คนไทยกับป่า

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จิตใจคนไทยสมัยนี้
ที่น่าเคลือบแคลง

คนไทยปัจจุบันนี้ ดูท่าทีไม่ค่อยเป็นมิตร และไม่ชื่นชมกับธรรมชาติ แต่จะคอยทำลายอยู่เรื่อย

เด็กของเราเดินไปไหน ก็ชอบถือไม้ พอผ่านต้นไม้มีดอกสวยงามก็แกล้งเด็ด บางทีก็เอาไม้ฟาดซ้าย หวดขวา มันจะหักจะอะไรก็ช่างมัน เห็นกระรอกกระแต หรือสัตว์อะไรก็ตามขวางหน้าไม่ได้ มีไม้ขว้าง ก็ขว้าง ถ้ามีหนังสติ๊ก ก็ยิงเตลิดเปิดเปิง สัตว์เล็กสัตว์น้อยทั้งหลายอยู่ไม่ติด เข้าหน้าไม่ได้เลย

จะเห็นว่า ในเมืองไทยนี้ สัตว์ทั้งหลายไม่เข้าหน้าคน ที่เข้าหน้าคนหายาก ไปที่ไหนมีไหมที่กระแตกระรอกจะวิ่งเข้ามาหา แต่พอเราไปประเทศอื่น เช่น ไปอินเดีย หรืออเมริกา สัตว์จะวิ่งเข้ามาหา กระรอกก็เข้ามา มันไม่หนีคน เราไปหา แทนที่มันจะหนี มันกลับเข้ามาใกล้ แล้วก็มายืนสองขา สองขาหลังยันพื้น สองขาหน้าก็ยกขึ้นมาที่ปาก ทำจุ๊บจิ๊บๆ พวกนกยูงหรือนกอะไรต่างๆ ยังมีมาก และเห็นคนก็ไม่หนี

ไม่เหมือนที่เมืองไทย สัตว์ทั้งหลายที่จะเข้าหน้าคนไม่มีเลย หนีหมด แต่ที่เมืองแขกเมืองฝรั่งเขาเหมือนกัน พวกสัตว์ทั้งหลายไม่กลัวคน อย่างเช่นกระรอกที่ว่าแล้วนั้น เห็นบ่อยมาก มีทั่วไปทั้งเมืองแขกและเมืองฝรั่ง เห็นคนก็ไม่หนี และชอบเข้ามาหาด้วย โดยเฉพาะที่เมืองฝรั่ง จะไปที่ไหนก็มีต้นไม้ มีป่า เขายังรักษาไว้ได้ดีพอสมควร

จากที่พูดมาก็กลายเป็นว่า ในเมืองไทยเรานี้ ผู้คนมีลักษณะที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับธรรมชาติ แต่มีลักษณะที่ชอบเบียดเบียนรังแก มีจิตใจโน้มเอียงไปในทางที่จะทำลายหรืออย่างไร อันนี้ก็น่าประหลาดใจ มันเป็นไปได้อย่างไร

นอกจากนั้น ก็ยังมีลักษณะที่เรียกว่า มักง่ายอีกด้วย เวลาเราจะเอาประโยชน์จากธรรมชาติ เราจะไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ธรรมชาติเลย และนึกถึงแค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่คำนึงถึงประโยชน์และความเสียหายของส่วนรวมในระยะยาว

เอาละ เราต้องอาศัยธรรมชาติเลี้ยงชีวิต เราก็เอาประโยชน์จากมันบ้าง แต่ทำไมเราจะทำด้วยความรู้สึกที่มีความรักความห่วงใยเอาใจใส่ช่วยระวังรักษา หรือคิดถึงผลข้างหน้าที่กว้างไกลออกไปบ้างไม่ได้หรือ

อย่างที่ป่าทางจังหวัดอุบลราชธานี อาตมาไปวัดป่า ได้ไปรู้ไปเห็นว่า พระท่านต้องกลายเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาป่า ต้องดูแลต้นไม้

ท่านเล่าว่า บางครั้งชาวบ้านจะเอาประโยชน์อะไรนิดเดียวเขาก็โค่นต้นไม้ทั้งต้นเลย ต้นไม้ใหญ่ กว่าจะโตขึ้นมา ต้องใช้เวลา ๔๐-๕๐ ปี หรืออาจจะถึง ๑๐๐ ปี คนจะมาเอารังผึ้งรังเดียว หรือเอาผลของมัน ก็โค่นต้นไม้ทั้งต้น

บางครั้งจะล่าสัตว์ จะยิงสัตว์ จะเอาสัตว์ตัวเดียว ก็เผาป่าทั้งป่า เพื่อจะดักสัตว์ ต้อนสัตว์ ด้วยไฟป่า ไม่ได้คำนึงว่า มันจะไหม้ต่อไปแล้วเกิดความเสียหายมากเท่าไร ทำไมเราจึงทำโดยไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณาอะไร กลายเป็นคนคิดสั้น มักง่าย

พฤติกรรมอย่างนี้ ไม่ได้สอดคล้องกับภูมิหลังทางวัฒนธรรม หรือว่าเราอบรมกันไม่สำเร็จ นับว่าเป็นลักษณะที่ไม่เกื้อกูล เป็นท่าทีที่ไม่เอื้ออำนวยในการที่จะอนุรักษ์ป่า เป็นลักษณะของการมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตร

ธรรมชาติอยู่ที่ไหน พอไปเห็นเข้าก็จะต้องยิง จะต้องขว้าง ต้องฟาด คือ ถ้าเป็นใบไม้ดอกไม้ก็ฟาด เด็ดได้ก็เด็ด ถ้าเป็นกิ่งไม้ หักได้ก็หัก ถ้าเป็นสัตว์ทั้งหลายก็ต้องยิง เป็นต้น ทั้งๆ ที่ว่าไม่ได้เอาเป็นอาหาร ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ยังทำลายเล่นสนุกๆ ก็ทำกันไปอย่างนั้นแหละ และทำไปแบบที่เรียกว่ามักง่าย เอาแต่จะได้ง่ายๆ มันจะเสียเท่าไรก็ช่างมัน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

ท่าทีนี้คงจะต้องเปลี่ยนกัน ต้องฝึกต้องให้การศึกษากันมาก ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นคนมองแต่จะเอาประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า เกียจคร้าน ไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบ ไม่รับผิดชอบต่อสังคม หรือต่อส่วนรวม

แม้แต่มองในแง่มนุษย์ด้วยกันเอง ก็ยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของมนุษย์ด้วยกัน หรือประโยชน์ต่อสังคม ถึงจะไม่มองในแง่เกื้อกูลแก่ธรรมชาติ ถ้ามองในระดับมนุษย์ด้วยกันก็ยังดีว่า เออ เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อประโยชน์ร่วมกันของชุมชนหรือของหมู่ชนของเรานะ ให้คนอื่นเขาได้กินได้ใช้ด้วย และให้มีกินมีใช้กันไปได้นานๆ

เป็นอันว่า ตามที่เป็นอยู่ คนไทยเราไม่ค่อยมองประโยชน์ระยะยาว จึงจะต้องฝึกสอนให้การศึกษากันใหม่ ให้เด็กเป็นคนรู้จักคิดพิจารณา และถ้าหากว่าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็ต้องมีน้ำใจต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย

แต่ถ้าเป็นอย่างที่ว่ามานี้ แม้แต่มนุษย์ด้วยกัน เราก็ยังไม่มีน้ำใจ ไม่ต้องไปนึกถึงการที่จะมีน้ำใจต่อสัตว์ทั้งหลาย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย จึงได้พูดถึงเรื่องของภูมิหลังที่เอามาประกอบการพิจารณา

ที่นำมาพูดนี้ ก็เป็นข้อนำเสนอไว้ให้เอามาช่วยกันคิดเท่านั้น และอาจจะพูดไม่ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุมก็ได้ เอาแค่เป็นข้อสังเกต

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง