สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา
ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว

ถ้าความเชื่อถือในพระรัตนตรัยมีเรื่องของความเข้าใจในแง่ศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง เราจะทำอย่างไร

เมื่อกี้ได้พูดแล้วถึงเกณฑ์มาตรฐาน คือ หลักการมีอยู่แล้วว่าให้หวังผลจากการกระทำ จุดตัดสินอยู่ที่นี่

ตรงนี้ก็ทำให้เรามีความชัดเจนว่า ถ้าหากความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นแบบที่เสริมการกระทำ คือทำให้เขามีเรี่ยวแรงกำลังใจในการทำมากขึ้น อย่างนี้พอรับได้

แต่ถ้าเขาเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วทำให้เขานอนคอยโชค ได้แต่หวังผลจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ งอมืองอเท้าไม่ทำอะไร อันนี้ผิดหลักกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยสิ้นเชิง อย่างนี้ใช้ไม่ได้

เป็นอันว่า ถ้าความเชื่อใดทำให้ผู้เชื่อยังมีความสำนึกรับผิดชอบในการกระทำของตน และเพียรพยายามกระทำการเพื่อให้สำเร็จผลที่ต้องการอยู่ เพียงแต่เอาความเชื่อนั้นมาเสริมให้มีกำลังใจที่จะทำการนั้นให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น อย่างนี้ เราพูดได้ว่ายังไม่ผิดหลักกรรม และบุคคลนั้นยังพึ่งตน เขาจึงยังมีหลักในการที่จะก้าวหน้าในแนวทางของการฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้สอนไม่มีความสามารถเพียงพอ และผู้ฟังยังมีระดับต่ำมาก แนวทางที่จะปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ และไม่ผิด ก็คือ

หนึ่ง ดึงจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เข้ามาสู่พระพุทธศาสนา โดยมองไปที่พระรัตนตรัย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาฝึกฝนพัฒนาตนสูงขึ้นได้ต่อไป

สอง แม้เขาจะมองพระรัตนตรัยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ ก็ให้เขาเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระรัตนตรัยนั้น ในทำนองที่สนับสนุนหลักกรรม คือให้เกิดกำลังใจที่จะเพียรพยายามทำการให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น ไม่ใช่เชื่อแล้ว เลยยกชะตากรรมไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็หวังผลจากการดลบันดาล ซึ่งผิดหลักกรรมดังที่ว่าเมื่อกี้

ถึงเขาจะยังเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าความศักดิ์สิทธิ์นั้นย้ายมาอยู่ที่พระรัตนตรัยแล้ว ก็จะโยงเขาเข้ามาหาหลักกรรม และหลักการฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งจะมีผลพลิกกลับให้เขาหลุดพ้นจากความหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ต่อไป แต่จะต้องเข้าใจความหมายและเชื่อพระรัตนตรัยอย่างถูกต้อง

เป็นอันว่า การก้าวเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ก็อาจจะต้องมีขั้นมีตอนด้วย

  • สำหรับคนที่กระโดดไม่ไหว ก็อาจจะต้องมีบันไดให้ก้าวเป็นขั้นๆ
  • สำหรับคนที่ก้าวไกลไม่ได้ ก็อาจจะต้องมีไม้พาดให้ค่อยๆ เดิน

แต่ข้อสำคัญจะต้องให้เขาเดินหน้ามา ไม่ใช่หยุดนิ่ง หรือถอยหลัง หรือไปเหยียบซ้ำให้เขาจมหายไปเลย

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติต่อเรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ และต้องจับหลักให้ได้

ที่ว่าจับหลักให้ได้ หมายความว่า หลักกรรมที่สอนให้กระทำความเพียรเพื่อผลสำเร็จที่ต้องการ จะต้องยืนเป็นหลักอยู่

ไม่ว่าเขาจะนับถืออะไรก็ตาม ถ้าตราบใดความเชื่อนั้นยังมาเสริมให้เขากระทำการเพื่อผลสำเร็จ และยังเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นจุดเชื่อมต่อให้ก้าวหน้าไปได้ ในวิถีแห่งการพัฒนาตน สู่อิสรภาพที่สมบูรณ์ข้างหน้าต่อไป ก็ยังไม่ผิดหลักการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นได้

แต่ถ้าเมื่อใดเขายกชะตากรรมไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อแล้วได้แต่หวังผลจากการดลบันดาล และนั่งนอนคอยโชค อย่างนั้นถือว่าเป็นการผิดหลักกรรมโดยสิ้นเชิง

ฉะนั้น ในฐานะที่ครูต้องสัมผัสกับคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาต่างกันมาก อย่าสอนชนิดที่ทำให้เขาเสียหลักแล้วลอยเตลิดไปเลย และเคว้งคว้างยิ่งขึ้น ควรสอนอย่างมีขั้นมีตอน โดยสัมพันธ์กับความสามารถของตน สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องจับหลักไว้ให้ได้

ขอเน้นว่า ตัวเราก็ต้องยอมรับด้วยว่า เรานั้นมีความสามารถในการสอนแค่ไหน สอนแล้วจะทำให้เขามีความมั่นใจในการกระทำของตนเองได้แค่ไหน จะต้องสอนเพื่อประโยชน์แก่เขา ให้เขาพัฒนา ไม่ใช่ว่าสอนเอาแต่ใจตนเอง ไปด่าไปว่าทำลายแล้วทำให้เขาหมดหลัก เลยยิ่งร้ายหนักเข้าไปอีก แล้วแทนที่ตัวเองจะทำสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ กลับทำสิ่งที่เป็นโทษ นี่เป็นเรื่องหนึ่ง

ตกลงว่า ในเรื่องพระศาสนานี้ สิ่งที่สำคัญคือ จับหลักให้ได้ว่าอยู่ที่ไหน ในการสอนนั้นเราควรรู้ว่าจะผ่อนปรนอะไรได้แค่ไหนเพียงไร แต่หลักการจะต้องยืนตัวแน่นอน ไม่ว่าจะนับถืออะไรก็ตาม ที่จะถือว่าศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องให้เป็นสิ่งที่มาเสริมการกระทำ และความรับผิดชอบต่อการกระทำ อย่าให้มาเป็นตัวลดหย่อนการกระทำและเสียความเชื่อกรรม

ส่วนการหวังผลจากการดลบันดาลและลาภผลที่เลื่อนลอยอะไรต่างๆ นั้น จะต้องให้หมดไปจากชาวพุทธ เพราะไม่ใช่หลักของพระศาสนา และผิดหลักการของพระศาสนาด้วย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง