๑. ระดับพฤติกรรม การแก้ปัญหาในระดับพฤติกรรม คือ ทำอย่างไรจะให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่ไม่ทำลายป่า แต่ให้มีพฤติกรรมที่อนุรักษ์ป่า หรือมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการอยู่ด้วยดีของป่า
เครื่องมือขั้นพื้นฐานที่สุดที่จะจัดวางไว้เป็นหลักประกันเบื้องต้น ก็คือ กฎเกณฑ์ หรือระเบียบ ข้อบังคับในสังคม เรียกง่ายๆ ว่า กติกาของสังคม อันนี้จำเป็นต้องมี แม้ว่าจะต้องระลึกตระหนักไว้ตลอดเวลาว่า กติกาอย่างเดียวจะให้ผลสำเร็จไปหมดไม่ได้
แต่ในสังคม มนุษย์ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบประเภทนี้ คือ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เช่น กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งจะต้องตกลงกำหนดกันว่าจะเอาอย่างไร สังคมจะเอาอย่างไร
แต่กฎเกณฑ์หรือกฎหมายนี้ มีจุดอ่อนที่เป็นปัญหาหลายอย่าง คือ
ก) ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนา ไม่มีปัญญา ขาดความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ ก็กลายเป็นเครื่องบีบคั้นบังคับกัน ทำให้ต้องมีการลงโทษ และทำให้เกิดการฝืนใจปฏิบัติ เนื่องจากความกลัวภัย กลัวโทษ เสียผลทางจิตใจ
ข) เมื่อเป็นเรื่องบีบบังคับฝืนใจ มนุษย์ก็จะหาทางหลีกเลี่ยง และนอกจากพวกที่หลบเลี่ยงได้แล้ว ก็ยังจะมีการทุจริตในระบบของการใช้กฎหมายอีกด้วย มนุษย์อาจจะสมคบกัน หรือทำอะไรด้วยประการต่างๆ ที่เป็นการทุจริต ทำให้กฎหมายไม่ได้ผล
อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในหมู่มนุษย์ ที่ว่าสังคมต้องมีกติกา
นอกจากนี้ กฎหมายยังจะมีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ กฎหมายเป็นของรัฐ เป็นของส่วนรวม เป็นข้อกำหนดความต้องการของส่วนรวมทั้งประเทศ แต่เมื่อสภาพท้องถิ่นไม่เหมือนกันก็จะทำให้เกิดผลในทางลบได้ เพราะในท้องถิ่นก็จะมีกฎหมายอีกประเภทหนึ่ง คือกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นมาโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร ได้แก่ วัฒนธรรมประเพณี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของกฎระเบียบเหมือนกัน
วัฒนธรรมประเพณีก็คือ กฎระเบียบข้อบังคับที่มีมาโดยไม่ได้วางเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นข้อกำหนดให้มนุษย์ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นต้องอยู่ในกรอบที่ว่าจะประพฤติตัวอย่างไร จะมีพฤติกรรมอย่างไร ตลอดจนมีวิธีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกันอย่างไร ซึ่งเป็นผลจากประสบการณ์ในการเป็นอยู่ของคนในที่นั้นเอง เพราะฉะนั้น โดยปกติมันจะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและได้ผลกว่า
บางครั้ง กฎหมายของรัฐ ซึ่งออกจากส่วนกลางจะไปขัดกับวัฒนธรรมประเพณี ก็เลยเกิดปัญหา
ที่จริง ทางฝ่ายกฎหมายของรัฐนั้นแพ้วัฒนธรรมประเพณี เพราะคนที่วางกฎเกณฑ์จากศูนย์กลางนั้น ไม่รู้ความเป็นจริง ไม่รู้จักสภาพที่แท้ของท้องถิ่น แต่วัฒนธรรมประเพณีนั้น เกิดจากประสบการณ์ของคนที่เขาอยู่กันมาอย่างนั้น เขาสร้างขึ้นมาจากความเป็นอยู่ และจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ของเขาเอง ที่เขาจะต้องอยู่กันให้ดี
นอกจากนั้น กฎหมายของประเทศที่เป็นของกลาง ต้องทำในวงกว้างแบบเหมาคลุม จึงไม่อาจทำให้เหมาะกับท้องถิ่นต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันได้ทั่วทั้งหมด
ถ้าจะให้ดี จึงควรจะต้องใช้วิธีประสานกลมกลืนกัน โดยให้กฎหมายเอื้อโอกาสแก่วัฒนธรรมประเพณีบ้าง ให้กฎหมายคลุมในส่วนที่ต้องปรับสม่ำเสมอกันทั่วประเทศ แล้วใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมประเพณีในฐานะเป็นตัวเสริมสำทับบ้าง
อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมประเพณี ก็มิใช่ว่าจะดีเสมอไป สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ก็อาจจะขัดแย้ง ไม่ประสานกลมกลืน และไม่เอื้อประโยชน์เท่าที่ควร จึงต้องมีการปรับ และต้องรู้จักใช้อย่างฉลาด แต่รวมแล้วก็เป็นเรื่องของกฎระเบียบ ข้อบังคับ กติกาของสังคมซึ่งต้องมี อันนี้เป็นประการที่หนึ่ง
ในสังคมที่พัฒนาดีแล้ว ที่คนก็พัฒนาแล้ว และกฎหมายก็วางไว้ดีตามหลักการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ กฎหมายนั้นจะมีความหมายเป็นกติกาจริงๆ คือเป็นเพียงข้อตกลงสำหรับคนในสังคมจะหมายรู้ร่วมกัน ว่าในการอยู่ร่วมกันและเพื่อประโยชน์สุขร่วมกันนั้น เราจะอยู่กันอย่างไร และจะทำอะไรกันอย่างไร
นี่ก็เหมือนการอยู่ในครอบครัว ที่มีข้อตกลงกันไว้ว่า จะกินจะนอน จะทำอะไรที่ไหนเวลาไหน หรือเหมือนกฎจราจรที่มีไว้เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ที่จะเดินทางได้สะดวกที่สุดในสถานการณ์ที่ต่างคนต่างก็จะต้องเดินทางกันทั้งนั้น
สำหรับคนที่พัฒนาแล้ว กฎหมายจึงไม่ใช่สิ่งบีบบังคับ แต่เป็นข้อหมายรู้ร่วมกัน