การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สุขที่ก่อปัญหา ไม่อาจพาสันติภาพมาให้

แต่เรื่องไม่ใช่แค่นั้น การมองไปที่สิ่งต่างๆ เพื่อเสพ ก็คือการมองในแง่ที่ว่า ตนเองจะได้รับการบำรุง บำเรอ ปรนเปรอ โดยไม่ต้องทำอะไร ความสุขจากการเสพก็คือ การไม่ต้องทำอะไร และต่อไปการกระทำจะมีความหมายเป็นความฝืนใจ เป็นตัวกีดขวางความสุขจากการเสพ และจึงเป็นความทุกข์

คนที่เป็นนักเสพนี้จะไม่มี “ความต้องการทำ” จะมีแต่ “ความต้องทำ” คือจำใจทำและฝืนใจทำ เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่มีความสุขจากการทำ แต่มีทุกข์จากการทำ ถ้าต้องทำอะไรก็คือทุกข์ การกระทำกลายเป็นความทุกข์ แต่เขาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกระทำได้ เพราะในกรณีทั่วไป การที่จะได้สิ่งที่ต้องการมาเสพ เขาจะต้องทำ เพราะฉะนั้นก็ฝืนใจและจำใจทำ เพราะเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้สิ่งเสพที่ตนต้องการ เขาจึงต้องพบความทุกข์จากการที่ต้องทำอยู่เสมอและมากมาย และสังคมมนุษย์ก็ต้องจัดตั้งระบบ เงื่อนไขและการควบคุมขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ทำการต่างๆ โดยที่จิตใจเขาไม่ได้มีความสุขในการกระทำนั้น ซึ่งเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมวิปริตไป

แต่ถ้ามนุษย์ก้าวเดินไปในทางที่ถูกต้อง เขาจะพัฒนายิ่งขึ้นไปในการศึกษาจนเกิดความใฝ่สร้างสรรค์ และมีความสุขจากการกระทำ เราจะเห็นได้ว่ามนุษย์พวกนี้สามารถทำอะไรที่เป็นการหาความรู้หรือทำการสร้างสรรค์จนลืมกินลืมนอนและไม่คิดถึงการที่จะหาอะไรเอร็ดอร่อยมาเสพ เพราะมีความสุขจากการศึกษาค้นคว้า และจากการกระทำหรือจากการสร้างสรรค์

ถ้าไม่มีความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์จากการศึกษาที่แท้นี้แล้ว เราจะไม่มีนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ จะไม่มีมหาบุรุษ ไม่มีคนที่มาบุกเบิกวิชาการต่างๆ การที่โลกก้าวหน้ามาได้ก็เพราะมีคนแบบนี้ เช่น ไอน์สไตน์ที่ต้องการรู้ความจริงของธรรมชาติ จนอุทิศเวลาอุทิศแรงงานอุทิศชีวิตให้แก่การศึกษาความจริงของธรรมชาติ และการศึกษาค้นคว้านั้นแหละคือความสุขของเขา คนอย่างนี้จะไม่เห็นแก่เอร็ดอร่อย ไม่เป็นนักเสพนักบริโภค แต่ทำงานจนลืมกินลืมนอนอย่างมีความสุข

ถ้าสังคมของเราไม่สร้างสรรค์เด็กแบบนี้ และปล่อยเด็กหรือเลี้ยงเด็กให้มีแต่ความใฝ่เสพ เด็กก็จะไม่พัฒนาและจะอ่อนแอลง เพราะว่าความสุขจากการเสพนั้นหมายถึง

๑. การวนเวียนอยู่ในกระแสของสุขจากสิ่งที่ชอบใจและทุกข์จากสิ่งที่ไม่ชอบใจ
๒. การขาดความต้องการทำ ซึ่งทำให้ต้องฝืนหรือจำใจทำ และรู้สึกว่าการกระทำคือความทุกข์

เด็กพวกนี้ นอกจากจะอ่อนแอลงแล้ว ก็จะทุกข์ได้ง่าย และสุขได้ยากด้วย รวมทั้งมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะขัดแย้งและแย่งชิงกับเพื่อนมนุษย์ การที่เขาจะทำอะไรก็เพราะเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนา ตัวเองก็ฝืนใจเป็นทุกข์ หาทางหลีกเลี่ยงการกระทำ แสวงหาอำนาจมาบังคับคนอื่นให้ทำ และแย่งชิงข่มเหงเอาเปรียบ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มาเสพให้มากที่สุด ในที่สุดพฤติกรรมทุกอย่างก็ออกมาในรูปที่ทำให้ไม่อาจจะมีสันติภาพ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.