การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษาช่วยให้พัฒนาสันติภายในขึ้นได้ เพราะทำให้ปัญญาที่เข้าถึงธรรมชาตินำเอาเมตตากรุณามาให้แก่คน

ขอเริ่มที่ว่าทำอย่างไรแต่ละบุคคลจึงจะมีสันติ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าตัวการที่จำกัดคนให้คับแคบแบ่งแยกคือ
๑. ตัณหา ความต้องการเสพบำรุงบำเรอตน หาผลประโยชน์
๒. มานะ ความต้องการอำนาจความยิ่งใหญ่
๓. ทิฏฐิ ความยึดถือในความเชื่อลัทธินิยมตลอดจนศาสนาที่ว่าจะต้องอย่างนี้เท่านั้นจึงจะถูกต้อง อย่างอื่นเป็นเท็จทั้งสิ้น และไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน

ถ้าสามารถสลายกิเลสทั้ง ๓ ที่ปั่นตัวตนขึ้นมาผูกรัดจำกัดไว้นี้ได้ ก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่า วิมริยาทิกจิต คือ จิตที่ไร้พรมแดน ซึ่งเป็นจิตที่เกิดจากปัญญาที่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เมื่อรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เข้าใจโลกและชีวิตถูกต้อง จิตนั้นก็สงบเย็นในตัวเอง เรียกว่า นิพพาน เป็นสันติแท้จริงภายใน

แต่การที่จะทำให้เกิดปัญญาจนเข้าถึงภาวะสงบเย็น ที่สลายตัณหา มานะ ทิฏฐิ ทำให้จิตไร้พรมแดนได้ ก็ต้องพัฒนาคน คือต้องมี การศึกษา หรือ สิกขา ซึ่งเป็นการพัฒนาคนอย่างครบทุกด้านแห่งชีวิตของเขา โดยมีหลักการว่า คนเป็นองค์รวมที่เกิดจากองค์ประกอบทั้ง ๓ ด้าน ของการดำเนินชีวิต คือ ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา ทั้งสามด้านนี้ต้องพัฒนาไปด้วยกัน จึงจะก้าวไปสู่จุดหมายคือสันติภายในซึ่งเป็นจุดหมายของชีวิตที่กล่าวแล้วได้

ในการพัฒนามนุษย์แต่ละคนให้เข้าถึงจุดหมายแห่งสันติ โดยเกิดปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งทำให้จิตของเขาไร้พรมแดนนั้น บุคคลจะมีคุณสมบัติหลักเกิดขึ้นในตัว ๒ อย่าง คือ

๑. แนวตั้ง คือขึ้นถึงปัญญาสูงสุด ที่รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิต ซึ่งทำให้จิตใจเป็นอิสระไร้พรมแดน
๒. แนวราบ คือ เกิดมีจิตเมตตากรุณาที่เป็นสากล ซึ่งแผ่น้ำใจออกไปอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เชื่อมกันได้กับผู้อื่นทั่วทั้งหมด อย่างไม่มีการแบ่งแยก

ปัญญารู้ความจริงก็เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในสิ่งทั้งหลายถึงกันตลอดทั้งหมด จิตมีเมตตากรุณาก็เชื่อมความสัมพันธ์อย่างเกื้อกูลกันกับเพื่อนมนุษย์ตลอดจนสรรพสัตว์ทั่วทั้งหมด โดยนัยนี้ปัญญาเชื่อมโยงทุกสิ่งไว้ในความจริงแห่งระบบความสัมพันธ์อันเดียวกัน แล้วก็ทำให้เกิดสภาพจิตเมตตา ที่เชื่อมทุกคนไว้ในไมตรีแห่งระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อมนุษย์พัฒนาถูกทาง ปัญญากับเมตตาก็จะมาด้วยกัน และทำให้มีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งบูรณาการเข้าเป็นสันติภาพที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม มีข้อพิเศษว่า มนุษย์ที่บรรลุถึงจุดสมบูรณ์แห่งความมีปัญญาสูงสุด จะมองเห็นผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังไม่บรรลุจุดหมายสูงสุด ว่าเป็นผู้ยังมีทุกข์ที่เขาจะต้องเข้าไปช่วยเหลือในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ภาวะจิตที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์นี้ เรียกว่า กรุณา เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็น ปัญญากับเมตตา ก็กลายเป็น ปัญญา กับกรุณา คือเป็นความรู้สึกของผู้ที่เข้าถึงจุดหมายบรรลุอิสรภาพแล้ว ที่มองผู้อื่นว่ายังมีทุกข์ที่ตนจะต้องเข้าไปช่วยให้พ้นขึ้นมาถึงภาวะแห่งอิสรภาพนั้นด้วย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง