เรื่องธรรมาธิปไตยนี้ก็สับสนกันมาก เช่น ไปพูดกันว่าจะเอาประชาธิปไตย หรือธรรมาธิปไตย เหมือนกับว่าสองอย่างนี้เป็นระบอบการปกครองสองแบบที่จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นเรื่องของการเข้าใจคลาดเคลื่อน
เคยมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แกไม่เคยมาถามอาตมภาพเลย แล้วไปเขียนเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับประชาธิปไตยในทัศนะบุคคลต่างๆ ว่าคนนี้เห็นว่าอย่างนั้น คนนั้นเห็นว่าอย่างนี้ พอมาถึงอาตมภาพ เขาก็บอก ว่าพระธรรมปิฎกว่าต้องปกครองแบบธรรมาธิปไตย นี่เขาคิดเอาเอง และพูดเรื่อยเปื่อย ซึ่งไม่ถูกเลย
เรื่องนี้เท่าที่ได้ยินได้ฟัง ยังสับสนวนเวียนกันอยู่มาก พวกหนึ่งก็วุ่นวายอยู่แต่กับรูปแบบหรือตัวระบบของประชาธิปไตย ว่าจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่แค่เปลือกนอก อีกพวกหนึ่งก็เอาแต่เที่ยวบ่นไปว่าประชาธิปไตยก็ไม่ดี ต้องเป็นธรรมาธิปไตย มองในแง่หนึ่งว่า ถ้าเรื่องแค่ขั้นนี้เราก็ยังไม่ชัดเจน ยังเริ่มต้นไม่ได้ แล้วเราจะไปไหนกัน
อย่างที่บอกแล้วว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้งสาระและรูปแบบ “ประชาธิปไตย” เป็นคำสมัยใหม่ สมัยโบราณแม้จะเคยมีการปกครองทำนองนี้ แต่ไม่ได้ใช้คำนี้ ประชาธิปไตยนี่เป็นระบบ เป็นรูปแบบ เป็นการจัดตั้งวางแบบแผนในสังคมมนุษย์ แต่สาระที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นจริงขึ้นมาได้นั้นคืออะไร
ประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบการปกครองของสังคม จะสำเร็จผลตามจุดหมาย ก็ขึ้นต่อคุณสมบัติที่มีในตัวคน คือประชาชนแต่ละคนที่มาร่วมในการปกครองนี่แหละ เพราะประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม หมายความว่า ประชาชนแต่ละคนที่จะไปเป็นส่วนร่วมต้องมีคุณสมบัติ คือมีสติปัญญาคุณธรรมความสามารถที่จะไปดำเนินการให้ประชาธิปไตยเป็นไปได้
คุณสมบัติในแต่ละคนที่จะให้ไปร่วมกันปกครองให้เป็นประชาธิปไตยที่ดีได้ ก็คือ ธรรมาธิปไตย ซึ่งหมายความว่าแต่ละคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่ คือยึดถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผล ถือหลักการ ตลอดจนกฎกติกาเป็นใหญ่ เป็นมาตรฐาน หรือเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ถ้าพูดสั้นๆ หลักการนั่นเองคือธรรม และธรรม คือหลักการนั้นมี ๒ ระดับ
๑. หลักการคือตัวความจริง ความถูกต้อง ดีงาม ความเป็นเหตุเป็นผลในสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นความจริงอยู่โดยธรรมดา ในธรรมชาติ และ
๒. หลักการที่มนุษย์บัญญัติจัดวางขึ้น โดยใช้ปัญญาพิจารณาถึงความจริง ความถูกต้อง ดีงาม ที่มีอยู่เป็นนามธรรมนั้นแล้ว ยกขึ้นมาตั้งเป็นข้อกำหนดในสังคม ให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติตาม เช่นวางเป็นกฎเกณฑ์ กติกา หรือกฎหมาย
ทั้งสองอย่างนี้เราเรียกว่าหลักการทั้งคู่ คือเรียกว่าธรรมนั้นแหละ “ธรรม” ในความหมายเดิมขั้นพื้นฐานหมายถึง ตัวนามธรรมที่เป็นหลักการของความจริงหรือกฎธรรมชาติ ต่อจากนั้นเพื่อให้ธรรมคือหลักการแห่งความจริงความถูกต้องที่เป็นนามธรรมนั้นเกิดผลปฏิบัติในหมู่มนุษย์หรือในสังคม เราจึงใช้สติปัญญานำเอาความรู้ในธรรมนั้น มาจัดตั้งเป็นหลักการที่จะยึดถือกันในสังคม เป็นหลักการตามตกลง เป็นกฎหมาย หรือกฎมนุษย์ ดังเช่นคำว่า “ธรรมศาสตร์” (วิชาว่าด้วยธรรม) ซึ่งหมายถึง วิชากฎหมาย ก็คือตัวหลักการตามความจริงความถูกต้องทางนามธรรม ที่มนุษย์ยกขึ้นมาจัดตั้งวางแบบแผนให้เป็นรูปธรรมในสังคม
ถ้าบุคคลผู้ใดยึดถือธรรม คือหลักการตามความหมาย ๒ อย่างข้างต้นนั้นเป็นใหญ่ คือเป็นมาตรฐานหรือเกณฑ์ในการตัดสินใจ บุคคลผู้นั้นก็เป็นธรรมาธิปไตย
เพราะฉะนั้น ธรรมาธิปไตยจึงเป็นคุณสมบัติของคน คือการที่เขายึดถือธรรม เอาหลักการ ความจริง ความดีงาม ความถูกต้อง เหตุผล และกติกา หรือกฎหมายที่ยุติธรรม เป็นใหญ่ หรือเป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยจะต้องมีปัญญา ที่รู้หลักการ รู้ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ตลอดจนกฏกติกานั้น จึงเป็นการบังคับว่าจะต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา โดยมีเจตจำนงมุ่งในจุดประสงค์ที่แน่วแน่ คือการที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ทั้งหมดที่ว่านี้เป็น “ธรรม” ทั้งสิ้น คือตัวหลักการ ความจริง ความดีงาม ความถูกต้อง ความเป็นเหตุผล ก็เป็นธรรม ปัญญาที่รู้ความจริง หรือหลักการนั้นก็เป็นธรรม เจตจำนงที่มุ่งสร้างสรรค์สังคม คือเมตตาก็เป็นธรรม ถ้ามีปัญญารู้หลักการ รู้ความจริง รู้เหตุผล พร้อมทั้งมีเมตตาที่ปรารถนาดีต่อกัน มุ่งเพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน ให้สองอย่างนี้มาประสานกันเข้า โดยถือเอาธรรมเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยก็จะมีเนื้อหาสาระ
เมื่อคนที่เป็นธรรมาธิปไตยนั้นมาปฏิบัติการต่างๆ โดยใช้ระบบประชาธิปไตยที่จัดตั้งไว้เป็นสื่อและเป็นเครื่องมือดำเนินการ เพียงแค่นี้ก็จะเกิดเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นว่าประชาธิปไตยจะเกิดมีเป็นจริงได้อย่างไร ในขณะที่ประชาธิปไตยเป็นระบบหรือรูปแบบสำหรับสื่อสาระ แต่ถ้าสาระที่มันสื่อนั้น คือผลประโยชน์และอำนาจ นี่ก็คือคนไม่เป็นธรรมาธิปไตย แต่เป็นธนาธิปไตย คือถือทรัพย์เป็นใหญ่ ถือผลประโยชน์เป็นใหญ่ หรือเป็นอาณาธิปไตย คือถืออำนาจเป็นใหญ่ หรือถือพวกพ้องเป็นใหญ่ พูดง่ายๆ ว่าถูกครอบงำด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิ
ถ้าระบบประชาธิปไตยไม่สื่อธรรม แต่กลับไปสื่อตัณหา มานะ ทิฏฐิแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ตอบว่าเกิดได้สาระพัด นอกจากประชาธิปไตย
ว่ากันตรงๆ เรื่องประชาธิปไตยนี้ก็ง่ายๆ มีนิดเดียว คือให้ทุกคนถือธรรมเป็นใหญ่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนถึงตาสายายมีหรือตาสียายมา ให้เป็นธรรมาธิปไตยทั่วกัน ประชาธิปไตยแทบจะพูดได้เลยว่ามีแค่นี้ ที่เกินจากนี้ก็เป็นเรื่องของรูปแบบคือระบบการจัดบริหารดำเนินการต่างๆ เช่นการเลือกตั้งเป็นต้น ซึ่งมีตัวอย่างที่ทำกันทั่วโลกมากมาย หาไม่ยาก เพียงแต่เอามาจัดปรับให้เข้ากับกาลเทศะของตัว
เมื่อทุกคนที่อยู่ในระบบประชาธิปไตย แต่ละคนเป็นธรรมาธิปไตย คนที่สมัครรับเลือกตั้งก็เอาธรรมเป็นใหญ่ อย่างน้อยมีความอยาก มีความปรารถนา มีความต้องการ มุ่งมั่นที่จะเข้าไปช่วยสร้างสรรค์ให้สังคมเจริญ ก้าวหน้ามีสันติสุข คนที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ก็เอาธรรมเป็นใหญ่ อย่างน้อยก็ตัดสินใจเลือกคนที่เชื่อได้ว่าเป็นคนดีมีความสามารถและจริงใจที่จะไปทำงานให้แก่ประเทศชาติ แค่นี้ประชาธิปไตยก็เริ่มต้นได้
ส่วนตัวคนที่จะให้มีคุณสมบัติเป็นธรรมาธิปไตย และให้รู้จักเป็นอยู่ด้วยระบบประชาธิปไตยนั้น ก็เอาการศึกษาที่ถูกต้องมาพัฒนา
เรื่องทั้งหมดก็เท่านี้เอง ไม่น่าจะมัวงุ่มง่ามนัวเนียเสียเวลากันไปนักหนา เรื่องที่จะต้องทำในทางสร้างสรรค์อื่นๆ ยังมีอีกมากมาย แค่นี้ก็ยังไม่ไปไหน ที่ไปไม่ได้ ไม่ใช่อะไร ก็เพียงแค่เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่กันไม่ได้ เท่านั้นเอง