การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ต้องจัดระบบและโครงสร้างให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติการสื่อสารได้อย่างมั่นใจ

ต่อไปก็จะพูดถึงเรื่องที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้ย้ำ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ อาจารย์หมอประเวศ วะสี จะย้ำเรื่องโครงสร้าง อาตมภาพจะไม่ลงลึกไปในสิ่งที่ท่านพูด แต่อยากจะโยงเรื่องที่ท่านพูดไปหาหลักการทางพระพุทธศาสนา เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพด้วย

การที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี พูดถึงเรื่องโครงสร้าง และย้ำเรื่องโครงสร้างนักหนานี้ เป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า อย่าลืมหลักที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เพราะว่าพุทธศาสนิกชนปัจจุบันมีความโน้มเอียง หรือได้ก้าวเลยไปแล้วในแง่ที่จะเน้นแต่เรื่องของจิตใจ เรื่องของนามธรรม เรื่องของบุคคล เช่นอาจจะพูดว่า ถ้าแต่ละคนดี สังคมก็จะดี ถ้าจิตใจดี กิจการและอะไรต่างๆ ก็จะดีด้วย การพูดอย่างนี้ก็เหมือนกำปั้นทุบดิน ซึ่งก็ถูก

ถ้าแต่ละคนดีประกอบกันเข้าเป็นสังคม ก็เป็นสังคมที่ดี แต่เราจะต้องถามต่อไปว่า แล้วทำอย่างไรจะให้แต่ละคนดีล่ะ นี่แหละจึงมีสิ่งที่จะต้องทำเหนือจากนั้น คือไม่ใช่หยุดอยู่แค่เรื่องบุคคล ตรงนี้แหละที่เรื่องของการจัดตั้ง เรื่องของระบบ เรื่องขององค์กร เรื่องของโครงสร้าง จะต้องเข้ามา และเราจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ในพระพุทธศาสนาว่ามีหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ชัดเจน พระพุทธเจ้าตรัสครั้งไรก็ทรงเรียกพระพุทธศาสนาว่าประกอบด้วยธรรมกับวินัย ชื่อของพระพุทธศาสนา คือ ธรรมวินัย

ธรรมนั้นเป็นเรื่องของความจริง ซึ่งเกิดจากการที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติแล้วนำเอาความรู้ความเข้าใจในความจริงของธรรมชาตินั้นมาแสดง เพื่อให้คนเอาความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน ทั้งนี้เพราะชีวิตของแต่ละคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ย่อมเป็นไปตามความจริงของกฎธรรมชาติ พูดด้วยสำนวนหนึ่งว่าแต่ละชีวิตรับผิดชอบต่อความจริงของธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความจริงของธรรมชาตินี้เกิดประโยชน์แก่หมู่มนุษย์จำนวนมาก พระพุทธเจ้าจึงไม่หยุดอยู่แค่เพียงรู้ความจริงแล้วนำ(ความรู้ใน)ความจริงมาแสดงแก่บุคคลทีละคนไปเรื่อยๆ แต่พระองค์ได้ทรงจัดตั้งองค์กรหรือชุมชนขึ้นมา ที่เรียกว่า "สังฆะ" หรือสงฆ์ และทรงจัดวางระเบียบการดำเนินชีวิต และระบบแห่งการอยู่ร่วมกันและการดำเนินกิจการส่วนรวมในสังคมขึ้นมาด้วย

การจัดตั้งสังฆะนี้ก็คือ วินัย สงฆ์หรือชุมชนเกิดขึ้นโดยมีวินัยเป็นเครื่องจัดตั้งวางระเบียบ ระบบการอยู่ร่วมกัน ระบบความสัมพันธ์และการจัดสภาพแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้ธรรมเกิดผลเป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์จำนวนมาก

ฉะนั้น ทั้งธรรม และวินัย คือ ทั้งความจริงของธรรมชาติ และการจัดตั้งในสังคมมนุษย์ ๒ อย่างนี้จึงมีความสำคัญมากเป็นคู่กัน กล่าวคือ เราจะต้องรู้ความจริง แล้วนำเอาความจริงนั้นมาใช้โดยปฏิบัติการบนฐานของความจริงนั้นเพื่อให้ชีวิตและสังคมของเราดำรงอยู่ด้วยดี ถ้าจะพูดแยกเป็นขั้นตอนก็บอกว่า ในแง่ของชีวิต แต่ละคนจะต้องเข้าถึงตัวธรรมคือ ความจริง แต่เพื่อให้ธรรมคือความจริงนั้นเกิดประโยชน์แก่คนกว้างขวางออกไป เราก็จัดสภาพสังคมด้วยวินัยให้เอื้อต่อการที่บุคคลแต่ละคนจะได้เข้าถึงความจริงนั้น โดยจัดตั้งระบบชุมชนที่เรียกว่า "สังฆะ" ขึ้นมา

สังฆะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีสังฆะ ธรรมที่เป็นความจริงในธรรมชาตินั้นก็จะไม่ปรากฏแก่ประชาชนได้กว้างขวางและยืนนาน และสังฆะนั้นก็เป็นชุมชนที่เอื้อโอกาสให้แต่ละคนเข้าไปได้ประโยชน์จากธรรม

ชาวตะวันตกเขายอมรับและกล่าวไว้ว่า สังฆะ หรือสงฆ์ คือชุมชนจัดตั้งในพระพุทธศาสนานี้ เป็นองค์กรที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ไม่มีองค์กรใดในโลกมีอายุยืนยาวเท่าสังฆะ ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประดิษฐานไว้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ และน่าศึกษามากว่า สังฆะที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นนี้มีโครงสร้างอย่างไร มีระบบความสัมพันธ์ในชุมชนอย่างไร มีความสัมพันธ์กับตัวความจริงของกฎธรรมชาติอย่างไร และเป็นระบบการจัดตั้งที่มีประสิทธิภาพเพียงใดในการนำคนเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ ตลอดจนกระทั่งว่าสังฆะที่ว่านั้น มาถึงปัจจุบันนี้ ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ โครงสร้างแห่งระบบความสัมพันธ์ต่างๆ ยังคงอยู่ดี หรือมีการผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปแค่ไหน

ในเมืองไทยดูเหมือนว่าเราไม่ได้ก้าวไปถึงหลักการแห่งธรรมและวินัยกันอย่างชัดเจนเลย เราพูดถึงวินัยโดยมองแค่ระเบียบและข้อกำหนดในพุทธบัญญัติที่เกี่ยวกับการเป็นอยู่ของพระ เราไม่ได้นึกว่าที่จริงนั้นวินัยคือการจัดตั้งองค์กร ระบบระเบียบ และโครงสร้างทั้งหมดของสังคม มีทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง ระบบการยุติธรรม และระบบการดำเนินกิจการทุกอย่างของชุมชน

รวมความแล้วจะต้องระวังไว้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่มีแต่ธรรมอย่างเดียว แต่มีสิ่งที่เรียกว่าวินัย ซึ่งเป็นเรื่องของรูปแบบ ระเบียบ ระบบ และโครงสร้างอย่างที่ว่ามานี้ด้วย แต่ก็จะขอผ่านไป เพียงแต่พูดเป็นข้อที่ให้สังเกตกันไว้ เพราะธรรมกับวินัยนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เท่ากับทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.