การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บนฐานของภาวะจิตที่จำกัดแบ่งแยก มนุษย์ได้สร้างระบบสังคมที่รองรับความไร้สันติภาพ

ปัญญาที่แท้จริง หมายถึงการรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ถ้าปัญญานี้ไม่มา จะเกิดเมตตาที่สากลไร้พรมแดนไม่ได้ และสภาพจิตไร้พรมแดนก็ไม่เกิด แต่ถ้าเกิดปัญญารู้เข้าใจความจริงตระหนักชัด ก็จะมีสภาพจิตไร้พรมแดน โดยมีเมตตา คือความรักเพื่อนมนุษย์ ที่มองเห็นมนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลก เมื่อมองเห็นกันเป็นมิตร ก็จะมีความรู้สึกที่จะร่วมมือช่วยกันสร้างสรรค์ ฉะนั้นสันติภาพก็เกิดขึ้น นี่คือการพัฒนามนุษย์ที่มาถึงจุดสูงสุด เมื่อมนุษย์เข้าถึงตัวปัญญาแท้จริงที่ทำให้สภาพจิตแห่งเมตตาเกิดตามมา พอปัญญากับเมตตามาด้วยกัน ก็แสดงออกเป็นพฤติกรรมในการจัดสรรวางระบบสังคมเป็นต้นให้กลมกลืนประสานกันเข้า ในลักษณะที่จะเกิดมีสิ่งที่เราเรียกว่าสันติภาพอย่างสากล

ในยุคที่ผ่านมานี้ ปัญญาของมนุษย์โดยทั่วไปไม่สามารถก้าวมาถึงขั้นที่ไร้พรมแดน คือรู้ความจริงสากล ที่จะทำจิตใจให้ไร้พรมแดน เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นมาโดยตลอด เต็มไปด้วยยุคสมัยแห่งการแย่งชิงผลประโยชน์และการแสวงหาอำนาจ

ในสมัยโบราณ อินเดียก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดของระบบผลประโยชน์ และอำนาจ เขามีปัญญาชนที่เรียกว่าพราหมณ์ ซึ่งเป็นทั้งนักบวชและนักวิชาการ แต่แทนที่จะใช้ปัญญาของตนเพื่อระงับสงคราม พราหมณ์กลับสนองความอยากของนักปกครอง และนักหาผลประโยชน์ ด้วยการติดต่อกับเทพ เพื่อให้เทพมาสนองความต้องการของคนเหล่านั้น ทั้งในทางทรัพย์และอำนาจ ด้วยวิธีเซ่นสรวงบูชายัญ แรงจูงใจเบื้องหลังระบบและสถาบันของสังคมก็เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ที่มุ่งหาผลประโยชน์และอำนาจ ก็อยู่แค่ตัณหาและมานะ นี่เอง ไม่ไปไหนเลย

การพัฒนากิจกรรมของสังคมในสมัยนั้นก็คือ การจัดสรรพัฒนาพิธีบูชายัญ ถ้าเอาเรื่องนี้มาเทียบ ก็จะเห็นวิวัฒนาการของสังคมว่า ถึงแม้รูปแบบแห่งกิจกรรมของสังคมจะเปลี่ยนไปต่างๆ แม้กระทั่งเป็นกิจกรรมทางธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบัน แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นไปเพื่อสนองความเห็นแก่ตัวนี้ทั้งหมด ฉะนั้นมันจึงไม่เป็นปัญญาแท้จริง ที่รู้ความจริงของธรรมชาติ แต่เป็นปัญญาที่เพียงจะรู้วิธีการเพื่อมาสนองความต้องการหรือรับใช้ระบบแห่งตัณหาและมานะ

เมื่อมัวแต่ติดต่อมุ่งจะให้เทพเจ้าหรือสถาบันธุรกิจมาช่วยตน มนุษย์ก็ยิ่งไม่เอาใจใส่กันและกัน เพราะความสัมพันธ์นั้นมองไปข้างนอกและเหนือชุมชน จึงไม่ได้เหลียวแลเพื่อนมนุษย์ และก็ไม่หวังพึ่งมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเขาไปหวังพึ่งเทพเจ้าหรือแหล่งอิทธิพลภายนอก ไม่ได้หวังพึ่งมนุษย์ด้วยกัน การที่จะมาคิดหาทางร่วมมือกันแก้ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องของความเขวไถลออกไปจากความเป็นมนุษย์ที่เป็นส่วนร่วมของสังคม

เมื่อมนุษย์แต่ละคนต่างมุ่งหาผลประโยชน์ของตนและแสวงอำนาจก็แบ่งแยกกัน เมื่อแบ่งแย่งกันก็เกิดความแปลกแยกและขัดแย้งกัน ดังจะเห็นได้ในระบบการแข่งขันที่ความขัดแย้งเป็นกลไกผลักดันความเจริญ แต่มันก็คือภาวะขาดสันติภาพที่เป็นอยู่ตลอดเวลา จนเป็นลักษณะปกติธรรมดาของสังคม

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.