จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เมื่อเต็มแล้ว จะอยู่เดียวก็เป็นสุข
จะอยู่ในสังคมก็เป็นสุข และทำสังคมให้เป็นสุขด้วย

มีข้อสังเกตในกรณีนี้ว่า การอยู่เดียวอาจจะก่อให้เกิดโรคจิตก็ได้ หรืออาจจะเป็นการแก้โรคจิตก็ได้ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่าจะมีสภาพจิตใจและปัญญาอย่างไร บางท่านถึงกับบอกให้แยกระหว่างคำว่า “being alone” กับ “being lonely”1

“Being alone” (อยู่เดียว) นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ดี ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องก็คือได้วิเวกสุข แล้วก็จะไม่ “being lonely” (เดียวดาย) แต่ถ้า “being lonely” แล้วก็ไม่ไหว ก็จะต้องเป็นปัญหาจิตใจ ซึ่งสืบเนื่องจากการขาดปัญญาที่แท้จริง

แม้ในพระสูตร พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสแยกความแตกต่างระหว่างความอยู่เดียวที่แท้กับความอยู่เดียวเทียม ความอยู่เดียวแท้เป็นอย่างหนึ่ง คือความมีจิตใจและปัญญาในสภาพที่ทำให้ตนเองนี้อยู่เป็นสุข แต่ความอยู่เดียวชนิดเทียมก็คือความมีสภาพจิตที่ขาดการฝึก ขาดการพัฒนา ไม่มีปัญญาที่เข้าใจความจริง ก็จะทำให้เกิดปัญหาจากกิเลสและความทุกข์ขึ้นมา

รวมความแล้ว ก็เป็นอันว่า เรามีความว่างอย่างเต็ม กับ ความว่างอย่างกลวงหรือกลวงโบ่ คือว่างเปล่า ไร้ความหมาย แล้วอีกคู่หนึ่งก็ยังมีความว่างที่เห็นแจ้งด้วยปัญญา กับความว่างเปล่าทางอารมณ์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การรู้จักความว่าง กับการรู้สึกว่างเปล่า ถ้าเป็นการรู้จักความว่างก็เป็นเรื่องของปัญญา แต่ถ้าเป็นการรู้สึกว่างเปล่าก็เป็นเรื่องทางด้านจิตหรืออารมณ์

ขอพูดอีกคู่หนึ่ง คือความว่างอย่างเวิ้งว้างไม่รู้ทิศทางน่ากลัว กับความว่างที่โปร่งโล่งทำให้เกิดความคล่องตัว สำหรับบางคนคือผู้ที่มีจิตใจยังไม่ได้พัฒนานั้นจะมีความว่างประเภทที่ว่าเวิ้งว้าง ไม่รู้ทิศทางจะไปไหน สับสนน่ากลัว แต่สำหรับบางคนคือท่านที่พัฒนาจิตปัญญาดีแล้วก็จะมีความว่างชนิดที่โปร่ง โล่ง คล่อง เบิก บานผ่องใส

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่อาตมายกมาพูดเพื่อให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยาสมัยใหม่ กับข้อปฏิบัติทางจิตใจในพระพุทธศาสนา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยากับจิตภาวนา ซึ่งได้เน้นในแง่ที่ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งทางตะวันตกก็มุ่งประโยชน์อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ เพราะปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในสังคมตะวันตกปัจจุบัน ที่มาจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรมก็คือความรู้สึกว่างเปล่า ความมี inner emptiness คือความรู้สึกว่างเปล่าภายในดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

การแก้ปัญหาที่ชาวตะวันตกหลายคนกำลังมาสนใจ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติสำคัญของพระพุทธศาสนาก็คือ การมาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในการแก้ความรู้สึกว่างเปล่านั้นด้วยการรู้จักความว่างที่ทำให้เต็ม ซึ่งวิธีการปฏิบัติในขั้นสมาธิล้วนๆ อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องถึงขั้นปัญญาด้วย

กลายเป็นว่า บุคคลที่พัฒนาจิตปัญญาดี เข้าถึงความว่าง คือรู้จักความว่างด้วยปัญญาแล้ว จึงเป็นผู้ว่าง เขาเต็มเพราะเขาว่าง ถ้าเข้าใจความหมายนี้ก็จะเข้าใจสาระของพระพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง บุคคลที่เต็มก็เพราะว่าง และบุคคลที่พร่องก็เพราะไม่ว่าง

เรื่องเกี่ยวกับปัญหาปัจจุบันนี้เท่าที่พูดมาก็คิดว่าพอจะทำให้มองเห็นภาพได้ และเมื่อชี้แจงแสดงหลักการพร้อมทั้งข้อปฏิบัติของพระพุทธศาสนาออกมาก็เป็นการเน้นให้เห็นความสำคัญของปัญญาในพระพุทธศาสนาด้วย คือทำให้เห็นว่า ในการแก้ปัญหาเมื่อถึงขั้นสุดท้าย ปัญหาจิตใจก็ต้องแก้ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในขั้นตัดสินเด็ดขาด ที่จะนำจิตใจของมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ

สำหรับบุคคลที่ได้แก้ไขปัญหาจิตใจอย่างเด็ดขาดด้วยปัญญาแล้วนั้น ถ้ามองในแง่ของการเป็นอยู่ในสังคม ก็บอกได้ว่าเขาจะอยู่คนเดียวได้อย่างมีความสุข และเมื่อเขาออกไปสู่สังคม ไปอยู่ร่วมกับผู้อื่น เขาก็จะอยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข พร้อมทั้งช่วยทำสังคมให้เป็นสุขด้วย โดยทำให้สังคมนั้นกลายเป็นสังคมที่มีความเต็มอิ่ม ถ้าคนในสังคมโดยทั่วไปเป็นอย่างนี้กันก็ย่อมทำให้เกิดสังคมที่ดีงาม ชีวิตก็เป็นชีวิตที่ดีงาม เป็นชีวิตที่เต็ม เป็นชีวิตที่มีความสุข และทำให้สังคมก็พลอยมีความสุขด้วย

เท่าที่อาตมาได้พูดมานี้ ในส่วนหนึ่งก็ต้องการให้เห็นลึกเข้ามาถึงหลักการของพระพุทธศาสนาบางอย่างที่ตะวันตกกำลังเพ่งมอง เพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ บัดนี้ คิดว่าการพูดในเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยากับจิตภาวนา คือ ระหว่างจิตวิทยาสมัยใหม่หรือจิตวิทยาที่มาจากตะวันตก กับข้อปฏิบัติทางจิตใจในพระพุทธศาสนา ก็พอสมควรแก่เวลา หรือเกินเวลาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงขอยุติแต่ เพียงเท่านี้

ขออนุโมทนาทุกท่านและขอให้ทุกท่านเจริญงอกงามในการภาวนา เพื่อได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาทั้งในระดับจิตใจและปัญญา และออกมาสู่พฤติกรรมในทางสังคม อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยความมีศีล โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญฯ

 

1According to the Buddhist analysis, there is a difference between ‘being alone’ and ‘being lonely’. The inability to experience solitude and delight in a short spell Or DC alone is due to the fear of loneliness.
(Frieda Fromm-Reichmann, “Loneliness”, Psychiatry, 1959, vol.22)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.