สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป

ในการพิจารณาเรื่องนี้ ตอนแรกก็ต้องมองหาเกณฑ์มาตรฐานก่อน มาตรฐานที่จะใช้วัดความเป็นชาวพุทธ อย่างง่ายๆ ที่เป็นหลักทั่วไป เอา ๒ อย่าง ก็พอ คือ

๑. มาตรฐานด้านความเชื่อ คือ ความเชื่อกรรม เชื่อการกระทำ หวังผลสำเร็จจากการทำเหตุ คือลงมือกระทำด้วยความเพียรพยายามตามหลักการแห่งเหตุและผล ให้กรรมโยงกับความเพียร (กรรมวาที วิริยวาที)

๒. มาตรฐานด้านการปฏิบัติ คือ การที่จะต้องทำการต่างๆ ตามหลักกรรม ให้เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปในศีล ในสมาธิ ในปัญญา (ไตรสิกขา หรือเอาอย่างง่าย คือ บุญกิริยา ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา)

เอาเป็นว่า ถ้าประชาชนไปหวังผลจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่เครื่องรางของขลัง ไม่หวังผลจากการกระทำ ไม่เพียรพยายามในการกระทำเพื่อผลสำเร็จที่ดีงาม ก็ถือว่าผิดหลักกรรม พลาดจากหลักกรรม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล หรือกฎแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ (กรรมนิยาม)

เมื่อผิดหลักกรรม หรือหลักเหตุผลแห่งการกระทำนี้ ก็อาจจะหมดความเป็นชาวพุทธไปเลย นี่คือข้อพิจารณาที่ ๑

ข้อพิจารณาที่ ๒ เราจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังมุ่งหวังผลจากอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังมีความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง

เราก็พิจารณาต่อไปว่า พระพุทธศาสนานั้นมีหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับหลักกรรมว่า ชาวพุทธจะต้องเป็นคนพัฒนาตน โดยถือว่ามนุษย์เป็นทัมมะ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และเมื่อฝึกแล้ว ก็ประเสริฐ โดยประเสริฐด้วยการฝึก

หมายความว่า มนุษย์นั้นมีศักยภาพในการที่จะพัฒนาตน โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างให้เห็นแล้วว่า ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์นี่แหละ พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญบารมีพัฒนาพระองค์เองไป จนกระทั่งเป็นบุคคลผู้ประเสริฐสูงสุด ที่เรียกว่าพุทธะ ซึ่งอย่าว่าแต่มนุษย์ด้วยกันเลย แม้แต่เทวดา ตลอดจนพระพรหม ก็บูชานมัสการ

การนับถือพระรัตนตรัยที่เริ่มด้วยพระพุทธเจ้านั้น

ประการแรก เป็นเครื่องเตือนใจ บอกชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา ให้ระลึกถึงหน้าที่ในการพัฒนาตน และพร้อมกันนั้น

ประการที่สอง ก็เป็นเครื่องปลุกใจ ให้เกิดมีกำลังใจว่า เรามีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนเรานั้นพัฒนาได้จนสูงสุด การพัฒนาตนนั้นสำเร็จได้จริง

การระลึกถึงพระพุทธเจ้านั้น มีความมุ่งหมายอย่างนี้ คือ เตือนใจให้พัฒนาตนเอง ไม่ใช่ให้มาหวังผลจากการอ้อนวอนพระองค์

แต่สภาพทั่วไปในขณะนี้ก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นใจในตนเอง ไม่มีความมั่นใจในศักยภาพของตน และไม่ตระหนักในหน้าที่ที่จะพัฒนาและฝึกฝนตน แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะเอาอย่างไรกับการเชื่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์เครื่องรางของขลัง

พอถึงจุดนี้ เราก็วินิจฉัยได้ คือก็ต้องหันไปเอาเกณฑ์มาตรฐานข้างต้นขึ้นมาตั้งว่า เอาละ จะทำอย่างไรก็ตามให้เขาเข้าสู่แนวทางของเกณฑ์มาตรฐานนี้ ก็นับว่าใช้ได้ คือให้มนุษย์ตระหนักถึงความมีศักยภาพในการพัฒนาตน และฝึกฝนตนขึ้นไป แล้วก็หวังผลจากการกระทำ

ถ้าได้อย่างนี้ ถึงเขาจะมีความผิดพลาดไขว้เขวอะไรบ้าง ก็ยังไม่หลุดลอยหรือหล่นออกไปจากความเป็นชาวพุทธ และยังมีทางที่จะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะยังเข้าสู่หลักนี้ คือ ความเชื่อกรรมและการพัฒนาตน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง