คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จะอนุรักษ์ป่าได้
ต้องขยายความคิดของคน

นอกจากที่ว่ามา ป่าเป็นแหล่งอำนวยให้ความสุขความสดชื่นรื่นรมย์ มนุษย์ปัจจุบันจึงใช้ป่าเป็นที่ท่องเที่ยวด้วย ดังที่เรามีวนอุทยานและสวนพฤกษชาติต่างๆ อันนี้ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากป่าในแง่สังคมส่วนหนึ่ง แสดงว่ามนุษย์สมัยนี้ก็ยังมีความรู้สึกในเรื่องการชื่นชมความงามของธรรมชาติ ให้ธรรมชาติเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดมีความสุข ซึ่งเป็นบทบาททางด้านจิตใจ เป็นบทบาทของป่าในด้านสุนทรีย์

ป่าจึงเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของบ้านเมือง แม้แต่สังคมกรุงหรือเมืองหลวง ก็ต้องสร้างสวนพฤกษชาติไว้

ในเรื่องนี้ ก็อย่างที่บอกแล้วข้างต้น ในทางพระพุทธศาสนา การใช้ประโยชน์แง่นี้จะโยงต่อไปสู่ความสำคัญของป่าในแง่ที่สี่ คือการเอาป่าและธรรมชาติแวดล้อมมาเป็นปัจจัยเสริมในการพัฒนามนุษย์ เป็นเครื่องโน้มจิตเข้ามาสู่วิเวก สู่การบำเพ็ญภาวนา เพื่อการพัฒนาจิตใจและคุณธรรม เริ่มตั้งแต่การทำให้เกิดท่าทีความรู้สึกที่ดี มีความประณีต ความละมุนละไม การมีความรู้สึกอ่อนโยนเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ จนเข้าถึงสัจจธรรม

แต่ตามที่ปฏิบัติกันอยู่ในโลกของการพัฒนานั้น ไม่ได้มองประโยชน์ทางจิตใจมาถึงขั้นนี้ เขามองแค่จะหาความสุขทางผัสสะจากธรรมชาติของป่าไม้ ตามแนวคิดเอาธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ หรือเป็นเครื่องบำเรอความสุขของมนุษย์เท่านั้น

ในแง่ระบบนิเวศ ป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันนี้คนในประเทศที่พัฒนาแล้วได้รู้ตระหนักถึงภัยร้ายแรงของการทำลายธรรมชาติให้เสียดุล จึงเน้นกันนักหนาในเรื่องระบบนิเวศและการรักษาดุลยภาพในระบบนิเวศ ในเมื่อเขาพูดกันมากแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพูดอีกในที่นี้ เพียงแต่ยกมาอ้างอิงเพื่อวางเป็นหลักไว้ให้เห็นว่า บทบาทของป่ามีเรื่องนี้อยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การมองในแง่ระบบนิเวศนี้ ว่าที่จริงเป็นการมองความสัมพันธ์ในธรรมชาติข้างนอก ระหว่างสัตว์และพืช กับสิ่งแวดล้อมของมันเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ เพราะตามหลักวิชาเดิมในแนวตะวันตก ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศนั้น ก็มาจากฐานความคิดที่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ ดังนั้นคำว่า นิเวศวิทยา ที่แท้ของตะวันตกเดิม จึงไม่ได้เกี่ยวกับมนุษย์

แต่ก่อนนั้น นิเวศวิทยาของฝรั่งเป็นเรื่องของพืชและสัตว์เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ ต่อมาตอนหลังจึงมีนิเวศวิทยาประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ แต่ก็เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในแง่ที่มนุษย์จะไปเอาประโยชน์จากระบบนิเวศของพืชและสัตว์เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่มนุษย์จะไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วยดีกับสิ่งมีชีวิตอื่น (พืช และสัตว์) ไม่ใช่อย่างนั้น

นิเวศวิทยาประยุกต์เป็นเรื่องของการที่จะเอานิเวศหรือธรรมชาติแวดล้อมมาใช้ประโยชน์อย่างไร เพื่อรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์

จนกระทั่งมาช่วงท้ายนี้จึงมี Human Ecology หรือมนุษยนิเวศวิทยาขึ้นมาเป็นของใหม่ แต่นิเวศวิทยาเดิมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้มองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่มองในแง่หาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่นสัตว์และพืช เพื่อหาประโยชน์จากมัน ไม่ใช่เพื่อจะอยู่ร่วมกับมันด้วยดี อันนี้เป็นแนวคิดของเดิมแบบตะวันตก

ปัจจุบันนี้ การมองในแง่ระบบนิเวศได้โยงเข้ามาหาตัวมนุษย์มาก เอาผลกระทบต่อมนุษย์เป็นจุดเน้น การที่เราต้องรักษาป่า ก็เพราะว่าป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศ แล้วดุลยภาพนี้ก็จะโยงมาถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย เพราะดุลยภาพทำให้สภาพแวดล้อมดำรงอยู่ด้วยดี เมื่อสภาพแวดล้อมอยู่ดี มนุษย์จึงอยู่ได้

อย่างไรก็ดี เรื่องดุลยภาพในระบบนิเวศที่พูดกันทั่วไปนั้นเป็นการมองในด้านกายภาพ หรือทางด้านวัตถุ แต่มีดุลยภาพอีกอย่างหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึง ดุลยภาพอันนี้มีความสำคัญที่จะเป็นรากฐานให้เราสามารถรักษาดุลยภาพในด้านกายภาพไว้ได้ด้วย ดุลยภาพนี้คือดุลยภาพอะไร

ดุลยภาพนี้จะต้องรวมองค์ประกอบทุกอย่างของชีวิตที่ดีงามและความสุขของมนุษย์ไว้อย่างครบถ้วน จนเราเรียกได้ว่าเป็นดุลยภาพขององค์รวมที่สมบูรณ์

การที่มนุษย์จะอยู่ดีได้ เขาจะต้องมีองค์ประกอบทางจิตใจ เช่นความสุขด้วย ดุลยภาพแห่งองค์รวมของชีวิตที่ดีงาม มีความหมายที่กว้างลึกและครอบคลุมยิ่งกว่าจะเป็นเพียงระบบนิเวศเท่านั้น และดุลยภาพที่สมบูรณ์นี้แหละจะเป็นฐานของการรักษาระบบนิเวศด้วย ดุลยภาพที่ว่านี้เป็นอย่างไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.