สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้
ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป

การศึกษาเป็นแกนสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม การศึกษานั้นมีสองแบบ คือ การศึกษาแบบตามสนองสังคม กับการศึกษาแบบนำทางสังคม

การศึกษาที่แท้ ต้องเป็นการศึกษาที่นำทางสังคม ไม่ใช่เป็นแค่การศึกษาที่ตามสนองสังคม

ปัจจุบันนี้ การศึกษาเป็นไปในลักษณะของการตามสนองสังคมมาก อย่างน้อยก็มุ่งเพียงจะทำหน้าที่ผลิตกำลังคนให้แก่ประเทศชาติ เพื่อสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจ

เขาบอกว่า ขณะนี้ ประเทศกำลังพัฒนา ต้องการกำลังคนด้านนี้มาก ฝ่ายการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ผลิตคนในด้านนั้นด้านนี้ให้เพียงพอตามความประสงค์ของรัฐ หรือตามความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น

ถ้าทำได้แค่นี้ ก็เรียกว่าเป็นการศึกษาเพื่อตามสนองสังคม

จริงอยู่ การสนองความต้องการอย่างนี้ ก็เป็นภาระด้านหนึ่งของการศึกษา แต่มันไม่ใช่เนื้อแท้ของการศึกษา มันเป็นส่วนนอก หรือส่วนวงนอกของการศึกษา และเป็นส่วนปลีกย่อย แค่นั้นยังไม่ถึงเนื้อแท้ของการศึกษา

การศึกษาที่แท้ ต้องเป็นตัวนำสังคม เพราะฉะนั้น เราจะต้องเป็นผู้นำสังคม ถ้าสังคมเดินทางผิด การศึกษาก็ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มันเดินทางให้ถูก

ขณะนี้ ถึงเวลาที่เราต้องการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว และการเปลี่ยนแปลงนี้ จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นรากฐาน ถึงขั้นความคิดจิตใจ ถึงขั้นค่านิยม ถึงขั้นภูมิปัญญา แล้วครูอาจารย์อะไรที่จะทำงานนี้ได้

ครูอาจารย์วิชาทั่วไป โดยมากก็ทำได้แค่ตามสนองสังคมเท่านั้น วิชาต่างๆ มักเป็นวิชาชีพ แม้แต่วิทยาศาสตร์ และวิชาทั้งหลายที่เป็นเนื้อหาแท้ๆ โดยมากก็ทำงานกันแค่เป็นวิชาตามสนองสังคม

แต่วิชาประเภทจริยธรรม โดยเฉพาะวิชาพุทธศาสนานี้ เป็นวิชาที่มีหน้าที่โดยตรงที่จะนำทางสังคม แต่มีข้อแม้ว่า ต้องจับหลักของตัวเองให้ได้ เข้าถึงจุดแล้ว จึงจะเป็นการศึกษาที่แท้จริง

จริยธรรม ที่ว่ามีหน้าที่นำทางสังคม และเป็นการศึกษาที่แท้นั้น หมายถึงจริยธรรมที่มีความหมายครอบคลุมถึงปัญญาด้วย

โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาถือว่าปัญญาเป็นส่วนสำคัญที่สุดของจริยธรรม เพราะต้องรู้ จึงจะทำหรือประพฤติได้ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงทำไปตามคำสั่งที่ต้องเชื่อ

ถ้าจริยธรรมไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็พิการ ไม่ใช่เป็นการศึกษา และนำทางสังคมไม่ได้

ขณะนี้ เราต้องการเปลี่ยนแม้กระทั่งสภาพจิตของคนไทย จากความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับ ให้ขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้

จะต้องตั้งจิตใจให้มั่นคง ให้เป็นการอธิษฐานจิตเด็ดเดี่ยวว่า ต่อไปนี้ จะต้องสร้างเด็กไทยให้เป็นผู้มีจิตสำนึกของความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้ เลิกกันทีกับการเป็นผู้ตาม หรือเป็นผู้รับ ผู้ได้แต่รอ

ในการที่จะเป็นผู้นำนั้น เราจะต้องเป็นผู้ซึ่งมีอะไรที่จะให้แก่เขา เมื่อเรามีอะไรให้แก่เขา เราก็จะเป็นผู้นำได้

คนไทยเราเคยสำรวจตัวเองไหมว่า เรามีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่นบ้าง อย่างน้อยก็ให้ได้ชื่อว่าประเทศไทยเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ไม่ใช่เป็นผู้ด้อย มีแต่คอยตามเขาอยู่ โดยไม่มีความสำคัญอะไรเลยในประวัติการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ

พอเรามีอะไรที่จะให้แก่อารยธรรมของโลกบ้าง เราก็จะมีความเป็นผู้นำขึ้นมาทันที

ถ้าเราสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นมาได้แล้ว เราก็จะมองเห็นตัวเอง แล้วเราก็จะรู้เองว่า เรามีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น แล้วความเป็นผู้นำก็จะเกิดขึ้น

ข้อสำคัญก็คือ จะต้องสร้างจิตสำนึกของความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ขึ้นมาให้ได้ การศึกษาจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จุดยืนนี้

สภาพจิตที่เคยชิน ที่ฝังลึกกันมานานเป็นร้อยปี จะต้องเปลี่ยนแปลงเสียที มิฉะนั้น การศึกษาของประเทศไทยจะไม่เดินหน้า

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง