เมื่อพูดในแง่นี้ก็เลยโยงไปหาเรื่องความเหมือนและความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาในพระพุทธศาสนากับจิตวิทยาแบบตะวันตก ซึ่งแม้จะพูดในเชิงความสัมพันธ์ ก็ควรจะมองความแตกต่างไว้ด้วย เพราะการที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ได้ชัดเจน โดยมองเห็นภาพที่กระจ่าง จะต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างนั้นบ้างไม่มากก็น้อย
จิตวิทยาตะวันตกนั้น ในประวัติศาสตร์ของเขา ตามที่ได้เจริญพัฒนาขึ้นมาโดยมากก็จะอยู่ในขอบเขตของการเน้นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของคนป่วยทางจิตใจ โดยเฉพาะคนบ้า คนเสียสติ และคนที่มีความวิปริตทางจิตใจในแบบต่างๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของจิตวิทยาตะวันตก และเป็นแดนสำคัญของการพัฒนาทางจิตวิทยา
ที่ว่ามานี้ หมายความว่า จากการพยายามแก้ปัญหาของคนป่วยทางจิตเหล่านั้น ก็ได้มีการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์ แล้วจึงพัฒนาเป็นทฤษฎีขึ้นมา โดยที่การพัฒนาทฤษฎีนั้นก็มุ่งเพื่อแก้ปัญหาทางด้านจิตใจของคนป่วยเหล่านั้นเป็นสำคัญ แล้วต่อมาจึงมีการใช้จิตวิทยาในทางบวกด้วย
ที่ว่าในทางบวกนั้น ก็อย่างเช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การพัฒนาเกี่ยวกับแรงจูงใจ และความรู้ต่างๆ ที่นำมาใช้ในทางการศึกษา
แต่มีการใช้ในด้านหนึ่งที่คนทั่วไปมักเข้าใจ เมื่อพูดถึงคำว่า“จิตวิทยา” ซึ่งสัมพันธ์กับค่านิยมในยุคอุตสาหกรรม และแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาของจิตวิทยาตะวันตกนั้น ได้ประสานเข้ากับค่านิยมในยุคอุตสาหกรรม ทำให้คนทั่วไปมองจิตวิทยาเด่นไปในแง่ของการนำมาเป็นอุบายหรือใช้ประโยชน์ในการจัดการกับผู้อื่นเพื่อสนองความต้องการของตน
ยกตัวอย่าง เวลาพูดว่า คนนี้มีจิตวิทยาดี ก็จะมองในความหมายว่า เขาสามารถปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างได้ผล ในการที่จะแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง ทำจุดหมายของตนในการอยู่ในยุคแสวงหาวัตถุนี้ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงกลายเป็นการจัดการกับผู้อื่นเพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนเอง
ขอย้ำอีกที อย่างที่เรามีคำพูดกันว่า คนนี้มีจิตวิทยาดี คนนั้นมีจิตวิทยาดีนี่ ตามความหมายของตะวันตกมักจะมองกันในแง่ของการที่ว่าจะนำความรู้เกี่ยวกับจิตใจมาใช้ในการที่จะทำจุดมุ่งหมายของตนให้สำเร็จ ความมุ่งหมายนั้นอาจจะเป็นความมุ่งหมายที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
แต่ในยุคอุตสาหกรรมนั้น ค่านิยมเป็นไปในทางที่ว่าจะแสวงหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุ คือ ลาภผล เกียรติยศ ชื่อเสียงให้กับตนเอง ฉะนั้น การมองถึงการใช้จิตวิทยามาสนองจุดหมายของตนเอง ก็เลยเป็นไปในแง่ของการแสวงหาลาภยศและการบำรุงบำเรอตนด้วยประการต่างๆ ซึ่งเป็นไปในเรื่องของการสนองความต้องการในทางที่เห็นแก่ตัวของตนเอง อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ควรจะสนใจเกี่ยวกับจิตวิทยาตะวันตกที่ได้พัฒนามา
ครั้นมาถึงปัจจุบันนี้ จิตวิทยาตะวันตกได้มาเผชิญกับปัญหาของยุคอุตสาหกรรม แนวโน้มก็จึงต้องเปลี่ยนไป คือเปลี่ยนจากการช่วยสนองความปรารถนาตามค่านิยมของยุคอุตสาหกรรม มาเป็นการหาทางช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ที่ประสบปัญหาจากการแสวงหาในยุคอุตสาหกรรม หรือตามค่านิยมในยุคเทคโนโลยีที่เป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนโน้น สืบเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน