การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ ศาสตร์ทั้งหลายต้องข้ามพ้นความคิดแยกส่วน

อาจารย์เสน่ห์ จามริก ได้ย้ำถึงการที่ว่าคนไทยเราตามตะวันตก ไปรับเอาความคิดตะวันตกมาใช้ แล้วเราก็ผิดพลาดไปตามเขา และท่านเน้นความสำคัญของการที่จะนำเอาหลักพุทธธรรมไปใช้ และในการย้ำนั้นท่านเน้นไปที่ “ธรรมชาติ” อาตมภาพจะไม่เข้าไปในรายละเอียดที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ได้พูดไว้ เป็นแต่เพียงจะยกขึ้นเป็นข้อสังเกตสำหรับโยงเข้ามาหาหลักการของพระพุทธศาสนา เพื่อให้เราชาวพุทธได้ระลึกถึงหลักการของพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างไร

เรื่องนี้ต้องเทียบกับวิชาการสมัยปัจจุบัน เมื่อพูดถึงวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องสันติภาพ โดยมากเราจะนึกไปถึงสังคมศาสตร์กันมาก โดยเฉพาะจะมองสันติภาพในแง่ที่คู่กับสงคราม สงครามเป็นกิจกรรมของสังคม แต่เป็นกิจกรรมในทางลบ ส่วนสันติภาพก็คือภาวะที่ปราศจากสงคราม นี้เป็นความหมายอย่างหยาบๆ สังคมศาสตร์จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องสันติภาพในความหมายอย่างนี้มาก

จะเห็นว่าสังคมศาสตร์ของตะวันตกนั้น เป็นแนวคิดทางวิชาการที่เกิดจากการแยกส่วน ซึ่งได้แบ่งแยกศาสตร์ของมนุษย์ออกเป็น ๓ หมวด ได้แก่ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

สังคมศาสตร์ได้แยกออกไปอีกเป็นหลายสาขาวิชา เช่น สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จุดเน้นของสังคมศาสตร์ คือ การมองสังคม โดยพิจารณาเรื่องของการที่คนมาสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นจึงมองว่ามีคนกับสังคม และมองคนในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม คนกับสังคมนี้เป็นแดนแห่งการพิจารณาในเรื่องของสังคมศาสตร์ แต่ในการพิจารณาอย่างนี้ น่าสังเกตว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไป ถ้าพิจารณาในแง่ของพุทธศาสนา การศึกษาเรื่องสังคมนั้นไม่ใช่ศึกษาแค่คนกับสังคมเท่านั้น แต่จะต้องมีอะไรอีก ถ้าเราศึกษาแค่คนกับสังคมเท่านั้น สังคมศาสตร์จะไปไม่ถึงที่สุด และจะแก้ปัญหาของมนุษย์ไม่ได้

สังคมศาสตร์ว่าด้วยคนกับสังคม แต่คนมี ๒ ด้านในตัวมันเอง “คน” นั้นในด้านหนึ่งเป็นชีวิต ชีวิตของเขาเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปตามธรรมชาติ ตั้งแต่ร่างกายของเขาที่เกิดจากธรรมชาติประกอบกันขึ้น อีกด้านหนึ่งเขาเป็นบุคคลที่เป็นสมาชิกของสังคม คนนั้นมี ๒ ด้านอย่างนี้และแยกจากกันไม่ได้ การพิจารณาคนเฉพาะในเชิงสัมพันธ์กับสังคม จะทำให้ลืมมองคนในด้านที่เป็นธรรมชาติไป การแก้ปัญหาจะไม่ถึงที่สุด และจะแก้ไม่สำเร็จ จึงเป็นข้อที่จะต้องระวัง

ถ้าจะให้ครบถ้วนตามความเป็นจริง ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคมจะต้องมองเป็น ๓ ด้านคือ คน ธรรมชาติ และสังคม ซึ่งแยกจากกันไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์กล่าวถึงมาตรฐานการครองชีพ (standard of living) ซึ่งเป็นเรื่องที่วัดได้เป็นตัวเลข เศรษฐศาสตร์ เอาใจใส่เรื่องนี้มาก และวงการต่างๆ ทั่วไปก็พลอยตื่นนิยมใช้คำนี้กันเกร่อทีเดียว แต่ต่อมาเราก็พบว่า ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้น การที่จะมองเห็นแค่ด้านการครองชีพเป็นตัวเลข เป็นปริมาณของวัตถุเท่านั้นไม่เพียงพอ มาตรฐานการครองชีพไม่ใช่เครื่องวัดชีวิตที่ดีงามได้แท้จริง ต่อมาก็มีการเน้นกันในเรื่องคุณภาพชีวิต จนกระทั่งเวลานี้ คำว่า quality of life กลายเป็นคำที่ใช้กันกว้างขวางกว่าคำว่า standard of living

สมัยก่อนนั้น คำว่ามาตรฐานการครองชีพสำคัญมาก แต่เวลานี้ไม่ค่อยมีคนเอ่ยอ้าง แต่จะกล่าวถึงคุณภาพชีวิตกันมาก เพราะว่าบางครั้งมาตรฐานการครองชีพสูงแต่คุณภาพชีวิตเสีย ซึ่งเป็นไปมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นมาตรฐานการครองชีพจึงไม่ใช่เครื่องวัดที่แน่นอน แต่เราต้องการคุณภาพชีวิต และเมื่อกล่าวถึงคุณภาพชีวิต ขอบเขตของเรื่องจะไม่อยู่แค่สังคมศาสตร์ แต่จะรวมไปถึงเรื่องของนามธรรม เรื่องของชีวิตจิตใจ เรื่องของความรู้และความรู้สึก เรื่องของความดีความงาม เรื่องของอิสรภาพด้วย หมายความว่าเรื่องคุณภาพชีวิตจะต้องก้าวล้ำเข้าไปในแดนของมนุษยศาสตร์ ฉะนั้นสังคมศาสตร์จะจำกัดตัวเองอยู่เพียงแค่คนกับสังคม กับทั้งในแง่ของวิธีวิทยาศาสตร์ที่วัดด้วยตัวเลขสถิติเท่านั้นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนกับสังคมล้ำเข้าไปในแดนมนุษยศาสตร์แล้ว ก็มีปัญหาอีกว่ามนุษยศาสตร์ตามแนวคิดของตะวันตกนั้นเน้นแต่เรื่องคุณค่า ไม่ศึกษามนุษย์ในแง่ที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะเขายกมนุษย์ในแง่ของธรรมชาติไปให้กับวิทยาศาสตร์ ทั้งที่วิทยาศาสตร์นั้นก็ศึกษาเฉพาะธรรมชาติส่วนวัตถุ เอาแต่เรื่องร่างกาย ไม่ศึกษาธรรมชาติด้านจิตใจ จึงเกิดช่องโหว่ขึ้นมาในการศึกษา

ขณะนี้วิทยาการจึงก้าวมาถึงขั้นที่ว่าจะต้องบูรณาการศาสตร์ ๓ หมวดใหญ่คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีปัญหาอีกเพราะคนที่เชี่ยวชาญหรือเป็นเจ้าของแดนแต่ละแดนนั้นก็รู้และบางทีก็เอาแต่แดนของตัวเอง แถมหลายคนมีความรู้สึกไม่ดีต่อแดนอื่น เพราะฉะนั้นเขาก็จะมองเรื่องนั้นแค่ในแง่ของศาสตร์ของเขาขยายออกไป ดังเช่น วิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ new physics ได้เริ่มเข้าไปศึกษาเรื่องความจริงของธรรมชาติด้านจิตใจด้วย จนกระทั่งขณะนี้กลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์กำลังเป็นผู้นำในการศึกษาเรื่องของมนุษย์ในด้านจิตใจ ถึงกับล้ำหน้าจิตวิทยาไปด้วยซ้ำ เพราะนักจิตวิทยาได้มัวไปตามนักวิทยาศาสตร์ ในการที่จะศึกษาเรื่องของจิตใจด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ที่จะวัดได้เป็นตัวเลขเป็นต้น จนทำให้จิตวิทยากลายมาเป็นวิชาพฤติกรรมศาสตร์ที่เอาแต่เรื่องทางรูปธรรม แล้วปล่อยช่องว่างไว้ จนมาถึงจุดหนึ่งที่วิทยาศาสตร์กลับเป็นผู้เข้าไปศึกษาเรื่องจิต เหมือนกับสวนทางกัน

ขณะนี้พูดโดยรวม ศาสตร์ต่างๆ ยังมีความคับแคบและสับสน การที่แยกเป็นหมวดๆ นั้น ที่จริงก็เพื่อจะได้ศึกษาให้ชัดเจนลงไปในแต่ละด้าน แต่พอแยกไปแล้วก็ลืมวัตถุประสงค์เดิมที่จะต้องโยงว่า ทำอย่างไรจะเข้าถึงความจริงแท้ที่สมบูรณ์และแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ซึ่งในที่สุดทุกอย่างก็เป็นองค์ประกอบของระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกันที่จะแยกมิได้ ถ้าเราไม่สามารถโยงองค์ประกอบทุกอย่างเข้ามาโดยมองเห็นความสัมพันธ์ในระบบใหญ่ทั้งหมดแล้ว จนถึงความจริงแท้และแก้ปัญหาได้อย่างไร

ที่พูดข้างต้นเป็นตัวอย่างของศาสตร์แบบตะวันตก คือสังคมศาสตร์ที่พิจารณาเรื่องสังคมแค่คนกับสังคม และมองคนในแง่ที่เป็นบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสังคม ไม่ได้พิจารณาถึงแง่ที่คนเป็นธรรมชาติด้วย แต่พุทธศาสนามองคนทั้ง ๒ ด้าน คือ

๑. ด้านที่เป็นชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติ

๒. ด้านที่เป็นบุคคล ผู้เป็นสมาชิกของสังคม

และทั้ง ๒ ด้านนี้โดยที่แท้แล้วก็อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ เรื่องนี้ยกขึ้นมาพูดไว้เป็นข้อสังเกต

จะขอผ่านไปถึงข้อใหญ่เลยที่ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดสันติภาพ แต่ขอย้ำไว้ว่า ถ้าเราจะเข้าใจหลักการใหญ่คล้ายๆ อย่างที่เขาเรียกว่า เป็นตัวแบบในการมองพระพุทธศาสนา ก็จะต้องมองเห็นว่าพระพุทธศาสนานี่เป็น ธรรมวินัย ที่เอาทั้งสาระและรูปแบบ ทั้งบุคคลและระบบ ทั้งปัจเจกชนและสังคม ทั้งด้านจิตใจและทั้งด้านรูปธรรม พร้อมกันนั้นก็มองไปทั่วระบบใหญ่แห่งความสัมพันธ์ของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ประกอบด้วย ทั้งธรรมชาติ มนุษย์ และสังคม จะต้องมองให้ครบ เมื่อได้ภาพใหญ่นี้แล้วก็ลงรายละเอียดต่อไป แต่ตอนนี้จะหยุดยั้งไว้แค่นี้ก่อน หันมาพูดกันถึงปัญหาของสันติภาพที่เกิดจากตัณหา มานะ และทิฏฐิ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง