ที่จริง ยังมีอีกอย่างหนึ่ง คือ การใช้ธรรมไม่ครบองค์รวม อันนี้ก็สำคัญที่จะทำให้เห็นว่า ทำไมจึงใช้ธรรมกันผิด จะพูดอีกสักเรื่องหนึ่งได้ไหม จะทนผมไหวหรือเปล่า
พระผู้เข้าอบรม - ไหวครับ
พระธรรมปิฎก - ขอพูดอีกสักตัวอย่างหนึ่งให้เห็นว่า ธรรมนั้นถ้าใช้ไม่ครบองค์รวมก็จะมีปัญหา แม้แต่ธรรมที่เป็นกุศลก็เกิดโทษได้ เพราะอาจจะเป็นปัจจัยแก่อกุศล
ในประเทศไทยเรานี้ ในการสอนศีลธรรมเมื่อระยะ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ได้มีแนวโน้มของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักวิชาการ ที่จบมาจากตะวันตก คิดกันใหญ่ ว่าเราจะต้องสอนจริยธรรมสากล หลักศีลธรรมที่สอนกันอยู่นั้นอิงพระพุทธศาสนา จะเอาหลักพุทธศาสนามาสอนไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีหลายศาสนา เราต้องเป็นกลาง ต้องใช้จริยธรรมสากล จากแนวโน้มนี้ต่อมาก็ปรากฏว่า วิชาศีลธรรมได้หมดไปจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ วิชาพุทธศาสนาก็หมดไป แล้วมีวิชาจริยธรรมเข้ามา ซึ่งพยายามจะให้เป็นจริยธรรมสากล
มีการประชุมกันในเรื่องนี้ ผมเคยเข้าประชุมด้วย เขาคิดกันถึงขนาดที่ว่า ข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นบาลีไม่ควรใช้ เพราะมาจากพุทธศาสนา ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นสากล ในที่ประชุมพิจารณากันว่าจะใช้ศัพท์จริยธรรมเป็นภาษาไทยให้หมด เช่น สตินี่เป็นคำบาลี ไม่ควรใช้ ต้องหาคำไทยมาแทน จะเอาอะไรดี สัจจะก็ไม่ได้ เป็นคำบาลี ต้องเอาคำไทยว่าความจริง เมตตา ไม่ได้ เป็นคำบาลี ต้องใช้ความรัก จริยธรรมสากลคิดกันขนาดนี้ ในที่ประชุมนั้นผมขอชี้แจงว่า ไม่ได้แล้ว จะไปกันใหญ่ หนึ่ง... คำเหล่านี้มาจากพุทธศาสนาก็จริง แต่มันกลายเป็นคำไทยแล้ว มันเป็นคำสามัญ เป็นคำไทยธรรมดา สอง... คำเหล่านี้เป็นบัญญัติ (concept) ที่มีความหมายกว้างขวางมาก เราไม่สามารถหาคำไทยมาแทนเท่ากันได้ อย่างคำว่า “สติ” คำเดียว ถ้าแปลเป็นไทยแม้แต่สองบรรทัดก็ยังไม่ได้ความหมายเท่าสติคำเดียว เนื่องจากคำเหล่านี้มีความหมายลึกซึ้ง ครอบคลุม กินความกว้าง เราจะไปเที่ยวเปลี่ยนตามใจชอบไม่ได้ ตอนนั้นไปกันถึงขนาดนั้น
ที่หย่อนกว่านั้นก็คือ เลือกข้อธรรมมาใช้ เริ่มด้วยไปทำบัญชีหัวข้อธรรมมาว่ามีอะไรบ้าง แล้วก็มาเลือกกันดูว่า ข้อไหนเป็นจริยธรรมที่เป็นสากล คือชาติไหนๆ ก็ยอมรับทั้งนั้น เช่นว่า เมตตา เอาไหม เมตตานี่ใช้ได้ ก็เอาเมตตามาใส่ลงไป กรุณาเอาไหม เอ้า! ใช้ได้ อุเบกขา เอ้ย! อย่าเพิ่ง เอาไว้ก่อน ความรับผิดชอบ นี่สำคัญ เอาไว้ เมื่อเลือกธรรมแบบนี้มาแล้ว ก็จัดเป็นหลักสูตร นี่คือ เลือกธรรมเป็นข้อๆ มา ที่เห็นว่าจะใช้ในหลักสูตร แล้วก็สอนกันแบบนี้ นี่คือจริยธรรมในระยะที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลักธรรมกระจัดกระจายหมด ไม่เป็นหมวดหมู่
ที่จริงในสังคมไทยก็มีแนวโน้มนี้อยู่แล้ว คือปฏิบัติธรรมกันไม่ครบชุด เช่น เมตตา กรุณา เราพูดกันบ่อย ส่วนมุทิตา ชักจะเลือนไป ไม่ค่อยพูดถึง แต่อุเบกขา ไม่เอาเลย ซ้ำยังหลงเข้าใจผิดด้วย เพราะไม่เข้าใจว่าอุเบกขาคืออะไร หลักธรรมพลัดกันแตกกระจัดกระจายหลุดออกไปจากชุดของมันหมด
เราไม่สังเกตหรือว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมเป็นหมวดๆ เป็นชุดๆ การที่สอนเป็นชุดนั้นมีความหมาย นั่นคือระบบองค์รวมที่ฝรั่งกำลังตื่นแตกกัน เพราะว่าหัวข้อธรรมเหล่านั้น เป็นองค์ประกอบของส่วนรวมที่สมบูรณ์ ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งไปแล้วระบบก็ไม่สมบูรณ์ หมายความว่า ธรรม แต่ละหมวดๆ นั้นเป็นระบบดุลยภาพ เมื่อปฏิบัติครบแล้ว มันจะดุลซึ่งกันและกันให้พอดี เกิดความพอดีขึ้นมาในชุดของมันที่เป็นระบบนั้น นี่คือระบบองค์รวม เพราะฉะนั้น ธรรมต้องปฏิบัติครบชุด ถ้าแยกออกมาเป็นข้อๆ กระจายหลุดจากกันแล้วจะเกิดปัญหา ยกตัวอย่างง่ายๆ
หลักธรรมที่เราคุ้นกันนักหนา คือ พรหมวิหาร ๔ นี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของการปฏิบัติธรรมไม่ครบชุด ทำให้ไม่เกิดดุลยภาพในองค์รวม เรามี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไว้ใช้ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเป็นท่าทีของจิตใจต่อเพื่อนมนุษย์ ที่ครบถ้วนบริบูรณ์
มนุษย์นั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์ ๔ อย่าง ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามสถานการณ์นั้นๆ ถ้าปฏิบัติผิดสถานการณ์ ธรรมนั้นแม้จะเป็นกุศล ก็อาจจะพลาด ทำให้เกิดผลเสียได้
สถานการณ์ที่ ๑ เพื่อนมนุษย์ของเรา เป็นอยู่ปกติไม่ได้เดือดร้อน ไม่มีภัยอันตราย ไม่มีปัญหาอะไร เราก็มีท่าทีของธรรมข้อที่หนึ่ง คือเมตตา ซึ่งได้แก่ความรัก ความอยากให้เขาเป็นสุข ความปรารถนาดี ความเป็นมิตร เมตตาก็มาจากรากศัพท์เดียวกับมิตรนั่นเอง
ต่อมา สถานการณ์ที่ ๒ เขาตกต่ำลง เดือดร้อน เป็นทุกข์ มีปัญหา เราก็ต้องย้ายจากเมตตา ไปกรุณา คือพลอยหวั่นใจ หวั่นไหวในความทุกข์ของเขา คิดจะหาทางปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์
ต่อมาสถานการณ์ที่ ๓ เขาขึ้นสูง ได้ดี มีความสุข ประสบความสำเร็จ ทำอะไรๆ ถูกทางแล้ว เราก็ย้ายมาสู่คุณธรรมข้อที่สาม คือมุทิตา หมายความว่าพลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน
นี่ผ่านมา ๓ สถานการณ์แล้ว ในหมู่คนไทยเรา ปรากฏว่าหลายคนแยกไม่ออกแม้แต่เมตตากับกรุณา ว่าต่างกันอย่างไร ธรรมหมวดนี้เป็นธรรมที่แสดงออกต่อคนอื่น คือ ต่อเพื่อนมนุษย์ จึงกำหนดความแตกต่างได้ด้วยการปฏิบัติในความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้น ตามสถานการณ์ที่เกิดกับเขา ฉะนั้น วิธีแยกความหมาย ก็ดูที่สถานการณ์ที่เกิดแก่เขา คือ สถานการณ์ที่เขาเป็นปกติเราก็มีเมตตา สถานการณ์ที่เขาตกต่ำเป็นทุกข์เราก็มีกรุณา สถานการณ์ที่เขาขึ้นสูงประสบความสำเร็จเราก็มีมุทิตา มนุษย์ทั่วไปจะตกอยู่ใน ๓ สถานการณ์นี้ เราก็มีครบแล้ว ปฏิบัติให้ถูกสถานการณ์ สามอย่างนี้ แล้วมีสถานการณ์อะไรอีก สามอย่างก็น่าจะครบแล้ว คนถ้าไม่ปกติก็ต้องเดือดร้อน เป็นทุกข์ หรือมิฉะนั้น ก็ได้ดีมีสุข แล้วจะมีสถานการณ์อะไรอีก ทำไมพระพุทธเจ้ายังตรัสข้อที่ ๔ อีก สถานการณ์อะไร
พระผู้เข้าอบรม - เป็นกลาง..อุเบกขาน่ะครับ
พระธรรมปิฎก - เป็นกลางน่ะ มันเป็นท่าทีแล้ว เอาสถานการณ์ของเขาสิ
พระผู้เข้าอบรม - ...วางเฉย...!
พระธรรมปิฎก - วางเฉยนี่เราวางเฉย แต่เขาเป็นอย่างไร เราจึงวางเฉย คือ มีอุเบกขา
พระผู้เข้าอบรม - อุเบกขา เมื่อเขาได้รับความทุกข์...
พระธรรมปิฎก - ได้ทุกข์เราก็กรุณาสิ สถานการณ์ที่ ๔ อะไร
พระผู้เข้าอบรม - เขาไม่สุขไม่ทุกข์...เขาได้ทุกข์จากผลกรรมที่เขาทำของเขาเอง ในข้อที่เราไม่สามารถจะช่วยได้...
พระธรรมปิฎก - ใกล้เข้าไปแล้ว...
พระผู้เข้าอบรม - ตกต่ำสุดจนไม่สามารถที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องได้...
พระธรรมปิฎก - ใกล้เข้าไปแล้ว...
พระผู้เข้าอบรม - แล้วแต่ยถากรรม...
พระธรรมปิฎก - นี่แหละ...อาจารย์ผู้ใหญ่มีชื่อเสียงมากของไทยท่านหนึ่งเอาอันนี้ไปพูดในการปาฐกถา ท่านบอกว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนวางอุเบกขา กรรมของใครกรรมของมัน เห็นคนตกต่ำยากจน ก็บอกว่า โอ้! เป็นกรรมของเขาเอง เขาก็รับผลของกรรมของเขาไป ก็เลยไม่มีใครช่วยเหลือกัน สังคมไทยก็เลยแย่ นี่แหละ ที่ท่านมหาพูดอย่างนี้ อุเบกขาก็โดนตีด้วย
ฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือ Buddhism and Society เป็นหนังสือหนาใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยของฝรั่งบางแห่งด้วย เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในพม่า ฝรั่งคนนี้ไปเอากรณีศึกษา (case study) มาด้วย เขายกตัวอย่างในเมืองพม่ามาเรื่องหนึ่ง จริงหรือไม่จริงผมก็ยังสงสัย...แต่ฝรั่งคนนี้ยกตัวอย่างมาเล่าว่า เขาไปที่ชนบทแห่งหนึ่ง มีคนตกน้ำแล้วไม่มีใครช่วย เพราะคนพม่าบอกว่าเป็นกรรมของเขา แล้วก็ให้วางอุเบกขา ได้สองหลักคือ หนึ่ง หลักกรรม ว่าเป็นกรรมของเขา สอง อุเบกขา วางเฉย ไม่ช่วย ฝรั่งคนนี้ก็เลยบอกว่า นี่เห็นไหม พุทธศาสนาทำให้คนเป็นอย่างนี้ เขาตี หนึ่ง…หลักกรรม สอง...หลักอุเบกขา โยงกันว่า คนพุทธอุเบกขาเพราะเห็นว่าเป็นกรรมของเขา เลยไม่ช่วยกัน เพราะฉะนั้นสังคมก็เลยตกต่ำเดือดร้อนอย่างนี้ เขาได้ทีก็ตีแพะไล่เลย เป็นการบอกไปด้วยว่าในสังคมของเขา ไม่อย่างนี้หรอก ของเขานี่ต้องช่วยกันสุดฤทธิ์เลย ฉะนั้น สังคมฝรั่งจึงได้เจริญขึ้นมา เขาว่าอย่างนั้น เอาล่ะสิ อย่างนี้จะแก้อย่างไรล่ะ
พระผู้เข้าอบรม - ปกติ...คนที่จะช่วย ถ้าว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าลงไปบางทีก็ตาย...
พระธรรมปิฎก - ก็ไม่รู้ละ ในที่นี้เขาว่า ที่ไม่ช่วย เพราะอ้างหลักกรรมกับอุเบกขา ไม่ใช่อ้างเรื่องว่ายน้ำเป็นหรือไม่เป็น เขาตีหลักกรรมกับอุเบกขาแล้ว ก็กลายเป็นว่า เห็นคนจนก็ว่านี่เป็นกรรมของเขา ไปเห็นคนพิการ ก็ว่ากรรมของเขา เพราะฉะนั้นก็ให้เขารับกรรมไป เราก็อุเบกขา ใช่ไหม
พระผู้เข้าอบรม - อุเบกขาจะใช้...ก็หมายความว่า สุดวิสัยก่อน...(หัวเราะ)
พระธรรมปิฎก - นี่แหละ...สุดวิสัยคือแค่ไหน เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน สถานการณ์ที่ ๔ ตกลงว่ายังไม่ชัด ทีนี้ ขอให้พิจารณาเรื่องนี้ดู คือ
พระพุทธเจ้าทรงวางหลักจริยธรรมบนฐานแห่งสัจจธรรมนะ จริยธรรมในพระพุทธศาสนาจึงไม่เป็นของบัญญัติตามชอบใจของศาสนาหรือของคนผู้ใดกลุ่มใด พระพุทธเจ้าไม่ได้วางหลักธรรมเอาเองว่า อย่างนี้ดี อย่างนั้นไม่ดี เธอทำผิด ฉันไม่ชอบใจ ต้องลงโทษ เธอทำดี ฉันโปรดปราน ให้รางวัล อย่างนี้ไม่มี
พระพุทธศาสนาสอนว่า ธรรมเป็นธรรมดาของธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทรงสอนจริยธรรมไปตามกฎธรรมชาติ คือตามความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ จริยธรรมที่พระองค์สอน ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจจธรรมคือความจริงตามธรรมชาติ ฉะนั้น จริยธรรมจึงเป็นความจริงด้วย ไม่ใช่เป็นของบัญญัติเอาตามชอบใจ ของสังคมนี้ว่าดี สังคมโน้นว่าไม่ดี อย่างที่ฝรั่งว่า ของเราไม่ใช่อย่างนั้น
เป็นอันว่า หลักพรหมวิหารก็ต้องตั้งอยู่บนฐานของสัจจธรรม เราจะมองพรหมวิหารได้ครบทุกสถานการณ์ เมื่อเรามองครบระบบของธรรมชาติทั้งหมด คือมองให้ตรงตามธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นจะต้องมองไปให้ถึงตัวธรรม