จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๓ –
จากจิตวิทยา จบที่ปัญญาภาวนา

ที่มาและลักษณะปัญหาจิตใจของคนในยุคปัจจุบัน

คราวนี้จะโยงไปหาตัวอย่าง ซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยความเข้าใจ ให้ชัดเจนมากขึ้น อาตมาจะพูดถึงตัวอย่างการแก้ปัญหาโดยสอดคล้องกับความเข้าใจในธรรมชาติ และจุดหมายของมนุษย์

ได้พูดไปแล้วว่าสาเหตุหรือที่มาของปัญหาจิตใจ หรือปัญหาชีวิตของคนในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม สาระสำคัญของปัญหาจิตใจที่ว่านี้คืออะไร

จะขอสรุปว่า ที่มาของปัญหาจิตใจของคนในปัจจุบันนี้ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสภาพความเป็นจริงในชีวิตและสังคมกับสภาพของจิตใจมนุษย์ซึ่งไม่มีปัญญาที่จะรับมือให้สอดคล้องเท่าทันกันกับสภาพชีวิตและสังคมที่เป็นจริงนั้น หรือพูดให้ตรงเข้าอีกว่าไม่มีปัญญาพอที่จะปรับจิตใจให้เท่าทันกับสภาพเช่นนั้น

ขอย้ำอีกทีหนึ่ง อาจจะตามทันยาก บอกว่า ที่มาของปัญหาชีวิตจิตใจของคนในปัจจุบัน คือความขัดแย้งระหว่างสภาพความเป็นจริงในชีวิตและสังคม กับสภาพจิตใจของมนุษย์ ซึ่งไม่มีปัญญาที่จะรับมือให้สอดคล้องเท่าทันกันกับสภาพที่เป็นจริง กล่าวคือ สภาพชีวิตและสังคม ทั้งความเป็นอยู่ และเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกปัจจุบันนี้ มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและรวดเร็ว แต่พร้อมกันนั้นจิตใจของคนที่อยู่ในสภาพความเป็นจริงนั้น ไม่มีปัญญาพอที่จะรับมือกับสภาพนั้นได้ เมื่อไม่มีปัญญาพอที่จะรับมือกับมัน ก็เกิดความขัดแย้งแล้วก็กลายเป็นปมปัญหาขึ้นมา

จะขอยกตัวอย่าง เป็นคำพูดสัก ๔ ประโยค ให้เห็นลักษณะของความเป็นไปของจิตใจของมนุษย์ในสังคมยุคอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ที่กำลังมีปัญหายุ่งยากในลักษณะที่เป็นความขัดแย้งกันอยู่ เช่นว่า

๑. ในขณะที่สังคมมีคนมากมายคับคั่งยิ่งขึ้น บุคคลแต่ละคนกลับโดดเดี่ยวเดียวดายว้าเหว่มากขึ้น

บ้านเมืองเจริญขึ้น ประชากรเพิ่มมากมาย ผู้คนอยู่กันคับคั่ง ทั้งถิ่นที่อยู่ ที่ทำงาน ตามร้านตลาด และที่ชุมนุมทั่วไป แต่แทนที่แต่ละคนจะรู้สึกอบอุ่นมีเพื่อนพ้องมากมาย คนจำนวนมากกลับรู้สึกว่าตนอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีความเหงา มีความรู้สึกว้าเหว่มากขึ้น

๒. คนในยุคปัจจุบันนี้ ต้องการให้ตัวตนของตนเองได้รับการยอมรับ ให้เด่นเป็นที่ปรากฏ มีความสำคัญ ได้รับความสนใจมากๆ แต่ก็ไม่สมปรารถนา ดังที่อาจจะพูดได้ว่า ในขณะที่คนกำลังใฝ่หาต้องการให้สังคมหรือคนอื่นยอมรับตัวตนของตนอย่างเต็มที่ แต่สังคมกลับปฏิบัติต่อบุคคลอย่างไม่เป็นตัวเป็นตนยิ่งขึ้น

อันนี้ก็สอดคล้องกับที่ในตะวันตกเขากำลังพูดว่าสังคมของเขาทุกวันนี้มีปัญหาที่คนถูกปฏิบัติอย่างที่เขาใช้คำว่าเป็น impersonal คืออย่างไม่เป็นตัวเป็นตน หรืออย่างไม่เป็นผู้เป็นคน1 ตัวบุคคลเหมือนกับว่าไม่มี เพราะไม่เป็นที่ปรากฏ หรือไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากระบบอุตสาหกรรม พร้อมทั้งระบบการดำเนินชีวิต และระบบการทำงานที่พ่วงอยู่กับระบบอุตสาหกรรมนั้น

เขายกตัวอย่างในทางอุตสาหกรรม เช่น ระบบการทำงานในโรงงานที่ปฏิบัติต่อคนเหมือนไม่เป็นคน หรือไม่มีตัวบุคคล คือตัวบุคคลแต่ละคนที่ทำงานเหมือนกับว่าไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ไม่ได้รับความสำคัญ เป็นเพียงเหมือนกับชิ้นส่วนของเครื่องจักรกล หรือเหมือนกับหุ่นยนต์ ที่ทำอะไรซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น เช่นขันนอตอยู่อย่างเดียวทั้งวัน ตรงจุดที่สายพานประกอบชิ้นส่วนของสินค้ามาถึง

สภาพเช่นนี้ สวนทางกับวิถีจิตวิทยาของตะวันตกที่เป็นมา ซึ่งถือหลักว่าคนเรานี้ต้องการที่จะให้คนอื่นยอมรับตัวตน ถึงกับว่าในแนวจิตวิทยาตะวันตกในทางการศึกษามีการพูดว่า การศึกษามีความมุ่งหมายอย่างหนึ่งคือการทำให้ตัวตนขยายใหญ่ยิ่งขึ้น แม้แต่ การศึกษาก็เพื่อทำให้ตัวตนนี้ขยายใหญ่ขึ้น มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทำให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า self-maximization

ที่นี้มันกลับกัน คือ วิถีชีวิตตามวัฒนธรรมตะวันตกก็ดี แนวความคิดพื้นฐานทางปรัชญาก็ดี ทำให้คนมีความปรารถนาและมุ่งหมายในทางที่จะแสดงออกซึ่งตัวตน ทำให้ตัวตนได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่พร้อมกันนั้นเองสภาพที่เป็นจริงของระบบชีวิตและสังคมของเขาในปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้น กลับเป็นระบบที่ปฏิบัติต่อบุคคลในทางที่ไม่เป็นตัวเป็นตนยิ่งขึ้น ทำให้เขาหมดความสำคัญลงไปยิ่งขึ้น

สังคมแบบอุตสาหกรรมนั้นยิงพัฒนาขึ้นเท่าใด สภาพชีวิตแบบที่ทำให้บุคคลหมดความเป็นตัวเป็นตนหรือหมดความสำคัญลงไปก็ยิ่งหนักหน่วงมากขึ้น จึงเกิดความขัดแย้งและไม่สมปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง

๓. ในขณะที่อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้คนมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมเต็มบ้าน แต่ในใจของคนกลับว่างเปล่า กลวงโบ๋ยิ่งขึ้น อันนี้ขอให้ดูว่าเป็นจริงหรือเปล่า คือคนในยุคอุตสาหกรรมที่เป็นมานี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสังคมวัตถุนิยม ถือว่าความสุขอยู่ที่การมีวัตถุพรั่งพร้อม

อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ได้มาช่วยให้คนมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม อย่างที่เรียกกันว่าเต็มบ้าน คนมีวัตถุพรั่งพร้อมเต็มไปหมด เต็มล้นบ้านอยู่รอบตัว ในขณะที่มีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมอยู่รอบตัว แต่ในใจนั้นกลับว่างเปล่า กลวงอย่างที่ว่านั้น จึงเป็นสภาพที่ขัดกัน ซึ่งจะต้องเป็นปัญหาอย่างแน่นอน

๔. ต่อไป ในขณะที่คนพวกกลวงในอย่างที่ว่ามานี้ กำลังพยายามออกไปหาความเต็มจากข้างนอกเพื่อเอามาเติมให้กับตนเอง เขาวิ่งหนีจากตัวเองออกไป แต่ก็ต้องผิดหวัง แทนที่จะได้รับการเติมให้เต็ม กลับถูกทำให้พร่องให้กลวงยิ่งขึ้น

ขยายความว่า คนที่กลวงใน ข้างในว่างเปล่าเหล่านี้ พากันออกไปข้างนอก ไปหาอะไรต่ออะไรมาเติม ไปหาวัตถุมาเติม ไปหาความสัมพันธ์ทางสังคมภายนอก ไปหากิจกรรมทางสังคมมาเติมให้กับตนเอง เพื่อให้เกิดความรู้สึกเต็ม วิ่งหนีจากตัวเองออกไปหาสิ่งเติม จะไปพึ่งพาสังคมให้ช่วยเติมให้กับตนเอง ให้ตัวเองนี้เกิดความรู้สึกเต็มขึ้นมา แต่ก็ปรากฏว่าสังคมนั้นได้ทำให้เขาอกหัก เพราะว่าคนในสังคมนั้นขาดความจริงใจ ขาดไมตรีที่แท้จริงต่อกัน ความพร่องหรือความกลวงในของเขาจึงไม่ได้รับการเติมให้เต็ม ความเต็มจึงไม่มี

เขาออกไปหาสังคมนึกว่าจะช่วยเติมเต็มให้กับตัวเอง แต่ก็ต้องกลับมาด้วยความผิดหวัง อกหัก ยิ่งอ้างว้าง ว่างเปล่ายิ่งขึ้น นี่คือสภาพในข้อที่ ๔ ที่บอกว่าในขณะที่คนพวกกลวงใน พยายามหาสิ่งภายนอกมาเติมตัวเองให้เต็ม วิ่งหนีจากตัวเองออกไปหาไปพึ่งพาสังคม สังคมกลับทำให้เขาอกหัก เพราะว่าในสังคมนั้นไม่มีความจริงใจ ขาดไมตรีที่แท้จริง คือสังคมเองก็กำลังมีสภาพขาดความสุขร่วมกัน ไม่มีความสุขในการอยู่ร่วมหมู่ อย่างที่ฝรั่งเอง เรียกว่าขาด public happiness ดังกล่าวแล้วข้างต้น

อันนี้ก็เป็นสภาพตัวอย่างซึ่งสังคมตะวันตกกำลังประสบอยู่ และสังคมที่พัฒนาตามแบบอุตสาหกรรมถ้าไม่รู้สึกตัว ไม่ปรับ ไม่เตรียมแก้ไขป้องกัน ก็จะต้องเป็นอย่างนี้

1เช่น
Charles Ansell, a California psychologist, blames this lack of direction largely on the impersonal workplace.
(Bernice Kanner, “What Price Ethics? The Morality of the Eighties,” New York Magazine, July 14, 1986)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.