ที่นี้มองในฝ่ายพุทธ พระพุทธศาสนานั้นมองปัญหาจิตใจของคน โดยมิได้จำกัดอยู่ในวงของการป่วยทางจิต คือไม่ได้เน้นเรื่องคนไข้โรคจิต แต่ปัญหาจิตใจของคนในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึงปัญหาของมนุษย์ทั่วไปทุกคน ที่ยังมีความทุกข์หรือยังมีความบกพร่อง ยังเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ พูดง่ายๆ ก็คือ มนุษย์ทุกคนที่ยังไม่ไร้ทุกข์
ปัญหาของมนุษย์ทุกคนที่ยังไม่ไร้ทุกข์นี้เป็นจุดสนใจของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น มองในแง่นี้แล้ว พระพุทธศาสนาก็สนใจปัญหาของคนธรรมดาสามัญที่อยู่ในสังคมทั่วไปนี้เอง แล้วขยายความสนใจนั้นออกไปครอบคลุมถึงเรื่องราวหรือปัญหาทั้งหมดที่มีผลต่อชีวิตของบุคคล และที่มีต่อสังคม
ขอให้มองดูประวัติการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา จุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ก็คือการที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงปัญหาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพราก ความโศกเศร้า ความไม่สมหวัง และความเดือดร้อนต่างๆ ที่มีอยู่เป็นธรรมดาในโลกมนุษย์ พูดง่ายๆ ว่า ทรงพิจารณาเรื่องความทุกข์ของมนุษย์นี่เอง แล้วก็ทรงคิดหาทางแก้ไขปัญหาคือความทุกข์นั้น จนกระทั่งเสด็จออกจากวังไปศึกษาค้นคว้า เพียรพยายามต่างๆ และในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ และตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมา นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา หรือจะเรียกว่า เป็นจุดเริ่มต้นของจิตวิทยาแบบพุทธศาสนาก็ได้
เราจึงพูดได้ว่า การพยายามแก้ปัญหาความทุกข์ที่มีอยู่ทั่วไปตามปกติของชีวิตและสังคม เป็นจุดสนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ต่างจากจิตวิทยาตะวันตกที่จุดสนใจเริ่มต้นอยู่ที่การพยายามแก้ปัญหาของคนป่วยทางจิต ซึ่งหมายถึงคนที่มีจิตใจวิปริตผิดเพี้ยนจากปกติไปแล้ว แล้วจึงค่อยๆ ขยายความสนใจมาถึงปัญหาของคนทั่วไปในภายหลังอย่างที่ค่อยๆ ชัดขึ้นมาในปัจจุบันนี้
นอกจากนั้น ในการมองปัญหาของมนุษย์นี้ พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้มองแบบแยกส่วน แต่มองเรื่องจิตใจของมนุษย์ และปัญหาจิตใจของมนุษย์นั้น โดยสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด คือการดำเนินชีวิตทุกแง่ทุกด้าน หรือกิจกรรมและพฤติกรรมทุกอย่าง ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมองจิตวิทยาในแง่ของการแก้ไขปัญหาและการพัฒนามนุษย์ เรามองว่าจิตวิทยาในพระพุทธศาสนานี้เป็นเรื่องของกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่ปัจจัยทุกส่วนมีความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน และมีผลกระทบต่อกันทั่วตลอด
เมื่อเราพูดว่า “จิตวิทยา” หรือใช้คำว่าจิตวิทยานั้นในฐานะที่เป็นวิชาการอย่างหนึ่ง ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิด ทำให้รู้สึกว่ามีการแยกวิชาเกี่ยวกับจิตใจออกมาจากส่วนอื่นๆ ของระบบแห่งชีวิต และสังคมของมนุษย์ แต่มองในแง่ของพระพุทธศาสนา ทุกส่วนในระบบนั้นโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นองค์รวม ไม่สามารถจะแยกเป็นเรื่องเดียวๆ ต่างหากจากกันโดยเด็ดขาดได้
แง่ต่อไปที่ควรจะมองก็คือ เรื่องของวิธีการ กล่าวได้ว่าทั้งพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาสมัยใหม่ต่างก็ใช้วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ในที่นี้เราจะใช้ศัพท์ให้เข้ากับยุคสมัย วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในที่นี้อาจจะมีความหมายต่างไปจากวิธีวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจกันทั่วไปก็ได้ แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายก็โยงไปหาศัพท์ที่ใช้กันอยู่ กล่าวคือ วิธีการวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของการถือประสบการณ์เป็นสำคัญ รวมทั้งมีการสังเกต ใช้การตรวจสอบและทดลอง
อย่างไรก็ตาม ความหมายของการตรวจสอบและการทดลองในพระพุทธศาสนากับในจิตวิทยาสมัยใหม่หรือตะวันตกนี้ ก็อาจจะ ไม่ตรงกันทีเดียว
ในจิตวิทยาตะวันตกนั้น วิธีการวิทยาศาสตร์เน้นไปทางด้านวัตถุ คือการที่จะต้องตรวจสอบทดลองให้ออกมาเป็นรูปธรรม ให้แสดงผลออกมาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ บางทีก็ดูที่พฤติกรรมภายนอก การแสดงออกทางด้านที่ปรากฏในสังคม อะไรต่างๆ เหล่านี้
แต่ในพระพุทธศาสนา คำว่าประสบการณ์ที่เราจะมองนี้ หมายถึงประสบการณ์ของจิตใจ ประสบการณ์ที่เราได้รับ ที่รู้ ประจักษ์ในจิตใจของตนเอง ซึ่งเทียบกับทางตะวันตกก็คือ การมองดูจิตใจของตนเอง (introspection) แต่เมื่อศึกษาโดยละเอียดจะเห็นว่ามันก็ไม่เหมือนกันทีเดียว
ประสบการณ์ทางจิตใจโดยตรงนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ คือคนเรานี้จะรู้ความรัก ความโกรธ ความหลง และความรู้สึกอะไรต่างๆ ทำนองนี้ ก็รู้ในจิตใจของตนเองโดยตรง เป็นประสบการณ์ที่ชัดเจนแน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว