ความเป็นไปในสังคมตะวันตกที่ทำให้เกิดปัญหาชีวิตจิตใจของมนุษย์อย่างที่ว่ามานี้นั่นแหละ เป็นจุดหนึ่งที่มากระตุ้นเร้าให้วงการจิตวิทยาขยายความสนใจจากความเจ็บป่วยทางจิตของคนไข้ในคลีนิค ออกมาสู่ปัญหาชีวิตจิตใจของคนทั่วไป
อย่างที่ได้กล่าวตอนต้นแล้วว่า เดิมนั้นจิตวิทยาตะวันตก มีจุดเน้นความสนใจอยู่ที่คนไข้ที่ป่วยทางจิตในคลีนิคและการรักษาในคลีนิค แต่ตอนนี้สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป จนมองเห็นชัดว่าคนมีปัญหาทางจิตใจกันทั่วไปมากมายในสังคม ได้ทำให้วงการจิตวิทยาตะวันตกขยายความสนใจจากปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตของคนไข้ในคลีนิคนั้น ออกมาสู่อาการเจ็บไข้หรือความไม่สบายในจิตใจของคนทั่วไป คือปัญหาทางจิตใจของคนในสังคมทั้งหมด
เราอาจจะพูดตามภาษาของฝรั่งเองที่เขาบอกว่า จิตวิทยาได้ขยายความสนใจจาก sick person คือบุคคลที่เจ็บป่วย มาสู่ sick society1 มาสู่สังคมที่ป่วย หรือจากบุคคลที่ป่วย คือ sick person มาสู่ so-called normal person คือคนที่เรียกๆ กันว่าเป็นคนปกติ หรือคนที่ดูภายนอกก็เป็นปกติ แต่ที่จริงไม่ปกติ ใน sick society นั้น คนที่เรียกว่าเป็น normal หรือปกตินี้กลายเป็นคนที่มีปัญหา จึงไม่ใช่เป็นคนที่ normal หรือปกติแท้จริง แต่เป็นเพียงคนที่เรียกกันไปอย่างนั้นเองว่าเป็นคน normal หรือเป็นคนปกติ
ตามเรื่องที่พูดมานี้ เขาบอกว่า อันนี้เป็นการขยาย concept คือแนวความคิดความเข้าใจ (หรือมโนทัศน์) และขยายจุดหมายของการบำบัดทางจิตของตะวันตกหรือจิตวิทยาตะวันตกนั้นให้กว้างออกไป แล้วก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของความเจ็บป่วยและสุขภาพไปด้วย
ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงของจิตวิทยาตะวันตกอย่างหนึ่งในปัจจุบัน จึงได้แก่การเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความเจ็บป่วยและสุขภาพ ซึ่งมีความหมายกว้างออกไปจากเรื่องความเจ็บไข้ทางจิตที่ปรากฏชัด อย่างเช่น เป็นโรคจิตโรคประสาท ออกมาสู่ปัญหาความเครียด ความเบื่อหน่าย ความรู้สึกแปลกแยก ความรู้สึกอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย ความเหงา ว้าเหว่ ความรู้สึกไร้ความหมาย ความขาดทิศทาง ฯลฯ ในจิตใจของคนทั่วๆ ไป ในสังคม
ในเมื่อจิตวิทยาตะวันตกขยายความหมายจิตวิทยาของตนออกมาอย่างนี้แล้ว ก็เลยกลายเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มาบรรจบกับพระพุทธศาสนา
ดังที่ได้บอกแล้วข้างต้นว่า พระพุทธศาสนานั้น เมื่อพูดถึงปัญหาชีวิตจิตใจของมนุษย์ ไม่ได้เน้นที่ความเจ็บไข้ได้ป่วยทางจิตใจของคนเป็นโรคจิต หรือที่เรียกกันว่าป่วยทางจิต พระพุทธศาสนาแทบไม่ได้พูดถึงเรื่องอย่างนี้เลย แต่พูดถึงปัญหาจิตใจ ของทุกคนที่ยังไม่ไร้ทุกข์ คือคนธรรมดาสามัญนี้เอง
ปัญหาของคนในทางจิตใจ ตลอดจนปัญหาชีวิตทั้งหมดนี้ มีในระดับต่างๆ กัน เบาบ้าง หนักบ้าง ตราบใดที่ยังไม่เป็นคนสมบูรณ์ ยังละกิเลสไม่ได้หมดสิ้น ก็ยังอยู่ในวงความสนใจของพระพุทธทั้งสิ้น
การที่จิตวิทยาตะวันตกมาบรรจบกับพระพุทธศาสนาและหันมาสนใจพระพุทธศาสนานี้ กล่าวได้ว่ามีจุดสำคัญ ๒ จุดใหญ่ๆ คือ
๑. ความสนใจในการแก้ปัญหาจิตใจ หรือการหาความสุขให้แก่จิตใจโดยทั่วๆ ไป คือ สำหรับคนสามัญ หรือมนุษย์ปกตินี่แหละ นี่เป็นเรื่องหนึ่ง คือการหาทางแก้ปัญหาจิตใจของคนยุคปัจจุบัน
เรื่องนี้มีความสัมพันธ์อยู่ไม่น้อยกับการได้ยินกิตติศัพท์ของตะวันออก ซึ่งมีสิ่งที่จะเสนอให้แก่การแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะก็คือเรื่องสมาธิ ซึ่งทางตะวันตกได้มีความสนใจกันมาก จนบางทีกลายเป็นเหมือนแฟชั่นไปเลย แล้วก็พลอยให้ทางเมืองไทยเราหรือตะวันออกนี้หันมาสนใจไปด้วย
ที่จริงในเมืองไทยนี้ เมื่อครั้งหันไปตื่นเต้นนิยมวัฒนธรรมตะวันตกและชื่นชมวิทยาศาสตร์กันใหม่ๆ เราเคยมีภาพไม่ดีต่อสมาธิ จนกระทั่งคนสมัยใหม่มีความรู้สึกดูถูกคนที่สนใจสมาธิ มองเห็นสมาธิเป็นเรื่องขำขัน หรือคร่ำครึ งมงาย คนที่สนใจสมาธิไม่ค่อยกล้าแสดงตัวต่อผู้อื่น แต่มาสมัยหลังๆ นี้คนสมัยใหม่กลับไปสนใจ สมาธิกันอีก
ผรั่งเองก็เขียนบอกว่า การที่คนในประเทศอาเซียตะวันออกเฉียงใต้หันไปสนใจสมาธินี้ เขาถือว่า ความสนใจสมาธิในโลกตะวันตกมีส่วนเป็นอิทธิพลด้วย อันนี้เป็นข้อเขียนของฝรั่งกล่าวไว้เอง2
นี่เป็นแง่ที่หนึ่ง คือความสนใจที่จะแก้ปัญหาทางจิตใจ หาความสุขให้แก่จิตใจ โดยได้ยินกิตติศัพท์ของข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจิตใจ โดยเฉพาะสมาธิ ก็เลยทำให้มาสนใจพระพุทธศาสนา
๒. การขยายความหมายของความป่วยไข้ทางจิต หรือขอบเขตความสนใจในวงการจิตวิทยาให้กว้างออกไป ทีนี้การขยายความหมายนั้นก็มาประสานตรงกับความหมายของปัญหาความทุกข์พื้นฐาน ในความหมายของพระพุทธศาสนา ดังที่กล่าวแล้วเมื่อกี้
อาตมาคิดว่า อันนี้เป็นเรื่องที่ชี้ถึงจุดสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับจิตวิทยาตะวันตก โดยเฉพาะก็คือแง่ที่ว่าจิตวิทยาตะวันตกมาสนใจพระพุทธศาสนาอย่างไร แล้วก็สนใจในจุดไหนประเด็นไหน ย้ำอีกทีว่า
ประการที่หนึ่ง สนใจการแก้ปัญหาจิตใจ โดยเฉพาะการที่จะหาความสุขให้แก่จิตใจของมนุษย์ โดยได้ยินกิตติศัพท์เรื่องสมาธิ แล้วนำเอาสมาธินั้นไปใช้ และ
ประการที่สอง เกิดจากการขยายความหมายของปัญหาจิตใจของมนุษย์ ออกจากความเจ็บป่วยทางจิตใจมาสู่ปัญหาสุขภาพจิตพื้นฐาน หรือปัญหาพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ซึ่งตรงกับความหมายของทุกข์ในพระพุทธศาสนา
ฉะนั้น ตอนนี้เราจะไม่เอาเฉพาะเรื่องคนป่วยโรคจิตที่มีจำนวนน้อยในสังคมเท่านั้น แต่จะมุ่งแก้ปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน