คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พุทธศาสนา
มองธรรมชาติอย่างไร

เมื่อกล่าวถึงหลักธรรมในทางพุทธศาสนาเองแท้ๆ เรื่องระบบของการพึ่งพาอาศัยกันนี้ ท่านย้ำมาก แต่นอกจากการพึ่งพาอาศัยกันแล้ว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือความรู้สึกที่ดีงามต่อกันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ และมนุษย์ต่อพืชและสัตว์ทั้งหลาย ความรู้สึกที่ดีงามอย่างหนึ่งได้แก่คุณธรรมที่เรียกว่า ความกตัญญู

ความกตัญญูนี้ มิใช่มีเฉพาะต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ท่านให้มีแม้แต่ต่อสัตว์และพืชทั้งหลายด้วย มีคาถาพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งที่ย้ำบ่อยๆ ในพระไตรปิฎก (เช่น ขุ.ชา.๒๗/๑๔๖๙/๒๙๗) สอนให้รู้คุณแม้แต่ของพืช มีใจความแปลเป็นไทยว่า

บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งใบของต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนทราม

อันนี้เป็นคติเก่าแก่ แสดงถึงความรู้สึกที่ดีต่อกัน ให้ระลึกว่า โอ้ ต้นไม้นี้เราได้อาศัยร่มเงาเป็นประโยชน์ ต้นไม้นี้มีค่า มีร่มเงาที่คนอื่นจะได้อาศัยต่อไป เรามาอาศัยร่มเงาของเขาแล้ว ก็เหมือนกับต้นไม้นี้เป็นมิตรของเรา เราก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปแกล้งฟันกิ่งหรือส่วนต่างๆ ของเขาทิ้งเล่น ถ้าทำอย่างนั้น ท่านถือว่าเป็นการประทุษร้ายมิตร

อันนี้เป็นความรู้สึกที่ดีงามต่อพืชพรรณ คือต่อระบบชีวิตด้วยกันแม้แต่พืช เป็นเรื่องของท่าทีในจิตใจ คือก่อนที่จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม พฤติกรรมจะออกมาได้ ก็เกิดจากท่าทีในจิตใจ ถ้าเรามีคุณธรรมเหล่านี้อยู่ในจิตใจ ก็จะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งหรือทำให้มีความโน้มเอียงของจิตที่จะเป็นไปในทางที่ดี ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ทำลายกัน

นอกจากความรู้สึกที่เห็นคุณของกันและกัน หรือระลึกในคุณค่าของกันและกันแล้ว ก็คือความรู้สึกที่มองพืชและสัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตาจิต

เมตตา นี้เป็นความรู้สึกที่สำคัญในทางพุทธศาสนา คือ การมองสรรพสัตว์ว่าเป็นเพื่อนร่วมโลก ในพระพุทธศาสนาท่านสอนหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่เราได้ยินกันเป็นประจำคือ อนิจจัง ได้แก่ความไม่เที่ยง ท่านบอกว่า มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงล้วนต้องตกอยู่ในกฎของธรรมชาติ ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเราต้องตกอยู่ในกฎธรรมชาติอันเดียวกัน เราก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขของกันและกัน

เมื่อเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมสุขร่วมทุกข์กันแล้ว เราก็ควรจะมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แทนที่จะมาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

การที่เราตกอยู่ใต้อำนาจของกฎธรรมชาติก็นับว่าแย่อยู่แล้ว ทำไมจะมาเบียดเบียนกันให้แย่หนักลงไปอีก นอกจากพระยามัจจุราชที่คอยจะหาช่องเล่นงานเราอยู่เรื่อยๆ แล้ว ก็ยังมีตัวก่อกวนที่เรียกว่าเป็นมัจจุเสนา คือ กองทัพของพระยามัจจุราช ซึ่งได้แก่ความแก่ ความเจ็บไข้

ทั้งพระยามัจจุราชและเสนาของพระยามัจจุราช ต่างก็ตามตอแย หรือมารบกวนเราเรื่อยๆ อยู่แล้ว เราทุกคนต่างก็มีภัยอันตรายเหล่านี้ร่วมกันอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะมาเบียดเบียนกันอีก ควรจะมาเป็นเพื่อนกันช่วยเหลือกัน อยู่ร่วมกันให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น จึงให้มองกันเป็นเพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์

คติเรื่อง เมตตาธรรม นี้ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก พระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์มีเมตตาต่อมนุษย์ด้วยกัน และมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหมด ถ้าเรามีลักษณะหรือท่าทีแห่งเมตตานี้ เราจะไม่ทำร้ายกัน การที่จะใช้หรือการที่จะทำอะไรต่อพืชต่อสัตว์จะเป็นไปด้วยเหตุผล โดยการใช้ปัญญาพิจารณาก่อน ไม่ทำโดยประมาท หรือทำโดยไม่คิดไม่พิจารณาไม่เห็นความหมาย

อีกอย่างหนึ่ง คติในทางพุทธศาสนาสอนให้มองธรรมชาติเป็นสภาพแวดล้อมที่ "งดงามน่ารื่นรมย์” และเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของความสุข

คตินี้จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข หรือมีความสุขในการที่จะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งทีเดียว

อีกอย่างหนึ่ง พร้อมกับการที่ถือว่าธรรมชาติ รวมทั้งสัตว์ และพืชทั้งหลาย เป็นสภาพแวดล้อมและเป็นบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์สวยงาม ทำให้มีความสุขแล้ว ธรรมชาติก็เป็นส่วนประกอบหรือเป็นปัจจัยในการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ด้วย

หลักข้อนี้หมายความว่า พระพุทธศาสนาเอาธรรมชาติแวดล้อมมาใช้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการศึกษาของคน คือในการที่จะพัฒนาคนให้มีจิตใจเจริญงอกงาม เป็นคนที่มีคุณธรรมต่างๆ นั้น ท่านใช้ธรรมชาติเป็นองค์ประกอบในการฝึกด้วย การที่เอาธรรมชาติแวดล้อมมาเป็นองค์ประกอบในการศึกษาของมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

การศึกษา ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปเรียนรู้ว่ามันเป็นอะไร แต่การศึกษาในที่นี้ หมายถึงการฝึกฝนพัฒนาชีวิตจิตใจคน

คนเรานี้ ถ้ามองธรรมชาติอย่างถูกต้อง ก็จะได้เรียนรู้จักและรู้จากธรรมชาติ ธรรมชาติจะช่วยขัดเกลาและสร้างเสริมคุณภาพของจิตใจได้ เริ่มตั้งแต่เป็นเครื่องชักจูงจิตใจให้โน้มไปสู่ความสงบ โน้มไปสู่ความมีเมตตาการุณย์ และความรู้สึกที่ประณีตอ่อนโยน ตลอดจนช่วยให้เกิดสมาธิ และการที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ รู้เท่าทันโลกและชีวิต

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงใช้ธรรมชาติแวดล้อมของป่าเป็นส่วนประกอบในการฝึกคน เช่น ให้พระที่บวชใหม่เข้าไปอยู่ในป่า ให้ไปได้รับวิเวก จิตใจจะได้โน้มไปสู่ความสงบ และใช้เป็นเครื่องช่วยในการปฏิบัติ เช่น การฝึกสมาธิ

เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงัด ปราศจากเสียงรบกวนและกิจกรรมที่วุ่นวาย ท่านเรียกว่ากายวิเวก คือความสงัดทางด้านกาย

เมื่อบรรยากาศทางด้านร่างกายสงัด โดยเฉพาะเมื่อไปอยู่ในป่า ในร่มไม้หมู่ไม้ที่มีความสงบ มีแต่ธรรมชาติ มีเสียงนกร้อง มีแต่เสียงหรีดหริ่งเรไร ฯลฯ ก็ช่วยชักนำจิตใจให้โน้มไปสู่ความสงบด้วย เมื่อจิตใจรู้สึกสงบ มีความอิ่มใจ สดชื่น โน้มน้อมไปในทางที่ดี ก็จะทำให้เกิด จิตวิเวก คือความสงัดทางจิตตามมา

เมื่อจิตใจสงบสงัด ไม่มีอารมณ์วุ่นวายใจเข้ามารบกวน มีสมาธิ ก็อยู่ในสภาพที่พร้อมจะฝึกฝนพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปอีก คือเอาจิตที่พร้อมดีอย่างนั้นแล้วไปใช้งาน ในการพินิจพิจารณาให้เกิดปัญญา เห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย ทำให้จิตใจเป็นอิสระที่เรียกว่าเป็น อุปธิวิเวก คือทำให้เกิดความสงัดจากกิเลสต่อไปในที่สุด

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.