จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วิธีการที่ต่างกันเกิดจากการมองที่ต่างกัน

ประสบการณ์ภายในจิตใจนี้ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และประสบการณ์ทางจิตใจนี้ก็โยงออกมาสู่พฤติกรรมทางรูปธรรมภายนอกด้วย โดยที่ทั้งหมดนั้นเป็นส่วนหนึ่งในระบบชีวิตของมนุษย์ซึ่งไม่อาจจะแยกต่างหากจากกันได้ เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ตามระบบของเหตุปัจจัย อย่างที่เรียกว่าเป็นองค์รวม

ทั้งนี้เพราะว่าระบบของชีวิตทั้งหมดนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทุกส่วนอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และส่งผลต่อกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงถือว่า ประสบการณ์ทางจิตใจ มีผลโยงมาทางด้านพฤติกรรม และพฤติกรรมก็มีผลลงไปถึงทางด้านจิตใจด้วย

จากนี้ก็ทำให้เรามองเห็นว่า ทางด้านจิตวิทยาตะวันตกนั้นมักจะมองเรื่องของจิตวิทยาโดยเน้นปัญหาชีวิตจิตใจเป็นอย่างๆ ไป โดยที่ว่าต่างสำนักก็ยึดเอาแต่ละจุด แล้วก็ไปเน้นจุดนั้นด้านนั้น บางทีถึงกับปฏิเสธด้านอื่น เช่น บางสำนักก็อาจจะเน้นโดยสนใจและให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องจิตไร้สำนึก บางสำนักก็เอาเฉพาะเรื่องพฤติกรรม ถือว่าพฤติกรรมอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นของแน่นอนเป็นของจริง ไม่ยอมรับเรื่องภายในจิตใจเลย อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า แยกเน้นกันไปเป็นอย่างๆ

แต่ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านมองทุกด้านโดยถือว่าทุกส่วนมีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์กันอยู่ในระบบของชีวิตจิตใจมนุษย์ทั้งสิ้น จึงต้องมีการโยงประสานกัน และมองความเป็นปัจจัยแก่กันในภาวะที่สัมพันธ์กันนั้น ทั้งนี้ความสัมพันธ์แต่ละด้านของชีวิตจิตใจของมนุษย์ ที่มาสัมพันธ์กันนั้นก็มีความสำคัญที่อาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งเราจะมองว่ามีความสำคัญแค่ไหนก็สัมพันธ์กับระดับพัฒนาการของบุคคลแต่ละคนด้วย

ขอยกตัวอย่าง เช่น มองถึงบุคคลที่มีพัฒนาการอยู่ในระดับต้น ในระดับนี้เรื่องของพฤติกรรมภายนอกจะมีความสำคัญมาก แต่เมื่อบุคคลนั้นมีพัฒนาการในระดับสูงขึ้นไป เรื่องทางด้านจิตใจที่ลึกซึ่งต่อขึ้นไปจนถึงระดับปัญญาจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งพฤติกรรมภายนอกถือว่าลงตัว อย่างที่เรียกว่าแทบจะไม่ต้องเอาใจใส่

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมองภาพรวม โดยที่เห็นองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ ทุกระดับทุกขั้นตอนทุกส่วนมาโยงมา สัมพันธ์ทั้งแบบอิงอาศัยและต่อทอดซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะยกเรื่องใดขึ้นมาเน้น ก็จะต้องเอามาโยงสัมพันธ์กับความเป็นไปในชีวิตจิตใจที่แท้จริง อย่างที่ว่ามาแล้วในพัฒนาการของบุคคลในกระบวนการพัฒนามนุษย์

ตอนนี้อาตมาอยากจะชี้ให้เห็นถึงวิธีแสดงความจริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าพูดตามหลักแล้ว กล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นมองกฏธรรมชาติโดยแยกออกไปเป็นด้านๆ ว่าเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจของมนุษย์นี้มีส่วนที่เป็นกฎธรรมชาติที่สำคัญอยู่ ๒ อย่าง ได้แก่ จิตนิยาม กับ กรรมนิยาม

จิตนิยามก็คือกฎเกี่ยวกับการทำงานของจิตใจ แล้วก็กรรมนิยามคือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ตลอดถึงผลของพฤติกรรมนั้นๆ สองอย่างนี้พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นคนละกฎ เป็นกฎธรรมชาติคนละด้าน โดยรวมแล้วมันก็สัมพันธ์เป็นกฎเดียวกัน แต่สามารถแยกศึกษาเป็นคนละกฏ เพราะฉะนั้นเราจะมีเรื่องจิตนิยามกับกรรมนิยามเป็น ๒ ส่วน และเมื่อศึกษา ๒ ส่วนนี้แล้ว เราก็จะบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตนิยามกับกรรมนิยามอีกทีหนึ่ง

วิธีแสดงความจริงของพระพุทธศาสนาแบบนี้ ต่างจากจิตวิทยาตะวันตก ซึ่งถ้าเรามองจากแง่มุมของพระพุทธศาสนาจะเห็นว่า การมองและพูดถึงกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจมนุษย์นั้นยังสับสนปนเปอยู่ เช่นอย่างการมองจิตวิทยาเป็นเรื่องของพฤติกรรมอย่างเดียว แล้วเอาเรื่องจิตใจมาเป็นเรื่องพฤติกรรมไปหมด อย่างนี้เท่ากับว่าสับสนระหว่างจิตนิยามกับกรรมนิยาม ดังนี้ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ควรจะได้นำมาพูดไว้พอให้เป็นหัวข้อสำหรับสังเกต

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.