มาสุดท้าย ปัญหาหนักที่สุดที่ทนไม่ได้ คือปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย
ปัญหาจิตใจและร่างกายในชีวิตของมนุษย์ก็ดี ปัญหาสังคมก็ดี ถึงจะหนักหนาร้ายแรงแค่ไหน ก็ยังรู้สึกว่าพอจะมองข้ามและเลี่ยงหนีไปก่อน โดยหันไปแสดงภูมิฐานครอบงำไล่เบี้ยเอากับประเทศเล็กๆ และล้าหลังทั้งหลาย แต่พอมาถึงปัญหาธรรมชาติแวดล้อม คราวนี้หลีกหลบไม่ได้ เป็นปัญหาร่วมกัน ถึงจะเสียที่อื่น ก็มาถึงตัวด้วย ก็เลยต้องตื่นตัวกันใหญ่
แต่ก่อนนี้ ถึงจะมีปัญหาชีวิต ทั้งจิตใจและร่างกาย จนถึงปัญหาสังคม ก็ยังพอมีที่อยู่ แต่ปัจจุบัน พอมาเจอปัญหาสิ่งแวดล้อมเสีย โลกจะอยู่ไม่ได้ จะไม่มีที่อยู่แล้ว มนุษย์ก็เลยหวาดผวา (ถึงแม้บางคนจะบอกว่า ไม่เป็นไร รอได้ ค่อยย้ายหนีไปโลกพระอังคาร)
ประเทศที่พัฒนาแล้ว ตอนนี้ต้องตื่นตัวมาก กลัวปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสียเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น มาถึงยุคนี้ เขาจึงกลับมาพิจารณาทบทวนกันว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร ในที่สุดก็ลงข้อสรุปว่า เป็นปัญหาจากการพัฒนาที่ผิดพลาด
ปัจจุบันนี้ลงมติแน่นอนแล้ว จนกระทั่งในการพัฒนานั้นได้เกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้ เดี๋ยวนี้ไปที่ไหน ก็เป็นคำฮิต เป็นคำที่เด่นมาก คือคำว่า sustainable development
คำว่า sustainable development นี้ เพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง หมายความว่าจะต้องเลิกการพัฒนาแบบเก่า เพราะการพัฒนาแบบเก่านั้น มัน unsustainable เราแปลกันง่ายๆ ว่า sustainable development คือการพัฒนาที่ยั่งยืน และ unsustainable คือไม่ยั่งยืน แต่คำแปลนี้ยังไม่ถึงใจ ยังหาคำแปลที่ดีทีเดียวไม่ได้
Sustainable development เป็นการพัฒนาชนิดที่พากันไปรอดได้ หรือการพัฒนาที่เหตุปัจจัยรองรับไหว ถ้าการพัฒนานั้นเป็น unsustainable ก็หมายความว่า เป็นการพัฒนาที่เหตุปัจจัยรองรับไม่ไหว มันจะไปกันไม่รอด
ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันอย่างชัดเจนโจ่งแจ้งว่า การพัฒนาที่ผ่านมาแบบตะวันตกได้นำมาสู่ปัญหาที่ว่ามานี้ และจะนำโลกไปสู่ความพินาศแน่นอน จึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาใหม่ทั้งระบบ เพราะฉะนั้นจึงได้มีคำนี้เกิดขึ้น ไปไหนก็จะต้องพูดกันว่า sustainable development
เดี๋ยวนี้ฝรั่งพากันเอาคำว่า sustainable นี้ไปใช้กับเรื่องต่างๆ ทั่วไปหมด เช่น sustainable future อนาคตที่ sustainable ที่ไปรอดได้ อะไรทำนองนี้
เรื่องการยอมรับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อันนี้ เราจะต้องทราบ ในฐานะที่เป็นครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา ที่เป็นวิชาแห่งความรู้ แห่งปัญญา จะต้องรู้ว่าโลกได้เคลื่อนไหวไปถึงไหน เวลานี้ยอมรับกันทั่วไปหมด องค์การโลกก็ได้ตื่นตัวขึ้นมาเร่งรัดความเอาใจใส่เกี่ยวกับเรื่องนี้
การตื่นตัวในเรื่องปัญหาธรรมชาติแวดล้อมนี้ ปรากฏขึ้นมาเพิ่งนับได้ ๒๐ ปี เท่านั้นเอง และมาเมื่อปี ๒๕๓๑ องค์การสหประชาชาติโดยข้อเสนอขององค์การยูเนสโก ก็ได้ประกาศให้ปี ๒๕๓๑ – ๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม เขาเรียกว่า The World Decade for Cultural Development
ในคำบรรยายเหตุผลที่อ้างว่าจะต้องมีการพัฒนาอย่างนี้ ก็ได้ชี้แจงรายละเอียดไว้มากว่า การพัฒนาที่ผ่านมาแล้วมีความผิดพลาดอย่างไร นำมาสู่ปัญหาอย่างไร
รวมความก็คือ เขามองเห็นว่า การพัฒนาที่ผ่านมานั้น เป็นการพัฒนาที่เอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ และมุ่งเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือเอาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญ การพัฒนาแบบนี้แหละได้เป็นตัวสร้างปัญหาที่ทำให้โลกและสังคมมนุษย์จะไปไม่รอด
เพราะฉะนั้น จะต้องเปลี่ยนแนวหรือวิถีทางและกระบวนการพัฒนาใหม่ และองค์การสหประชาชาติก็ประกาศให้ยึดเอา cultural development ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมที่ให้คุณค่าแก่มิติด้านจิตใจ
นี้ก็เป็นการเคลื่อนไหวขององค์การโลก ซึ่งขณะนี้เราก็อยู่ในทศวรรษโลกนั้นด้วย แต่คนไทยน้อยคนที่จะรู้ เราควรจะไปอ่านว่า ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมนี้เกิดมีขึ้นได้อย่างไร มีเหตุผลอย่างไร และมีแนวทางอย่างไร
เรื่องนี้ครูจะต้องรู้เท่าทัน มันเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสอนของเราด้วย แทนที่จะมองแคบๆ อยู่แค่ตัวเรา ต้องมองไปทั่วโลก
โดยเฉพาะในเมื่อเมืองไทยของเราไปตามประเทศตะวันตก เราจะต้องก้าวเลยเขาไปดูในมุมกลับย้อนมาจากตะวันตก ว่าตอนนี้ตะวันตกเขาเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะได้เห็นว่า ขณะนี้ตะวันตกกำลังพลิกกลับแล้ว
รวมความก็คือ การพัฒนาแบบตะวันตกที่ผ่านมานี้ ไปไม่รอดแล้ว เขาต้องเปลี่ยนวิถีการพัฒนาใหม่มาเป็นแบบที่เรียกว่า sustainable development
เมื่อก้าวขึ้นมาสู่ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ก็ทำให้เขาแสวงหาวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงว่าจะทำอย่างไร