คนไทยกับป่า

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การแก้ปัญหาระดับพฤติกรรม:
ด้วยการสร้างความเคยชินที่ดี

อย่างไรก็ดี ในสังคมที่มีคนมากมายอยู่ในระดับการพัฒนาต่างๆ กัน การแก้ปัญหาในด้านพฤติกรรมแค่นี้ยังไม่พอ ได้บอกแล้วว่า กฎหมายและระเบียบข้อบังคับทั้งหลาย ยังมีข้อบกพร่องอย่างที่ว่า เมื่อคนมองเป็นเครื่องบีบบังคับ ก็จะมีการฝืนใจ เนื่องจากขัดแย้งต่อผลประโยชน์ ความสะดวกสบาย และความเคยชินส่วนตัว ทำให้มีการหลีกเลี่ยง และมีการสมคบกันทุจริตได้

วิธีแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งเป็นปฏิบัติการในระดับพฤติกรรมเหมือนกัน

ส่วนดีอย่างหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมประเพณีได้ผลดีกว่ากฎหมายของรัฐก็คือ การสร้างความเคยชิน

วัฒนธรรมประเพณีเป็นพฤติกรรมเคยชินอย่างหนึ่ง ที่เป็นส่วนหลักของสังคม คือเป็นสิ่งที่สังคมถ่ายทอดทำตามกันมาจนลงตัว ถึงขนาดที่ปฏิบัติไปตามโดยไม่รู้ตัว

นอกจากพฤติกรรมเคยชินของสังคมแล้ว พฤติกรรมเคยชินของแต่ละบุคคลก็เป็นตัวกำหนดสำคัญในการดำเนินชีวิตของเขา

การที่คนจำนวนมากมีพฤติกรรมบางอย่างที่พึงปรารถนา ก็เพราะมีพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งมาจากพฤติกรรมเคยชินของสังคม คือวัฒนธรรมประเพณีก็มี มาจากพฤติกรรมเคยชินส่วนบุคคลก็มี

อย่างเช่น เมื่อเราพูดถึงสังคมตะวันตกว่า คนมีนิสัยชอบศึกษาค้นคว้า ชอบอ่านหนังสือ ตลอดจนเข้าคิวเรียงแถว อันนี้ก็เป็นพฤติกรรมเคยชินที่ถ่ายทอดกันมาจากพ่อแม่ถึงลูก จากคนรุ่นเก่าถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งทำตามกันมาโดยไม่รู้ตัว เป็นเรื่องที่เคยชินลงตัวไปอย่างนั้นแล้ว

คนเรานี้เกิดมาแล้ว ก็ต้องมีการเคลื่อนไหว เมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างไรแล้ว ก็มักจะเคลื่อนไหวซ้ำอย่างเดียวกันนั้นอีกในสถานการณ์ที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน เมื่อเคลื่อนไหวอย่างนั้นๆ ซ้ำๆ ก็กลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน และพฤติกรรมเคยชินของเขานั้นก็จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง คือไม่ดีก็เสีย และถ้าพฤติกรรมเคยชินเกิดขึ้นแล้ว ก็แก้ไขยาก

ฉะนั้น เราจะต้องหาทางทำให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดีขึ้นมา ก่อนที่พฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีจะชิงตัดหน้าเกิดขึ้นเสียก่อน

โดยเฉพาะในการให้การศึกษาแก่มนุษย์ จุดนี้สำคัญมาก อย่างเช่น ในครอบครัว การศึกษาส่วนใหญ่ในตอนแรกก็เป็นการสร้างพฤติกรรมเคยชินนั่นเอง คือทำให้เด็กมีพฤติกรรมเคยชินที่ดีเสียก่อน เป็นการตัดหน้า ไม่ปล่อยเรื่อยเปื่อย หรือไม่เปิดโอกาสให้พฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีเข้ามาได้ แต่ถ้าเผลอปล่อยให้เด็กมีพฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีเกิดขึ้นแล้ว ก็แก้ไขยาก

โดยเฉพาะก็พ่อแม่นี่แหละสำคัญยิ่งนัก เด็กจะติดความเคยชินจากการพูดตามทำตามรู้สึกตามพ่อแม่เป็นทุนประเดิม ถ้าพ่อแม่ขาดสติ ไม่ระมัดระวัง ลูกก็จะได้ความเคยชินที่ไม่ดีทั้งทางพฤติกรรมและทางความคิดความรู้สึกทัศนคติจากพ่อแม่เองบ้าง จากสิ่งแวดล้อมอื่นที่มีอิทธิพลแรง เช่นทีวี บ้าง พ่อแม่จึงต้องตระหนักเรื่องนี้ไว้ให้ดี และมีสติที่จะนำลูกไปในวิถีที่ถูกต้อง

ต้องย้ำว่า มนุษย์ส่วนใหญ่นี้ เมื่อมีพฤติกรรมเคยชินลงร่องแล้วจะแก้ไขยาก มนุษย์ส่วนใหญ่จะอยู่ด้วยพฤติกรรมเคยชิน เคยทำอะไรอย่างไร ก็จะทำอย่างนั้น เคยชอบหรือไม่ชอบอะไร อย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้น แล้วความเคยชินทั้งทางพฤติกรรมและทางความคิดจิตใจ ก็จะเป็นตัวการสำคัญที่นำกำหนดวิถีชีวิตหรือโชคชะตาของเขา และก็อันนี้แหละที่คำพระเรียกว่า “วาสนา”

มีมนุษย์ส่วนน้อยที่พัฒนาตัวได้ดี ที่จะสามารถปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมความคิดท่าทีของจิตใจที่เคยชินได้ และมนุษย์พวกนี้แหละที่จัดว่าเป็นมนุษย์ขั้นที่ดีมาก คือเป็นนักพัฒนาตน มีการศึกษาที่ดี และจะมีวาสนาที่ดี

วิธีการส่วนสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับประเมินศักยภาพของคนในการที่จะพัฒนาต่อไปว่าจะดำเนินไปได้ดีแค่ไหน ก็ดูที่การแก้พฤติกรรมเคยชิน คนที่ไม่ติดในพฤติกรรมเคยชิน หรือพร้อมที่จะแก้พฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีได้ง่าย จะเป็นผู้สามารถพัฒนาปรับปรุงชีวิตให้เจริญงอกงาม และดำเนินกิจการต่างๆ ได้สำเร็จด้วยดี แต่คนอย่างนี้มีน้อย มนุษย์ส่วนใหญ่จะติดอยู่ในพฤติกรรมเคยชิน

ฉะนั้น จึงถือเป็นหลักการสำคัญว่า จะต้องสร้างพฤติกรรมเคยชินที่เอื้อต่อการบำรุงรักษาธรรมชาติ

ในสังคมบางสังคม พฤติกรรมเคยชินจะเป็นอย่างนั้นเอง เนื่องจากถ่ายทอดกันมาเป็นวัฒนธรรมประเพณี แล้วก็ทำตามกันไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องพยายาม เมื่อพฤติกรรมเคยชินอย่างนั้นเป็นพฤติกรรมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์ และเป็นพฤติกรรมที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของธรรมชาติ ก็จึงเป็นการรักษาธรรมชาติไปในตัว

ในสังคมไทย ดูเหมือนว่าเราจะมีพฤติกรรมเคยชินที่ไม่เกื้อกูลต่อธรรมชาติแวดล้อม เช่น เด็กของเรานี้ พอเห็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ที่อ่อนแอกว่าตัวที่ไหน ก็จะวิ่งไล่ จะต้องเอาไม้ตี ไม้ขว้าง หรือยิงมัน นี่ถือว่าเป็นพฤติกรรมเคยชินในทางที่ไม่ดี

เมื่อปล่อยต่อไปก็เคยตัว เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ถ่ายทอดไปยังรุ่นเด็กต่อไป กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคม แต่เป็นวัฒนธรรมในทางเสื่อมเสีย

เพราะฉะนั้น เรื่องพฤติกรรมเคยชินนี้จึงเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาในระดับพฤติกรรม ซึ่งจะต้องเน้นสำหรับเด็ก เราจะต้องพยายามวางแนวทางการศึกษาในขั้นต้น คือ การสร้างพฤติกรรมเคยชินที่ดีที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ป่า รักษาธรรมชาติแวดล้อม อันนี้เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องช่วยกัน

แม้แต่การบริโภค ก็จะเป็นไปในรูปของพฤติกรรมเคยชิน พฤติกรรมเคยชินเป็นอย่างไร ก็จะกินกันอย่างนั้น แล้วก็จะมีผลให้เป็นการกินที่ฟุ่มเฟือย หรือการกินที่ประหยัด เป็นต้น ของสังคมนั้นอย่างไม่รู้ตัว

ขอยกตัวอย่าง เช่น ในสังคมเกาหลี ซึ่งอาตมาเคยไป และได้ฉันอาหารของเกาหลี เขาเอาบาตรของเกาหลีมาให้ใช้ บาตรของเขานั้น เป็นบาตรชุดที่ซ้อนกันหลายขนาด และทั้งหมดนั้นซ้อนอยู่ในบาตรใบใหญ่ใบเดียว รวมทั้งหมดมี ๔-๕ ใบซ้อนกันอยู่ เล็กลงไปตามลำดับ

พอนั่งจะฉัน ก็ดึงเอาแต่ละใบนี้ออกมาวางต่างหากกัน แล้วก็ตักอาหารใส่ และต้องฉันให้หมด ไม่ให้มีเหลือ เพราะจะต้องเก็บบาตรทุกใบนั้นซ้อนกันอย่างเก่า เพราะฉะนั้น จะต้องฉันให้เกลี้ยง และจะต้องเทน้ำล้างลงในบาตรทุกใบ แล้วดื่มด้วย ดื่มหมดแล้วบาตรก็สะอาด แล้วก็นำมาซ้อนกัน เสร็จแล้วก็ถือเอาไปเก็บไว้ อันนี้ก็เป็นพฤติกรรมเคยชิน สังคมของเขาอยู่กันมาอย่างนั้น เราจะเห็นว่าพฤติกรรมเคยชินแบบนี้เอื้อต่อการประหยัด

ทีนี้เราก็ลองมาตรวจสอบตัวเองดูซิว่า พฤติกรรมเคยชินของคนไทย เป็นพฤติกรรมที่เอื้อต่อการประหยัดและส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไม่ พฤติกรรมไหนดี ที่ควรจะรักษา พฤติกรรมไหนไม่ดี ที่ควรจะแก้ไข เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของพฤติกรรมเคยชินทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่

สรุปว่า การแก้ปัญหาระดับที่หนึ่งคือ การแก้ปัญหาระดับพฤติกรรม ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. การออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กติกาของสังคม

๒. การสร้างพฤติกรรมเคยชิน

สองอย่างนี้จะต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่จะแก้ปัญหา แต่แค่นี้ยังไม่พอ การแก้ปัญหาในระดับพฤติกรรมเท่านั้นไม่พอ จะต้องก้าวไปสู่ขั้นที่สอง คือ ระดับจิตใจด้วย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง