คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
มองเห็นระบบปัจจัยสัมพันธ์แห่งสรรพสิ่ง

ต่อจากนี้เป็นขั้นลึกเข้าไปอีก ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับสิ่งที่ได้พูดมาแล้ว คือการมีปัญญาที่มองเห็นความจำเป็นในการรักษาดุลยภาพในระบบของการอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของสิ่งทั้งหลาย

ตอนนี้ก็เข้ามาสู่ระบบความคิดที่ว่า เรามองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติ คือระบบของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายว่า สิ่งทั้งหลายทุกอย่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีผลกระทบต่อกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งก็จะมีผลกระทบต่อส่วนอื่นด้วย อันนี้เรียกสั้นๆ ว่าเป็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือระบบปัจจัยสัมพันธ์

เมื่อเราสอนเรื่องความสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ก็คือการให้ปัญญาขั้นเข้าใจกฎธรรมชาติ ที่จำเป็นยิ่งสำหรับยุคปัจจุบันนี้

มนุษย์จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนี้ ซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ที่สิ่งทั้งหมด รวมทั้งมนุษย์ ต่างก็เป็นส่วนประกอบรวมอยู่ในระบบความสัมพันธ์อันเดียวกัน ที่จะต้องส่งผลกระทบต่อกัน

ความเข้าใจในเรื่องนี้ จะเป็นเครื่องบอกเหตุผลว่า ทำไมเราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อจะรักษาระบบความสัมพันธ์นี้ให้อยู่ในดุลยภาพ การที่เราพูดถึงระบบดุลยภาพแห่งนิเวศ และอะไรอื่นทำนองนั้น ก็เป็นเรื่องในขั้นนี้ทั้งนั้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.