ทีนี้ เราจะกลับมาพูดถึงเรื่องป่ากันอีก ตอนนี้จะพูดเรื่องความสำคัญของป่า ที่จริงเรื่องนี้ก็พูดไปแล้ว แต่จะมาประมวลดูอีกที
ป่ามีความสำคัญอย่างไร เรื่องนี้มองได้หลายแง่
ถ้าจะพูดอย่างรวบรัด เรามองความสัมพันธ์ของคนกับป่าได้ ๔ แง่ คือ
(๑) ในแง่เศรษฐกิจ
(๒) ในแง่สังคม
(๓) ในแง่ระบบนิเวศ และอีกแง่หนึ่งที่ทั่วไปไม่มองกัน คือ
(๔) ในแง่ชีวิตจิตใจและการพัฒนามนุษย์
แง่ที่คนมองมากที่สุดคือ แง่เศรษฐกิจ คือมองในแง่ที่คิดหาทางว่าจะทำอะไรกับป่า เพื่อจะหารายได้ จะเอาอะไรไปขาย เพื่อเลี้ยงชีวิต เพื่อหาเงิน หรือเพื่อสร้างความร่ำรวย เช่น อย่างดีก็ปลูกป่าเพื่อเอาไม้ไปขาย อย่างร้ายก็ตัดไม้แบบทำลายป่า หรือแม้แต่ชาวบ้านเข้าไปในป่า ส่วนมากก็เข้าไปหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพซึ่งเป็นเรื่องของปัจจัยสี่ แล้วก็มองใน แง่สังคม มองใน แง่ระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการมองที่กว้างออกไป
ส่วนแง่ที่ ๔ นั้น เป็นด้านที่มักจะขาดไป แต่จะต้องถือว่าสำคัญมาก ถ้าจะแก้ปัญหานิเวศวิทยาให้ตก จะต้องทำให้ถึงขั้นนี้ด้วย คือจะต้องมองให้มาถึงขั้นที่สี่ ได้แก่ มองในแง่ความสัมพันธ์กับชีวิตจิตใจและการพัฒนาตัวเองของมนุษย์
ในแง่เศรษฐกิจ ถ้าลงไปดูในรายละเอียดสักนิดหนึ่ง ก็จะมองเห็นว่า ป่าเป็นแหล่งทรัพยากรของมนุษย์ โดยเฉพาะเป็นแหล่งของปัจจัยสี่ เช่น ชาวบ้านอาศัยป่าเป็นที่ไปหาอาหาร ทั้งพืชพรรณ เช่น เผือก มัน หน่อไม้ ผลไม้ และสัตว์บก สัตว์ปีก ตลอดจนฟืน ถ่านไฟสำหรับหุงต้ม ไม่ต้องพูดถึงความเป็นแหล่งน้ำต้นน้ำ
ในด้านเครื่องนุ่งห่ม ก็ไปนำเอาพวกพืชมาทอ มาปั่นฝ้าย ฯลฯ ในเรื่องที่อยู่อาศัย ก็ต้องเอาไม้มาสร้างบ้าน เอาแฝกเอาจากมามุงหลังคา และในด้านยารักษาโรค ก็ไปหาสมุนไพรต่างๆ ในป่า
เป็นอันว่า คนโบราณต้องอาศัยป่าทุกอย่าง ปัจจัยสี่ล้วนเอามาจากป่าทั้งนั้น ป่าเป็นแหล่งของปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
ถ้าชาวบ้านยังมีป่าดีอยู่ เขาจะไม่ต้องอาศัยระบบเศรษฐกิจเงินตราแบบปัจจุบัน ชาวบ้านจะอยู่ได้โดยอาศัยธรรมชาติ
แต่เมื่อไม่มีป่าหรือป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว มนุษย์ก็ต้องมาขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา ต้องหาเงินไปซื้อของมา ต่างจากคนโบราณที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน อยู่กับป่า กินกับป่ามาตลอด ตามคติที่ว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และในป่าก็มีสินทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาติ
นอกจากเป็นแหล่งปัจจัยสี่แล้ว ต่อมา เมื่อเราพัฒนาเศรษฐกิจกันมากขึ้น ป่าก็เป็นแหล่งผลิตผลที่มีรายได้ ตอนนี้เองที่มีคำว่า "รายได้” เข้ามา
การเป็นแหล่งปัจจัยสี่นั้น ไม่จำเป็นต้องมีรายได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเอาไปกินไปใช้บริโภคได้โดยตรง แต่ตอนนี้มันมีเรื่องรายได้เข้ามาแล้ว มีระบบเงินตราเข้ามา นี่คือระบบเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบพัฒนาแล้ว แต่ไม่ชัดว่าพัฒนาไปในทางที่เป็นประโยชน์หรือโทษมากแค่ไหน
เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องมองอย่างรอบคอบทั้งสองด้าน ว่ามีโทษและมีประโยชน์แค่ไหน อันนี้เป็นด้านที่หนึ่งที่สำคัญมาก
ในแง่สังคม ป่ามีส่วนสำคัญมากในการกำหนดวิถีชีวิตและลักษณะความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่อยู่ในป่าหรืออาศัยป่านั้น ตลอดจนอารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมดที่ต้องอาศัยป่า ตัวอย่างก็คืออารยธรรมโบราณที่เจริญมาในอดีต ล้วนแต่ต้องอาศัยธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลทั้งนั้น
ดังจะเห็นว่า อารยธรรมที่เจริญขึ้นมาแล้ว ต้องเจริญในที่ๆ อุดมสมบูรณ์ มีน้ำ มีป่า มีสัตว์และพืชพรรณพรั่งพร้อมบริบูรณ์ หรือมองในทางกลับกัน เมื่อป่า ดิน และน้ำที่เป็นสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ก็จะเป็นตัวกำหนดการดิ้นรนปรับตัวของมนุษย์ที่ทำให้อารยธรรมนั้นๆ มีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกันไป
อันนี้ก็ไปเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจอีกนั่นแหละ พอสภาพแวดล้อมของธรรมชาติเปลี่ยนไป พอป่าเปลี่ยนไป ดิน น้ำเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องก็เปลี่ยนไปด้วย การทำมาหาเลี้ยงชีพของมนุษย์ก็เปลี่ยนไป เช่น เคยอาศัยทำนา พอสภาพหรือปริมาณที่ดินเปลี่ยนไป ก็ต้องเปลี่ยนไปทำพืชอื่น
ตัวอย่างมีมากมาย เช่น ฝรั่งเขาศึกษาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมบางแห่ง อาจจะเป็นเมโสโปเตเมีย จีน หรืออียิปต์ก็ได้ เขาพบหลักฐานว่า ในยุคนี้มีการปลูกข้าวชนิดนี้ ต่อมาเนื่องจากการบริโภคและการพัฒนาอารยธรรมของคน ดินเสื่อมลง ดินเค็มมากขึ้น ข้าวชนิดนี้ทนไม่ได้สำหรับสภาพดินแบบนี้แล้ว ก็ต้องเปลี่ยนไปปลูกข้าวหรือพืชชนิดอื่น มีร่องรอยปรากฏให้เห็น และต่อมาปลูกอย่างนั้นไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนไปอีก
วิถีชีวิตที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจก็ส่งผลโยงไปทางด้านสังคมด้วย พอพืชที่ใช้เปลี่ยนเป็นชนิดที่ต่างออกไป หรือย้ายไปใช้สารหรือวัสดุอย่างอื่น วิถีชีวิต เช่น การใช้เวลา การแบ่งหน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็เปลี่ยนไปตาม แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด
อย่างในปัจจุบัน เมื่อป่าหดหาย ไม้หายาก คนต้องหาหรือประดิษฐ์วัสดุก่อสร้างอย่างอื่นขึ้นมาใช้ บ้านเรือนร้านค้าอาคารและสภาพบ้านเมืองการเป็นอยู่ก็เปลี่ยนไป แต่ไม่เท่านั้น สภาพดินน้ำลมไฟ หรือดินฟ้าอากาศ ก็ผันแปร ต้นน้ำลำธารเหือดแห้ง น้ำท่วมตูมตาม แต่มีภัยแล้ง ฯลฯ ผู้คนต้องย้ายถิ่นบ้าง เปลี่ยนอาชีพบ้าง ตามมาด้วยภัยพิบัติอื่นๆ ที่แผ่กว้างและยาวไกล ชนิดที่เกินคิดเกินคาด อาจถึงกับเกินกว่าที่คนจะทนอยู่ได้
เพราะฉะนั้น ป่าจึงมีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม ทำให้สังคมเปลี่ยนไป อย่างน้อยที่สุดเฉพาะหน้า ป่าก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวชุมชนไว้ โดยทำให้คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น มีความเป็นอยู่ที่ร่วมกัน อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เกิดเป็นกลุ่มเป็นหมู่ได้