การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มนุษย์จะลุถึงสันติภาพแท้จริงได้ ต้องพัฒนาสันติภายในที่จะมาเป็นปัจจัยหนุนกันกับสันติภาพภายนอก

เรื่องต่อไปที่ต้องกล่าวไว้ด้วยคือ สันติภาพที่สัมพันธ์กันทั้งด้านภายนอกและด้านภายใน ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ต้องเน้น เพราะมนุษย์อยู่ในสังคม สังคมก็อยู่ในธรรมชาติ และธรรมชาติก็มีอยู่ในตัวมนุษย์ หรือว่าที่แท้มนุษย์ก็เป็นธรรมชาติด้วย ทั้งหมดเป็นระบบความสัมพันธ์ที่โยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายในกับภายนอกจึงต้องสัมพันธ์เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่นเรื่องสันติภาพนี้ ในด้านภายนอกก็มองได้ตั้งแต่ในแง่การปกครอง

เรามีระบอบการปกครองขึ้นเพื่อจัดระเบียบสังคม โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันสงบเรียบร้อยร่มเย็นมีสันติสุข ฉะนั้นการปกครองทั้งหลายรวมทั้งระบบประชาธิปไตยจึงมีขึ้นเพื่อสันติภาพ

อย่างไรก็ตาม สันติภาพ อย่างที่เข้าใจกันในทางการเมืองการปกครองนั้น มักหมายถึงเพียงแค่ความสงบเรียบร้อยภายนอก ที่มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยไม่ทะเลาะวิวาท ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย เช่นที่พูดเป็นคำคู่ตรงข้ามกันว่า “สงครามกับสันติภาพ” จะต้องเข้าใจว่า สันติภาพแบบนี้ หรือในระดับนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นจุดหมายของมนุษย์ แต่เป็นเพียงสภาพเอื้อโอกาสให้บุคคลแต่ละคนก้าวไปสู่จุดหมายที่สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

ถึงตรงนี้ ก็ต้องถามว่า จุดหมายของบุคคลคืออะไร หรือบุคคลต้องการอะไร ตอบอย่างง่ายๆ บุคคลอาจจะต้องการผลประโยชน์ เมื่อสังคมอยู่ในภาวะสันติ บุคคลก็จะมีโอกาสหาผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แต่มีคำถามต่อไปว่าผลประโยชน์เป็นสิ่งดีที่มนุษย์ควรต้องการหรือเปล่า ถ้ามนุษย์มีสังคมที่มีสันติเพื่อจุดหมายนี้ มนุษย์ก็จะมุ่งเพื่อได้ผลประโยชน์จึงมารวมกัน เพื่อให้การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นโอกาสที่ตัวจะได้สิ่งพึงประสงค์ แล้วก็จะมีการรวมกลุ่มของมนุษย์เพื่อแย่งผลประโยชน์กัน เพราะว่าเมื่อรวมเป็นกลุ่มแล้วจะได้มีกำลังไปเอาผลประโยชน์ได้มาก จึงเกิดมีการรวมกลุ่มชนิดที่แต่ละกลุ่มมาแย่งชิงซึ่งกันและกัน ดังที่ได้เป็นไปในโลกนี้มาโดยตลอด

การรวมกลุ่มของมนุษย์เพื่ออะไร นี้เป็นคำถามอีกข้อหนึ่ง การจัดองค์กร จัดตั้งชุมชน มีความหมายอย่างไร เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เราพูดกว้างๆ ว่าเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์แต่ละคน เพราะเป็นเครื่องช่วยเอื้อโอกาสแก่เขา เพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการนั้น

แต่สิ่งที่บุคคลต้องการนั้นคืออะไร ถ้าต้องการผลประโยชน์ ชุมชนและสังคมก็จะกลายเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์กับกลุ่มอื่น ในกรณีเช่นนี้ บุคคลที่เข้ามาร่วมนั้น มุ่งเพื่อผลประโยชน์ของตน แต่การที่จะได้ผลประโยชน์นั้น เขาจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น เขาจึงมารวมกลุ่มด้วย หมายความว่า เขาไม่ได้มีความรู้สึกเอื้อเกื้อกูลปรารถนาดีต่อคนอื่นที่มารวมและร่วมในชุมชนหรือในสังคมเดียวกับตน อย่างน้อยก็มิได้มีไมตรีที่จริงใจ คือเขาไม่มีสันติอยู่ในใจของเขา โดยนัยนี้ ในชุมชนหรือสังคมนั้น ระหว่างบุคคลภายในก็ไม่มีสันติที่จะให้แก่กัน และภายนอกเขาก็มารวมกันเพื่อขัดแย้งแย่งชิงรบราฆ่าฟันกับพวกอื่น คือ ทำลายสันติภาพต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้ โลกก็ไม่อาจจะมีสันติภาพ

จึงต้องคิดกันให้ชัดว่า ความหมายของการมีกลุ่มมีชุมชนนี้เพื่ออะไรกันแน่ อันนี้จะต้องหาคำตอบให้ได้

ตอนนี้จะขอกล่าวเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างสันติในตัวคน กับสันติในสังคม ซึ่งอาจจะซับซ้อนเล็กน้อย ขอย้ำว่า สันติภาพของสังคมไม่ใช่จุดหมายแต่เป็นตัวเอื้อโอกาสแก่บุคคลอีกชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน การที่สังคมจะมีสันติภาพได้ บุคคลแต่ละคนจะต้องมีความเอื้อเกื้อกูลที่จะร่วมมือกับผู้อื่น จึงจะรวมกันอยู่ได้ สันติของแต่ละบุคคลจึงเป็นปัจจัยที่จะไปช่วยสร้างสันติภาพของสังคม

เมื่อพูดให้ลึกลงไป การที่จะมีสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนได้นั้น จะต้องเข้าถึงความประสานกลมกลืนที่แท้ ซึ่งมีความสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนตลอดถึงที่สุด เริ่มต้นตั้งแต่หลักความจริงที่ว่า จุดหมายของแต่ละบุคคลคือสันติ ในที่นี้จุดหมายของบุคคลก็คือจุดหมายของชีวิต จุดหมายของชีวิตคือสันติ เพราะที่แท้จริงนั้นชีวิตต้องการสันติซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของมัน

แต่การที่ชีวิตจะเข้าถึงสันติได้ จะต้องมีการพัฒนา ทั้งด้านพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ทั้งด้านจิตใจ และที่สำคัญที่สุดคือปัญญาที่จะเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิต การที่บุคคลจะพัฒนาตนหรือพัฒนาชีวิตของเขาได้ เขาต้องการสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะสังคมที่เอื้อ คือสังคมที่มีสันติภาพ ในกรณีนี้ สันติภาพของชุมชนหรือสังคมจึงเอื้อโอกาสแก่การที่แต่ละบุคคลจะได้พัฒนาชีวิตของตนให้บรรลุถึงสันติ เพราะถ้าสังคมไม่มีสันติภาพ บุคคลแต่ละคนก็ประสบความติดขัดยากลำบาก หรือสูญเสียโอกาส ไม่สามารถพัฒนาตนให้บรรลุสันติได้ ฉะนั้นสันติภาพของสังคมจึงเป็นสภาพเอื้อต่อสันติภาพของแต่ละบุคคล

ในขณะเดียวกันและในทางกลับกัน บุคคลผู้มีชีวิตที่เข้าถึงสันติอย่างนี้แล้ว ก็เป็นผู้พร้อมที่สุดที่จะสร้างสรรค์และดำรงรักษาสันติภาพให้แก่สังคม สันติของแต่ละบุคคลหรือสันติภายในนี้จึงเป็นตัวเอื้อให้เกิดมีสันติของสังคม โดยเป็นทั้งตัวที่นำสังคมไปสู่สันติและเป็นตัวดำรงสังคมไว้ในสันติด้วย

นี้คือลักษณะที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ในระบบที่ภายในกับภายนอกมีความประสานสอดคล้องกลมกลืนกันอย่างแท้จริง และเป็นสันติที่แท้และยั่งยืน ถึงตอนนี้จะมองเห็นความสัมพันธ์ที่ชัดมากขึ้นระหว่างสันติภายในกับสันติภายนอกที่อาศัยซึ่งกันและกัน อย่างประสานกลมกลืนไปด้วยกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.