คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จากการประนีประนอมในระบบขัดแย้ง
สู่ดุลยภาพในระบบเอื้อประสาน

ถ้าไม่สามารถแก้ฐานความคิดที่ว่านั้น มนุษย์ยุคต่อไปนี้จะอยู่กันด้วยจริยธรรมแห่งความกลัว เพราะอะไร เพราะว่ามนุษย์จะไม่สมัครใจหรือไม่เต็มใจทำตามหลักจริยธรรม แต่จำต้องฝืนใจประพฤติตามจริยธรรม เนื่องจากเกรงกลัวภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ตน

ที่ว่านี้หมายความว่า เมื่อมนุษย์เชื่อว่า เขาจะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม แต่เขาจะมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมได้อย่างไร เขาก็ต้องไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาจัดการใช่ไหม เมื่อมนุษย์เอาธรรมชาติมาเป็นทรัพยากร เขาก็ต้องทำลายธรรมชาติ แต่ถ้าเขาไปทำลายธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติแวดล้อมเสีย ภัยอันตรายก็จะเกิดแก่ตัวเขาเอง มนุษย์ก็แย่ ก็ทำลายธรรมชาติไม่ได้ เมื่อทำลายธรรมชาติไม่ได้ ก็ไม่ได้วัตถุบำรุงบำเรอตนเอง ก็ไม่ได้ความสุขสมใจ ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเอง ก็คืออยู่กับความทุกข์

อันนี้เป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า dilemma คือจะเอาทางไหนก็ไปไม่ได้ จะเอาความสุขให้เต็มที่ ก็ต้องทำลายธรรมชาติ แต่จะทำลายธรรมชาติ ตัวเองก็เดือดร้อน ทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ตามใจอยาก มนุษย์ก็ต้องอยู่ด้วยความฝืนใจ

ตกลงว่า มีตัวกีดขวางมากั้นไว้ เหมือนกับบอกว่า เธอต้องหยุดนะ เธอมีความสุขได้แค่นี้ เธอจะเอาความสุขมากกว่านี้อีกไม่ได้นะ เธอจะมีความสุขให้เต็มที่อย่างที่เธอต้องการไม่ได้เป็นอันขาด เพราะถ้าเธอจะมีความสุขให้เต็มอยาก เธอก็ต้องทำลายธรรมชาติ เมื่อเธอทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติก็ทำลายเธอด้วย ตกลงไปไม่รอด นี่แหละเป็นจุดติดตัน

ตอนนี้จริยธรรมตะวันตกมาติดตันอยู่ตรงนี้ คือเป็นได้แค่จริยธรรมแห่งการฝืนใจตัวเพราะความกลัวภัย ที่ว่าเราจะต้องประพฤติดีมีท่าทีที่เกื้อกูลต่อธรรมชาติ ต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ ต้องมีการบริโภคอย่างยับยั้ง ด้วยความฝืนใจ เพราะกลัวว่าภัยจะมาถึงตัว

ตั้งแต่เข้าสู่ยุคปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ฝรั่งเน้นย้ำเรื่องจริยธรรมกันยกใหญ่ เขาเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้จะแก้ไม่ได้เลย ถ้าคนไม่มีจริยธรรม แต่ฝรั่งก็มาได้แค่จริยธรรมแห่งความกลัว

จริยธรรมแห่งความกลัวนี้ไม่ดี มันทำให้มนุษย์พัฒนาแบบครึ่งๆ กลางๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงความสมบูรณ์ได้ ขัดขวางความสุข แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้จริง

จริยธรรมที่ดี ต้องเป็นจริยธรรมแห่งปัญญา ที่ทำให้มนุษย์ปฏิบัติการด้วยความรู้เหตุผล และเป็นจริยธรรมแห่งความสุขด้วย

จริยธรรมที่แท้ต้องตั้งอยู่บนฐานแห่งความสุข ที่คนมีความเต็มใจจะทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง คือ มีจิตใจที่จะเป็นอยู่และจะทำอย่างนั้นเอง กลมกลืนประสานสอดคล้องกัน และมีความสุขที่จะทำอย่างนั้น ที่จะประพฤติดีงามอย่างนั้น แล้วจริยธรรมจึงจะมีฐานที่มั่นคง

เพราะฉะนั้น ตอนนี้อารยธรรมมนุษย์จึงมาถึงจุดติดตัน ซึ่งทางตะวันตกยังไม่พบทางออกที่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ตะวันตกได้ยอมรับว่า ต้องเลิกแนวความคิดแยกตัวจากธรรมชาติ ต้องให้คนมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ตะวันตกยังไม่รู้จักแนวคิดที่จะมาแทนความเชื่อถือที่ว่ามนุษย์จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม

เมื่อมาติดอยู่ตรงนี้ การแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อม ก็มีความขัดแย้งในตัวเอง คือขัดแย้งที่ว่า เมื่อจะหาความสุขให้ได้มากๆ ก็ต้องไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาจัดการจัดสรรผลิตให้มีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมที่สุด แต่บัดนี้เราจะมีความสุขอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าเราทำอย่างนั้นธรรมชาติแวดล้อมก็เสีย เราจะแย่เอง เมื่อมาเจอจุดตันอย่างนี้ ก็เลยต้องใช้วิธี ประนีประนอม

การประนีประนอมก็คือ การที่ต้องยอมอดใจสละเว้นการที่จะเสพสุขให้สมอยาก โดยต้องยอมยับยั้งไม่เอาเต็มที่จากธรรมชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ธรรมชาติดำรงอยู่และเติบโตได้บ้าง ทั้งนี้ เพราะถ้าธรรมชาติอยู่ไม่ได้ ตนเองก็จะต้องดับสูญด้วย ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งความกลัว หรือ จริยธรรมแบบฝืนใจ หรือจะเรียกว่า จริยธรรมแห่งการประนีประนอม ก็ได้

ปัญหานี้ ถ้าจะแก้ ต้องแก้ด้วยหลักดุลยภาพ พอทำตามหลักดุลยภาพ ก็ทะลุรอดปลอดโปร่ง ผ่านโล่งไปได้เลย

แต่ดุลยภาพที่ว่านี้ ต้องหมายถึง ดุลยภาพขององค์รวมเบ็ดเสร็จ ที่ครอบคลุมชีวิตทั้งหมด รวมทั้งด้านจิตใจ คือต้องมีดุลยภาพทางจิตใจด้วย

เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาแค่รักษาดุลยภาพในระบบนิเวศทางด้านกายภาพอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีดุลยภาพในด้านจิตใจ คือต้องให้มีความสุขของมนุษย์ในการสัมพันธ์กับธรรมชาติ ตลอดจนการเข้าถึงอิสรภาพที่แท้จริงในที่สุดด้วย

หลักการนี้แหละ คือความสัมพันธ์ของมนุษย์กับป่า ใน แง่คุณค่าต่อชีวิตจิตใจและการพัฒนามนุษย์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.