การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ยุคปัจจุบัน ถ้าจะประเมินผลการศึกษา จุดสำคัญหนึ่ง คือดูที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี

ขอย้อนมาพูดเรื่องค่านิยมเสพบริโภค โดยโยงกับเรื่องเทคโนโลยีซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของยุคปัจจุบัน

ในเรื่องนี้ สำหรับสังคมไทยของเรา สภาพที่ปรากฏเด่น ก็คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพ บริโภค บำรุง บำเรอ ปรนเปรอ เด็กๆ ไม่ได้รับการศึกษาที่ถูกต้องที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและสร้างสรรค์

สังคมไทยของเรานั้นเด่นมากในเรื่องนี้ ลองสำรวจดูซิว่าคนไทยส่วนมากใช้เทคโนโลยีเพื่ออะไร ใช้เพื่อเสพบริโภค หรือใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์มากกว่ากัน

ขณะที่สังคมอย่างอเมริกัน กำลังก้าวเข้าสู่ระบบค่านิยมบริโภค โดยมีค่านิยมผลิตที่ติดมาจากภูมิหลังยังดุลกันอยู่ สังคมไทยของเรามีแต่ค่านิยมบริโภคอย่างเดียว โดยไม่มีค่านิยมผลิต

ถ้าสังคมที่พัฒนาอย่างอเมริกันใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพมาก ก็มีหวังว่าจะต้องทำให้โลกสูญเสียสันติภาพ เพราะต้องเอาเปรียบทั้งมนุษย์พวกอื่นและรังแกธรรมชาติมาก ถ้าสังคมที่กำลังพัฒนาอย่างไทยใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพบริโภคมาก สังคมไทยก็จะต้องเสื่อมโทรมและยิ่งล้าหลัง โดยตกเป็นเหยื่อที่เป็นเหตุให้โลกยิ่งมีการเอาเปรียบกันมาก แต่ถ้ามนุษย์รู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อศึกษาและสร้างสรรค์มากขึ้น ก็มีทางที่โลกนี้จะพัฒนาไปในทางที่ถูกต้องและมีสันติภาพ และอารยธรรมก็จะยั่งยืน

เพราะฉะนั้นจึงจะต้องพิจารณากันตั้งแต่การเลี้ยงเด็กเลยว่า เด็กของเราหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยีมาก หรือหาความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีมาก ถ้าเด็กหาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีแล้ว ตัวเด็กเองก็จะพัฒนา และเด็กนั้นก็จะเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมได้ แต่เวลานี้ เด็กๆ ของเราส่วนมากใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพกันเต็มที่

เคยถามแม้แต่เด็กๆ ชั้นประถม ก็ตอบว่าใช้โทรศัพท์เพื่อเสพเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ใช้เพื่อการศึกษาน้อยมาก ไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเด็กไทยเป็นอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้น เราจะมีความหวังอะไรให้แก่สังคมไทย ตลอดจนแก่มนุษยชาติ เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาว่าเราจะให้การศึกษาเด็กไทยอย่างไร

ขอให้ช่วยกันดูว่า ถ้าเด็กมีการศึกษาที่ถูกต้อง เขาจะเริ่มใช้ตา หู จมูก ลิ้นเพื่อการศึกษา และใช้มือและสมองเพื่อคิดและทำการสร้างสรรค์ แล้วเทคโนโลยีก็จะมาเป็นปัจจัยสนองความต้องการในการเรียนรู้และการสร้างสรรค์นี้ พร้อมกันนั้นเขาก็จะมีความสุขและหาความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์

จุดเริ่มที่สังเกตได้ง่าย อยู่ที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แต่ขณะนี้ เมื่อยังใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพ ก็จึงหมายถึงไม่มีการศึกษานั่นเอง เราจะเลือกเอาการศึกษาที่เป็นเพียงรูปแบบ ซึ่งมีสักแต่ชื่อว่าเป็นการศึกษาเท่านั้น ซึ่งพัฒนาคนไม่ได้ หรืออาจจะลดคุณภาพคนลงไปอีก หรือจะเลือกเอาการศึกษาแท้ที่พัฒนาคนและนำสันติสุขมาให้แก่สังคม

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม ที่จะต้องคิดกันให้จริงจัง เนื่องจากไม่ว่าสังคมไหน จะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถึงกันหมด และจะไหลบ่าเข้าไปครอบงำ สังคมใดจะอยู่ดีได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าจะมีกำลังนำหรือภูมิต้านทานแค่ไหน

บางสังคมมีพื้นฐานดีที่ได้สร้างหรือสะสมความเข้มแข็งในการสร้างสรรค์ ปลูกฝังนิสัยใจคอที่มีความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก เป็นนักศึกษาหาความรู้และเป็นนักผลิตมาก่อน ก็ถูกกระแสนี้กระหน่ำเอาน้อยหน่อย หรือไม่ก็กลายเป็นผู้นำหรือผู้สร้างกระแส ตลอดจนถึงกับหาผลประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ไปเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังจะเซ อย่างสังคมตะวันตกที่มีพื้นฐานสะสมมามากในด้านความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ เมื่อมาถึงเวลานี้ก็ยังถูกกระหน่ำเอาหนัก

ส่วนในสังคมไทยของเรา เรื่องความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้เราต้องยอมรับว่าเบาหรืออ่อนเหลือเกิน เพราะฉะนั้นก็จะถูกกระแสของลัทธิบริโภคนิยม และระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ครอบงำชักจูงไป หรือเอาเป็นเหยื่อได้เต็มที่ ถ้าเราไม่รีบรู้ตัวตื่นขึ้นมา แล้วตั้งหลักให้การศึกษาที่ถูกต้อง นอกจากแก้ปัญหาที่มีอยู่ไม่ได้แล้ว ก็จะถูกโถมกระหน่ำซ้ำเติมอย่างรุนแรง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.