คนไทยกับป่า

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สู่มิติใหม่
แห่งการมองความหมายของชีวิต

ทีนี้ยังมีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมองดูได้จากวิถีชีวิตของพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า ถ้าบุคคลเข้าถึงธรรมชาติ เขาจะมีความสุขเพิ่มอีกอย่างหนึ่ง คือความสุขกับธรรมชาติ ที่เป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมดาที่มีอยู่ เช่น จากการที่ได้ชื่นชมสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ

ความสุขกับธรรมชาตินี้ เป็นความสุขพื้นฐานที่มีได้ง่ายๆ เป็นของธรรมดา หาได้ตลอดเวลา เมื่อเขามีความสุขชนิดนี้เป็นฐานอยู่ ก็เท่ากับมีความสุขเป็นทุนอยู่กับตัวส่วนหนึ่งแล้ว และอีกด้านหนึ่งเขาก็มีตามปกติอย่างที่แสวงหากัน คือความสุขจากวัตถุบำรุงบำเรอความสุข

แต่การที่เขามีความสุขกับธรรมชาติเป็นทุนในตัวอยู่แล้วนี้ ทำให้เขาไม่ต้องทุ่มตัวไปหวังความสุขจากการที่จะต้องหาวัตถุบำรุงบำเรอให้เต็มที่เพียงอย่างเดียว คือ ไม่ต้องมุ่งไปด้านเดียว ที่จะต้องหาวัตถุให้เต็มที่

ต่างกับคนพวกที่ไม่มีความสุขกับธรรมชาติเป็นฐานเป็นทุนอยู่ คนพวกนั้นมีความหวังในความสุขอยู่กับวัตถุบำรุงบำเรอเพียงอย่างเดียว ไม่มีความสุขอย่างอื่นเลย จึงฝากความหวังไว้กับวัตถุภายนอกอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น เขาจะต้องเอาวัตถุให้ได้ และให้มากที่สุดอย่างเดียวเท่านั้น มิฉะนั้นก็จะไม่มีความสุขได้เลย

เมื่อคนมีความสุขกับธรรมชาติแล้ว การที่จะต้องดิ้นรนหาความสุขจากการหาวัตถุมาบำรุงบำเรอให้เต็มที่ ก็จะมีขอบเขตขึ้นมาทันที มันจะลดความรุนแรงลง คือจะเกิดความพอดี เป็นไปอย่างพอดี ไม่เกิดโทษแก่ชีวิตและสังคม และเขาก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดความเสียหายแก่ธรรมชาติ และไม่เกิดความเสียหายตีกลับจากธรรมชาตินั้นด้วย

ความสุขกับธรรมชาติ และความสุขจากธรรมชาตินั้น มิใช่มีเพียงขั้นพื้นฐานที่ว่ามาแล้ว ซึ่งเป็นทุนขั้นต้นที่ทุกคนควรจะมีสำหรับการมีชีวิตที่ดีงามอยู่ในโลกเท่านั้น แต่ในขั้นสูงสุด ความสุขที่แท้จริง ก็เป็นความสุขที่เนื่องด้วยธรรมชาติอีก คือความสุขในความเป็นอิสระที่เกิดจากการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

ความสุขระดับนี้เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับการใช้ธรรมชาติเป็นองค์ประกอบในการพัฒนามนุษย์โดยตรง แต่เป็นเรื่องที่จะต้องพูดไว้ต่างหาก ในที่นี้จึงเพียงแต่อ้างอิงไว้ให้เห็นหลัก

การมองธรรมชาติในแง่ประโยชน์ทางจิตใจนี้ เป็นวิธีรักษาดุลยภาพขององค์รวมเบ็ดเสร็จที่ครอบคลุมด้านจิตใจด้วย ซึ่งรวมถึงดุลยภาพในแง่ของความสุขด้วย

เป็นอันว่า ความสุขของมนุษย์ไม่ขึ้นอยู่กับวัตถุบำรุงบำเรอ คือ ไม่ขึ้นต่อวัตถุภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่มีอยู่ที่ตัวเองซึ่งหาได้จากธรรมชาติด้วย เมื่อรวมแล้วจึงมีความสุข ๒ แบบ คือ ความสุขที่สร้างขึ้นได้ในตัวเอง ที่มีได้เอง กับความสุขที่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก

มนุษย์ทั้งหลายหาความสุขไป โดยคิดว่าตัวเองนี้เก่งกาจ สามารถหาวัตถุได้มากมายจากการพิชิตธรรมชาติได้แล้วจัดสรรปรุงแต่งเอามาสนองความต้องการของตนได้ตามชอบใจ มีความภูมิใจว่าตัวเรานี้ยิ่งใหญ่

มนุษย์ที่มีฐานความคิดแบบเมื่อกี้ คิดแต่จะพิชิตธรรมชาติ และก็เข้าใจว่าตนพิชิตทุกอย่างได้สำเร็จ เรายิ่งใหญ่ เรามีอิสรภาพ ไม่ต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของธรรมชาติแล้ว ฯลฯ มนุษย์ภูมิใจในการมีวัตถุบำรุงบำเรอมากขึ้นนี้ว่าเราเก่งๆ แต่ไม่รู้ว่าในเวลาเดียวกันนั้น ตนเองได้สูญเสียอิสรภาพไปแล้ว

พอเราสร้างหรือหาวัตถุบำรุงบำเรอขึ้นมาได้ เราก็คิดว่า เราจะมีความสุขด้วยสิ่งนั้นๆ แล้วพอมันมีขึ้นมา เราก็รู้สึกว่ามีความสุขจริงๆ เราเก่งในการหาความสุข แต่ไปๆ มาๆ พอคิดดูอีกทีกลายเป็นว่า เราต้องมีมันเราจึงจะมีความสุขได้ ถ้าขาดมันเราอยู่ไม่ได้ เราไม่มีความสุข

กลายเป็นว่า มนุษย์ต้องฝากความสุขไว้กับวัตถุภายนอก ความสุขขึ้นต่อวัตถุภายนอก นี่ก็คือการสูญเสียอิสรภาพนั่นเอง

การที่มนุษย์ไม่สามารถมีความสุขด้วยตัวเอง และต้องคอยเพิ่มปริมาณของวัตถุภายนอกมากขึ้น เพื่อให้ตนเองมีความสุข ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่ไม่ได้ ไม่มีความสุข อันนี้ในแง่ของพระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์สูญเสียอิสรภาพ กลายเป็นผู้ขึ้นต่อสิ่งภายนอก

อันนี้เป็นการมองสวนทางกันกับแนวคิดตะวันตก ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นความยิ่งใหญ่หรือความมีอิสรภาพของมนุษย์ที่สามารถไปเอาวัตถุมาบำรุงบำเรอตนให้พรั่งพร้อมได้ แล้วตนก็จะมีความสุขเต็มที่ แต่พุทธศาสนากลับมองว่า การรอความสุขจากวัตถุบำเรอพรั่งพร้อมเต็มที่นั้นคือการสูญเสียอิสรภาพ เพราะมนุษย์อยู่เองมีความสุขไม่ได้ ต้องเอาความสุขไปขึ้นกับสิ่งภายนอก

โดยวิธีนี้ วิทยาศาสตร์จะพัฒนาไปจนกระทั่งว่า เมื่อมนุษย์มีปัญหาในจิตใจของตัวเอง ก็แก้ปัญหาด้วยจิตใจของตัวเองนั้นไม่ได้ แต่มนุษย์ที่คิดว่าตนเองเก่ง พิชิตธรรมชาติได้ กลับเห็นไปว่า ตนเองสามารถสร้างวัตถุมาแก้ปัญหาจิตใจได้

ต่อไปจะต้องมียาแก้ทุกข์ใจและยาบำรุงความสุข ทั้งยาเม็ด และยาฉีด เมื่อต้องการมีความสุขในทางจิตใจอย่างที่เคยเล่ามาแล้ว ก็ไปซื้อยานั้นมาฉีด ซื้อยาโน้นมากิน

เวลานี้เขากำลังค้นกันอยู่ เวลาจิตใจมีความสดชื่นเบิกบาน มีสารอะไรหลั่งออกมาในสมอง ก็บันทึกไว้ เวลาโกรธมีสารอะไรออกมา เวลาหดหู่มีสารอะไรออกมา ก็บันทึกไว้ แล้วก็ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เอาเทคโนโลยีจัดการสังเคราะห์สารนั้นขึ้นมา

ต่อไปมนุษย์ก็จะมีความสุขที่สร้างสรรค์ได้เอง เป็นความสุขที่เนรมิตได้ เวลาต้องการความร่าเริงเบิกบานก็ไปเอาเข็มฉีดยามาแล้วก็ดูดเอาสารนี้ฉีดเข้าไป ก็เกิดมีความสุขชนิดนี้ ต่อมาต้องการความสุขแบบโน้น ก็ไปเอาเข็มฉีดยามาดูดสารโน้นฉีดเข้าไป

นี่คือสิ่งที่มนุษย์บอกว่าเป็นความยิ่งใหญ่ของตน เพราะไม่ว่าจะต้องการความสุขอะไรก็ทำได้ แต่ที่จริงมันเป็นความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงหรือเปล่า มันเป็นความสุขที่ขึ้นอยู่กับเข็มฉีดยา ขึ้นต่อสารภายนอก

ยิ่งกว่านั้น สารเหล่านี้ยังไม่สามารถประสานกลมกลืนเข้าในเนื้อตัวของระบบชีวิตได้จริง จึงอาจเป็นโทษแก่ร่างกายเองด้วย ต่อมากลายเป็นว่าสุขภาพก็อาจจะเสียด้วย ได้ด้านหนึ่ง เสียอีกด้านหนึ่ง ทำให้ระบบชีวิตแปรปรวนไป

สิ่งเหล่านี้เป็นได้แค่เครื่องระงับอาการ หรือสำหรับใช้แก้ปัญหาชั่วคราว ก็ใช้ได้ ก็อย่างแก้ไขโรคด้วยยานั่นแหละ แก้ไขให้ผ่านไป แต่ไม่ควรอยู่ด้วยยา ส่วนที่จะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง จะต้องแก้ที่ตัวมนุษย์เอง และต้องแก้ให้ถึงจิตใจของมนุษย์

มนุษย์ที่มีความสามารถและมีอิสรภาพที่แท้จริงก็คือ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถกำหนดชีวิตจิตใจของตัวเองได้ตามสบาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่จะชื่อว่าเป็นมหาบุรุษ ก็เพราะว่า เมื่อต้องการจะคิดอะไร ก็คิดสิ่งนั้น เมื่อไม่ต้องการจะคิดอะไร ก็ไม่คิดสิ่งนั้น โดยที่พระองค์ไม่ต้องเอายามาฉันหรือฉีดเลย ท่านเรียกว่า เจโตวสี แปลว่า มีอำนาจเหนือจิตของตน

ต้องการมีสมาธิเมื่อไร ก็มีได้เมื่อนั้น ต้องการทำจิตให้สงบเมื่อไร ก็ทำได้ทันที ต้องการทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบาน ก็ทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเอายามาฉีด นี่คือ อิสรภาพที่แท้จริงของมนุษย์ และความสุขที่แท้จริง ก็ตั้งอยู่บนฐานของอิสรภาพที่แท้จริงนี้ด้วย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง