของโลกและชีวิต แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นยิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์พวกหนึ่ง อย่างพวกกาลิเลโอนี้ ก็ยิ่งรวมตัวกันแสวงปัญญา ถกเถียงหาความรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา
รวมความว่า ในตะวันตกยุคก่อนโน้น การดิ้นรนเพื่อจะให้พ้นจากการบีบคั้นทางความคิดความเชื่อ ทำให้เกิดการใฝ่แสวงปัญญา ต่างจากในสังคมของเราที่ไม่มีการบีบคั้นทางปัญญา เลยเกิดภาวะเรื่อยเปื่อย ใครจะคิดอย่างไร ใครจะสงสัยอะไรก็ไม่ว่า ก็ปล่อย เลยขี้เกียจคิดขี้เกียจพูด พูดไปก็ไม่เห็นใครสนใจ มีคนมาฟังไม่กี่คน แต่ฝรั่งเขาไม่อย่างนั้น พอพูดแสดงความสงสัย เขาจับเลย กลายเป็นการกระตุ้นเร้าให้พวกที่อยากรู้ยิ่งอยากมาฟัง ยิ่งลักลอบทำเป็นการลับก็ยิ่งเอาจริงเอาจัง ฝรั่งก็แสวงปัญญากันจริงจังยาวนานจนกระทั่งเกิดเป็นนิสัยใฝ่รู้ขึ้น จากการดิ้นรนให้พ้นจากการบีบคั้นทางปัญญานี่แหละ ในที่สุดก็มาผุดโพล่งออก เกิดเป็นยุคคืนชีพ (Renaissance) และตามมาด้วยยุคปฏิรูป (Reformation) การฟื้นฟูทางปัญญาจึงเกิดขึ้นในยุโรป เพราะการดิ้นรน จึงทำให้ฝรั่งมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายอย่างรุนแรง ต่างจากของเราที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็อยู่กันมาเรื่อยๆ สบายๆ จนจะมีนิสัยผัดเพี้ยน ปล่อยปละละเลย เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา ตกอยู่ในความประมาท
พูดได้ว่า ถ้าเราไม่พัฒนาคนให้ดีพอ คือไม่สามารถทำให้คนอยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ ตามหลักของพระพุทธเจ้า สังคมไทยจะเจริญในทางสร้างสรรค์ได้ยาก
ความไม่ประมาทที่แท้ ก็คือ การเร่งรัดแก้ไข ป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญด้วยสติปัญญา ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาคนให้อยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ คนก็จะตกไปอยู่ใต้อำนาจกิเลสของปุถุชน คือ ต้องมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคามจึงจะดิ้นรนขวนขวาย เมื่อไรสุขสบายประสบความสำเร็จก็จะนอนหรือนิ่งเฉยเฉื่อยชา และมัวเมาหลงเพลิดเพลินในความสุข แล้วก็จะผัดผ่อนอะไรต่างๆ ไปเรื่อยๆ ยิ่งเรามาใช้สันโดษในความหมายว่า พอใจในสิ่งที่มีอยู่ จะได้สบายมีความสุข ก็ไปกันได้ดีเลย นี้ก็คือลัทธิแห่งความประมาทนั่นเอง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าผู้ใดสันโดษในกุศลธรรม ผู้นั้นก็เป็นผู้ประมาท พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้สันโดษในกุศลธรรม คือการสร้างสรรค์บำเพ็ญกิจกรณีย์สิ่งที่ดีงาม พระองค์สอนให้สันโดษในวัตถุสิ่งเสพเท่านั้น เพราะถ้าคนไม่สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ มัวแต่วุ่นวายหาความสุขมาบำรุงบำเรอตัวเอง เขาจะเอาเวลา แรงงาน และความคิดที่ไหนมาใส่ใจทำหน้าที่กิจการงานและสร้างสรรค์ความดีงาม แต่ถ้าเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ เราก็มีเวลาแรงงานและความคิดเหลือเฟือที่จะเอาไปทุ่มอุทิศให้แก่การทำหน้าที่การงานและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ถ้าเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ พร้อมกับไม่สันโดษในกุศลธรรมตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็จะเกิดความเจริญในทางสร้างสรรค์อย่างแน่นอน แต่นี่คนไทยอยู่สุขสบายแล้วยังแถมสันโดษในกุศลธรรมอีกด้วย ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ไม่เร่งรัดตัวเอง กลายเป็นคนปล่อยปละละเลย เฉื่อยชา
เป็นอันว่า สังคมตะวันตกนี่ดีอย่าง ที่เขามีตัวเร่งทำให้คนไม่ประมาท ทั้งโดยธรรมชาติแวดล้อมที่ทารุณ และโดยการบีบคั้นกันเองในหมู่มนุษย์ เข้าหลักที่ว่าคนถูกทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคามจึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย