พูดมาถึงเรื่องนี้แล้ว ก็เลยขอแทรกความหมายของคำว่า “มานะ” เสียหน่อย
ความถือตัว หรือความสำคัญตัวยิ่งใหญ่ ตลอดจนการสำคัญตัวเองว่าด้อยนี้ ทางพระเรียกว่ามานะ
เห็นตัวเองยิ่งใหญ่กว่าเขา ก็เป็นมานะ ถือตัวว่า เขาแค่ไหน ฉันก็แค่นั้น ก็เป็นมานะ ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ก็เป็นมานะ คือถือตัวทั้งนั้น เป็นการมองตัวเองโดยเทียบกับคนอื่น
มานะนี้ ภาษาไทยนำมาใช้กลายเป็นศัพท์ดีไป ที่จริงมานะเป็นกิเลส คือความถือตัว อยากเด่น อยากยิ่งใหญ่ พระอริยบุคคลต้องละกิเลสเหล่านี้ แต่ละยากมาก เพราะเป็นกิเลสละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่พระอนาคามีก็ยังมี ต้องพระอรหันต์เท่านั้นจึงละได้หมด
แต่พระอริยบุคคลท่านมีมานะนี้เหลืออยู่เพียงในลักษณะที่ละเอียดอ่อน คือยังมีความรู้สึกถือตัวอยู่บ้าง ยังภูมิใจ แต่ไม่พอง ส่วนมานะอย่างต่ำ ที่หยาบ ที่จะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน ก่อความเสียหาย จนเกิดทุกข์โทษ ต้องละได้หมด
คนไทยเรานี้ได้เอามานะมาใช้ในความหมายที่ดี อันนี้ก็เป็นเรื่องของความเคลื่อนคลาดในความรู้เข้าใจหลักของพระศาสนาอย่างหนึ่ง ที่เตือนเราว่า จะต้องสำรวจวัฒนธรรมของเราเองด้วย
ผู้เฒ่าผู้แก่บางทีสอนเด็กให้ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ โดยบอกว่า เออ ตั้งใจเล่าเรียนขยันหมั่นเพียรไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต หรือบอกว่าให้มานะพากเพียรเรียนไปเถิด ต่อไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน นี้เป็นคำพูดที่ค่อนข้างติดปากในสังคมไทย
คำที่ใช้ในความหมายอย่างนี้ ยังไม่ได้สืบให้ชัดว่าเกิดขึ้นมานานแค่ไหน อาจจะในช่วงศตวรรษเดียว หรือมีมาก่อนก็ได้ แต่มันส่อแสดงถึงการที่คนไทยเราได้เอากิเลสตัวมานะนี้มาใช้ปลุกเร้าคนให้เพียรพยายามทำความดี และเป็นการเร้ากิเลสที่ได้ผล
เราจะได้ยินคนพูดทำนองว่า โน่น ดูซิ เขาแค่นั้น ทำได้ เธอแค่นี้ ทำไมทำไม่ได้
เศรษฐีอาจจะบอกลูกว่า โน่นเขาลูกคนกระจอก โน่นลูกคนยากคนจน เขายังทำได้ เธอหรือแกเป็นถึงลูกเศรษฐี ทำไมทำไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าปลุกเร้ามานะ ปลุกเร้าแล้ว ฮึดขึ้นมา ทำให้ทำการอะไรก็ได้ มีความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า หรืออาจจะถึงกับรุนแรงที่สุด
อย่างคำเก่าว่า ขัตติยมานะ ก็บอกถึงตัวเร้าที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเกิดขัตติยมานะขึ้นมาแล้ว ก็จะพยายามทำจนสำเร็จให้ได้
มานะนี้เป็นตัวปลุกเร้าที่สำคัญ แต่ในทางพระพุทธศาสนาท่านไม่สรรเสริญ เพราะเป็นการเอากิเลสมาใช้ปลุกเร้า แม้จะให้ทำความดี ก็จะมีโทษแฝงอยู่ด้วย เพราะเป็นการทำดีอย่างเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตัวเองจะได้จะเป็น ทำให้ไม่คำนึงถึงคนอื่น อาจก่อความเบียดเบียนได้มาก
จะให้ขยันหมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียน ก็เอามานะมาปลุกเร้า กระตุ้นให้อยากเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคน เป็นนายคน ทางพระเรียกว่า เอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศล ท่านแสดงไว้ในหลักอภิธรรม ใช้ได้ เป็นไปได้จริง แต่มีโทษ
ปัจจุบันนี้เปลี่ยนจากการเอามานะเป็นตัวเร้า หันไปเอาตัณหามาเร้า เอาตัณหามาเร้า คือกระตุ้นให้อยากได้ผลประโยชน์ อยากได้เงินทอง ว่าต่อไปจะได้ร่ำรวยมีเงินทองใช้มากๆ ให้ขยันเล่าเรียนไป จะได้ปริญญาไปประกอบอาชีพ ได้งานดี มีเงินเดือนแพง หรือได้ค่าตอบแทนมากๆ
บางทีก็เอาทั้งสองอย่างประกอบกัน ว่าจะได้มียศตำแหน่งใหญ่โต แล้วจะได้มีเงินทองใช้มาก การที่อยากจะได้มีเงินทองใช้มาก เป็นตัณหา อยากได้เป็นใหญ่เป็นโตมีฐานะตำแหน่งสูง ก็เป็นมานะ เอาสองอย่างนี้มาเร้าทำให้คนเพียรพยายามทำความดี แต่มีอันตราย เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตัวทั้งนั้น