คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

องค์รวมแห่งองค์ร่วมสามประสาน
คือฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งหมดนี้ ก็มาจากเรื่องรากฐานทางความคิดนั่นเอง ปัญหาอยู่ที่การมีฐานแห่งความคิดที่ผิด ซึ่งทางพระเรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ

เมื่อมีมิจฉาทิฏฐิ มนุษย์ก็จะคิดจะตั้งความมุ่งหมายและดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิด แล้วก็จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมกิจกรรมและกิจการนานัปการที่ผิด แล้วก็จะพัฒนาอารยธรรมไปในทางที่ผิด

เมื่อมีการพัฒนาที่ผิด ก็จะเกิดปัญหาแก่ชีวิตของตนเอง ทำให้ไม่ได้รับความสุขที่แท้จริง ชีวิตของตัวเองก็ไม่ได้รับผลที่ต้องการ แล้วก็เกิดปัญหาแก่สังคมต้องเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แล้วก็เกิดปัญหาแก่ธรรมชาติ เพราะจะต้องไปเบียดเบียนเอามาจากธรรมชาติ ไปทำลายธรรมชาติ เป็นปัญหา เกิดผลเสียไปหมด ทั้งชีวิตบุคคล คือตัวมนุษย์เอง ทั้งสังคม และธรรมชาติ

เป็นอันว่า องค์ประกอบทั้งสามส่วนในระบบของชีวิตที่ดีงาม เสียไปหมดเลย

ระบบที่ว่านี้ คือระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ หรือองค์รวมที่มีองค์ร่วม ๓ คือ

๑. ตัวมนุษย์เอง หรือชีวิตที่พร้อมด้วยกายและใจ

๒. สังคม

๓. ธรรมชาติ

การที่จะให้มนุษย์ดำรงอยู่ด้วยดี จะต้องให้องค์ทั้ง ๓ นี้ประสานกลมกลืนกันให้ได้ หรือปรับเข้ากันให้สัมพันธ์ได้สัดส่วนอย่างพอดี

แต่ขณะนี้ ด้วยวิธีพัฒนาแบบที่เป็นมา ที่ทางตะวันตกได้สำนึกผิดแล้วนั้น อารยธรรมมนุษย์ต้องมาอับจน เพราะเป็นการพัฒนาที่ทำให้องค์ทั้ง ๓ นั้นเกิดมีความขัดแย้งกัน ไม่สามารถจะประสานกลมกลืนกันได้

มนุษย์มององค์ทั้งสามนั้นอย่างเป็นปฏิปักษ์กัน ที่จะต้องชิงผลประโยชน์กันหรือเอาเปรียบกัน หรือเป็นเครื่องรับใช้สนองความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มองในลักษณะที่ต่างก็เป็นองค์ประกอบร่วมอยู่ในระบบเดียวกัน ที่ต้องอิงอาศัยส่งผลกระทบต่อกัน

เมื่อมองผิดพลาดขัดแย้งต่อความจริงอย่างนี้ เวลาทำก็เกิดผลเป็นความขัดแย้งที่เสียหายด้วย เช่น เพื่อให้ตัวมนุษย์ได้ ก็จะต้องเสียผลหายแก่ธรรมชาติ หรือต้องเกิดการเบียดเบียน แย่งชิงกันในสังคม และเมื่อธรรมชาติเสีย สังคมมีปัญหา ชีวิตมนุษย์แต่ละคนก็ไม่ได้สุขสมดังใจด้วย แล้วก็พากันแปรปรวนหมดทั้ง ๓ องค์ประกอบ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ได้ผลดี ก็ต้องให้องค์ประกอบทั้ง ๓ นี้มาประสานกลมกลืนกันให้ได้ ให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน หมายความว่า จะต้องทำให้เกิดความสัมพันธ์ในลักษณะที่กลายเป็นว่า สิ่งที่ดีแก่มนุษย์ก็ดีแก่สังคมด้วย สิ่งที่ดีแก่สังคมก็ดีแก่มนุษย์แต่ละคน แก่ชีวิต ทั้งกายและใจของเขา และสิ่งที่ดีแก่มนุษย์ก็ให้ดีแก่ธรรมชาติด้วย สิ่งที่ดีต่อธรรมชาติก็ดีแก่สังคมและดีแก่ชีวิตของมนุษย์ด้วย

ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ให้ ๓ ส่วนนี้มาประสานกลมกลืนสอดคล้องกันได้ ในระบบองค์รวมที่มีดุลยภาพ เมื่อนั้นคือความสำเร็จของการพัฒนามนุษย์ สิ่งที่เราเรียกว่า การศึกษา หรือ การพัฒนามนุษย์ ก็อยู่ที่นี่

ที่ว่ามานี้แหละ คือหลักพระพุทธศาสนาที่มองความหมายอย่างหนึ่งของการศึกษาว่า เป็นการพัฒนามนุษย์ให้สามารถทำให้ความแตกต่างที่อาจขัดแย้ง กลายเป็นการประสานกลมกลืน หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ไม่ทำความต่างให้แตกกัน แต่ทำให้ความต่างมาเติมกัน

ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นการศึกษาที่ผิด ก็ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้ง

ขณะนี้มีความแตกต่างและขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างผลประโยชน์ของมนุษย์ กับผลประโยชน์ของธรรมชาติแวดล้อม อะไรที่เป็นผลประโยชน์ของธรรมชาติ ก็เป็นความสูญเสียแก่ผลประโยชน์ของมนุษย์ อันใดเป็นการได้ผลประโยชน์แก่มนุษย์ ก็เป็นการสูญเสียแก่ธรรมชาติ เมื่อจะเอาธรรมชาติไว้ มนุษย์ก็สูญเสีย ถ้าจะให้แก่มนุษย์ ธรรมชาติก็เสีย

นี่คือระบบความแตกต่างแห่งผลประโยชน์ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ๓ ส่วนนี้

เราจะต้องหาทางให้ความแตกต่างนี้กลายเป็นความประสานกลมกลืนอย่างเกื้อกูลกันให้ได้ ซึ่งก็ยากเหมือนกัน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงให้ถึงรากฐานทางความคิด และไม่พัฒนามนุษย์ในแนวทางที่ว่ามาแล้ว ก็ไม่มีทางสำเร็จ แต่เราก็ไม่มีทางเลี่ยง ถ้าต้องการให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้มนุษย์เข้าถึงความสุข และอิสรภาพที่แท้จริง ก็ต้องพยายามทำให้ได้ตามหลักการที่กล่าวมานี้

ตอนนี้มันมาติดตันอยู่ตรงที่ว่า ยังแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างแห่งผลประโยชน์ระหว่าง ๓ ส่วนนี้ไม่ได้ และเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เรา(หมายถึงว่าตามฝรั่ง)ก็เลยใช้วิธีประนีประนอม เรียกว่าใช้จริยธรรมแห่งความกลัว หรือจริยธรรมแห่งการประนีประนอม

การที่จะเปลี่ยนจริยธรรมแห่งความกลัว มาเป็นจริยธรรมแห่งความสุข หรือเปลี่ยนจริยธรรมแห่งการประนีประนอม มาเป็นจริยธรรมแห่งความเอื้อประสานได้ จะต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเฉพาะป่านี้ อย่างถึงขั้นพื้นฐาน ให้มนุษย์มองเห็นและใช้ประโยชน์จากคุณค่าที่ป่าและธรรมชาติแวดล้อมทั้งหลาย มีต่อชีวิตจิตใจและการพัฒนาตนของมนุษย์

หลักการนี้จะช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อมที่ประสบอยู่ในปัจจุบันได้ มนุษย์จะก้าวหน้าไปในปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาที่จะกล่าวในตอนต่อไปได้จนถึงระดับสูงสุด แล้วเราก็จะหลุดออกจากสภาพปัญหาในปัจจุบัน สู่การแก้ปัญหาและสู่ความหวังที่จะเสวยผลสำเร็จของการแก้ปัญหานั้นได้ในอนาคต

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.