เมื่อตั้งหัวข้อ “คนไทยกับป่า” ก็ทำให้รู้สึกว่า เอาคนไทยมาตั้งอยู่ข้างหนึ่ง แล้วก็เอาป่าไปตั้งอีกข้างหนึ่ง เป็นสองฝ่ายมาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
แล้วก็ต้องถามต่อไปว่า คนไทยกับป่าสัมพันธ์กันแบบไหน ถ้าจะเอาแบบง่ายๆ ที่สุด การสัมพันธ์กันก็มี ๒ แบบ คือสัมพันธ์กันอย่างเป็นมิตร กับสัมพันธ์กันอย่างเป็นศัตรู คนไทยเรากับป่านี้เป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกัน อันนี้ก็เป็นคำถามหนึ่ง เป็นคำถามแบบง่ายๆ
ถ้ามีการทำลายกันให้หมดๆ ไป ก็ทำให้ระแวงว่าจะมีความสัมพันธ์แบบเป็นศัตรูกัน
ถ้าเป็นศัตรูกัน ก็จะมีคำถามต่อไปว่า ระหว่างคนไทยกับป่า ใครจะอยู่ ใครจะไป ถ้าดูจากที่ผ่านมา บอกว่าป่าลดน้อยลงเรื่อยๆ และเราก็เห็นชัดว่าคนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็แสดงว่าป่าจะไป ใช่หรือไม่ คือ ป่าแพ้คน ถ้าอย่างนั้นคนก็คงจะชนะแล้วซิ เพราะป่าจะไปแล้ว
แต่ลองมองดูกันให้แน่อีกหน่อย จริงหรือที่ว่าป่าจะไป คนจะอยู่ ไม่แน่ ถ้าป่าไปแล้ว สงสัยว่าคนจะไปด้วย เห็นจะต้องไปด้วยกัน เราบอกว่าป่าแพ้คน แล้วป่าก็หมดไป แต่ในที่สุด ภัยอันตรายมันจะกลับมาถึงตัวคนเอง แล้วคนก็จะไปด้วย คนจะอยู่ไม่ได้ คนไม่สามารถจะอยู่ได้โดยปราศจากป่า เพราะฉะนั้น เราพูดได้ว่าจะไปด้วยกัน เพียงแต่ตอนนี้อาจจะรู้สึกว่าคนชนะหน่อย
ไม่ต้องดูอะไรมาก ขนาดป่าเหลืออยู่ประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์นี้ สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของคนไทยแย่ลงขนาดไหน มันก็เป็นเครื่องเตือนแล้วว่า ถ้าป่าหมด คนก็ต้องไปด้วย
เวลานี้ดินฟ้าอากาศรู้สึกว่าแปรปรวน ไม่ค่อยปกติ ความแห้งแล้งก็เกิดขึ้นมา มีการขาดแคลนน้ำมากขึ้น ตัวอย่างเช่น จังหวัดฉะเชิงเทราที่เรานั่งพูดกันอยู่นี้ ปีนี้ก็มีการประกาศข่าวของทางราชการ ได้ยินวิทยุออกมาในช่วงเดือนที่แล้วว่าเริ่มขาดแคลนน้ำ จังหวัดฉะเชิงเทราขาดแคลนน้ำ ไม่น่าจะเป็นไปได้
เหตุการณ์นี้ก็เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งว่า ปัญหาคงจะเกี่ยวโยงกับเรื่องความเสื่อมของป่าด้วยเหมือนกัน แล้วก็รวมอยู่ในเรื่องของสภาพแวดล้อมทั้งหลายนั่นแหละ แต่โดยสรุปก็คือ มันเป็นเครื่องเตือนว่า ถ้าป่าหมดไปแล้ว คนก็ต้องไปด้วย เมื่อคนไม่มีน้ำกิน ไม่มีธรรมชาติแวดล้อมที่ดี ทรัพยากรธรรมชาติสูญเสียหมดไป คนจะอยู่อย่างไร คนก็ต้องไปด้วย
เพราะฉะนั้น การที่มนุษย์ไปทำลายสภาพแวดล้อม ก็เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม แต่มันไม่จบเท่านั้นหรอก ภัยอันตรายนั้นจะต้องย้อนกลับมาหามนุษย์เองนั่นแหละ
ตามที่กล่าวมานี้ ถ้ามองให้ดีจะเห็นได้ว่า การที่เราทำตัวเป็นศัตรูกับป่านั้น ว่าที่จริง มันเป็นเรื่องของมนุษย์ฝ่ายเดียวที่ไปตั้งตัวเป็นศัตรูกับป่า ป่าเขาไม่ได้มาทำตัวเป็นศัตรูกับมนุษย์หรอก ป่าก็อยู่ของป่าตามธรรมดาของมัน แต่มนุษย์เองไปทำตัวเป็นศัตรูกับป่า เรียกให้ตรงเลยว่าเป็นผู้ไปทำร้ายเขา เบียดเบียนเขา เอาเปรียบเขา เอาป่ามาใช้ทำประโยชน์สนองความต้องการของตัวเอง นึกว่าตัวเองนี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากป่า เป็นนายเหนือป่า ฉันจะใช้ป่าอย่างไรก็ได้ ฉันจะเอาประโยชน์ของฉัน สนองความต้องการสนองความอยากของฉัน อันนี้แหละ เรียกว่าเอาเปรียบ
ขณะที่ป่าอยู่เฉยๆ มันก็ถูกทำลาย เป็นฝ่ายรับ ส่วนมนุษย์เป็นฝ่ายรุกไป แต่โดยที่ว่ามนุษย์ทำการอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เรียกได้ว่าเป็นกรรมที่ไม่ดี ในที่สุด ผลกระทบก็กลับมาตกแก่มนุษย์เอง มนุษย์จึงกำลังได้รับผลกรรมของตัวเองมากขึ้นๆ จนกระทั่งเริ่มเกิดความรู้สึก รู้ตระหนักถึงภัยอันตรายที่เกิดกับตน ก็เลยหันมาพยายามหาทางแก้ไข
ตกลงว่า ปัญหาที่เกิดแก่ป่า เป็นปัญหาที่เกิดจากคน ป่าไม่ได้เกิดเป็นปัญหาเอง ปัญหาเกิดจากคน แล้วในที่สุดปัญหาก็เกิดแก่คน แสดงว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างปัญหา แล้วก็เป็นผู้ได้รับปัญหาในที่สุด เพราะว่าคนไปเอาจากป่า ทำร้ายป่า เสร็จแล้วคนก็เดือดร้อนเอง เป็นผู้สร้างปัญหาด้วย แล้วก็เป็นผู้รับปัญหาด้วย แล้วก็เลยต้องเป็นการแก้ปัญหาจากคน
ไปๆ มาๆ เป็นเรื่องของคนเองทั้งนั้น คนสร้างปัญหา คนประสบปัญหา แล้วคนก็จะต้องแก้ปัญหาของคน
เพราะฉะนั้น เวลานี้ ที่มนุษย์คิดจะแก้ปัญหาในเรื่องป่านั้น โดยมากเราจะทำโดยไม่ได้เห็นแก่ป่า แต่เราแก้ปัญหาเรื่องป่าเพื่อเห็นแก่คน เราทำเพื่อคน เราไม่ได้ทำเพื่อป่า
จะว่ากันไปแล้ว มนุษย์ก็ยังคงอยู่ในสภาพเห็นแก่ตัวนี่เอง เราไม่ได้เห็นแก่ป่า ใจเราเห็นแก่ตัว เราอยากจะเอาประโยชน์เพื่อมนุษย์ เราเอาจากป่า จนกระทั่งป่ามันจะแย่แล้ว จนมันเกิดภัยอันตรายแก่ตัวเองแล้ว จึงคิดแก้ปัญหา แต่ที่เราจะแก้ปัญหานั้นเราไม่ได้เห็นแก่ป่า เราเห็นแก่ตัวเรา แก้เพื่อเห็นแก่ตัวมนุษย์เอง
ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาด้วยว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาโดยเห็นแก่คน ไม่ได้เห็นแก่ป่าจริงนี้ มันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเพียงพอหรือไม่ แล้วอีกอย่างหนึ่ง มันแสดงสภาพของมนุษย์เราด้วยหรือเปล่าว่า มนุษย์เราอาจจะยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร นี้เป็นข้อพิจารณาอันหนึ่ง ถ้ามีโอกาสจะได้พูดกันต่อไป
แต่ว่าที่จริง ในระยะยาว ธรรมชาติมันมีการปรับตัวของมันเองให้มีดุลยภาพหรือมีสมดุล ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันจะต้องปรับตัวของมันให้เข้าอยู่ในสภาพที่มันอยู่ได้ แต่มนุษย์เราต้องการจะคงอยู่ในระบบของดุลยภาพนี้ด้วย เท่ากับว่าเราต้องการให้มนุษย์เรานี้อยู่ร่วมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบดุลยภาพนี้
แต่ทีนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ปรับตัวให้ดี ธรรมชาติมันก็ปรับตัวของมันอยู่ดี และเมื่อธรรมชาติปรับตัวของมันอยู่ได้นั้น มันอาจเป็นธรรมชาติที่ไม่มีคนอยู่ด้วยก็ได้
เราอย่านึกว่าธรรมชาติจะอยู่ไม่ได้ เมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลงต้องปรับตัวกันไปมา ในที่สุดธรรมชาติต้องอยู่ได้ เป็นแต่เพียงว่ามันจะเป็นธรรมชาติที่ไม่มีมนุษย์อยู่ด้วยเท่านั้นเอง คือ ไม่ว่าเราจะทำลายป่าหมดไป หรือทำอะไรต่างๆ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติก็จะต้องปรับตัวของมันเองจนกระทั่งมันจะอยู่เป็นธรรมชาตินั่นแหละ เพียงแต่ว่ามันอาจจะเป็นธรรมชาติที่ในนั้นไม่มีมนุษย์
เวลานี้เรามองโดยเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เราแยกตัวเองออกมา แล้วเราก็เรียกธรรมชาติส่วนอื่นนอกจากตัวเราว่า ธรรมชาติแวดล้อม คือเราเอาคนเป็นหลัก แล้วเราก็พูดออกไปว่าธรรมชาติแวดล้อม
แต่ที่จริง ถ้าเรามองจากมุมมองของธรรมชาติ มันอาจจะไม่ได้บอกว่ามันแวดล้อมตัวคน ธรรมชาติก็อยู่ของมันตามธรรมดา เราไปเอาตัวเราเป็นหลัก แล้วเราบอกว่ามันเป็นธรรมชาติแวดล้อม
แต่ความจริงก็คือ ถ้าหากว่าคนทำอะไรไม่ดี คนเองนั่นแหละจะหมด และถึงคนจะหมด ธรรมชาติก็จะยังอยู่ แล้วตอนนั้น ธรรมชาติก็จะไม่ได้แวดล้อมคนอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ก็คงไม่เรียกว่าธรรมชาติแวดล้อม มันก็เป็นธรรมชาติเฉยๆ เป็นธรรมชาติที่อยู่ของมันเองโดยไม่มีคน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปแวดล้อมใคร
เป็นอันว่า เรามองโลกโดยเอาตัวเราเป็นหลัก แล้วเราก็เรียกธรรมชาติส่วนอื่นๆ นอกจากตัวเราว่าสภาพแวดล้อม
แต่ที่จริงนั้น จะต้องมองรวมกัน ไม่ใช่แยกกัน คือมองว่าเป็นระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ หรือระบบของธรรมชาติทั้งหมด ที่มีมนุษย์เป็นส่วนร่วมอันหนึ่ง เราต้องการให้ธรรมชาติทั้งหมดนี้มีมนุษย์อยู่ร่วมต่อไปด้วย เราจึงต้องรักษาระบบที่มีดุลยภาพนี้ไว้ให้เป็นสภาพชนิดที่เรียกว่า มีคนอยู่ร่วมด้วย
ที่จริงนั้น มันเป็นการแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์เอง แล้วมนุษย์ก็เลยต้องหันไปทำดีกับป่า เพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง
ที่เราพูดกันมานี้ เราพูดเกี่ยวกับคนหรือมนุษย์ทั่วไปด้วย แต่เจาะจงเน้นที่คนไทยเป็นพิเศษ