การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ระหว่างกำลังพัฒนาปัญญา ถ้าปัญญาเทียมเกิดขึ้นมา คนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้

ในเรื่องปัญญานี้ ข้อสำคัญคือต้องพัฒนามันขึ้นมา และการพัฒนาปัญญานั้น ก็ต้องให้ถึงขั้นเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะมีปัญหา กล่าวคือ ในระหว่างที่กำลังพัฒนาปัญญาอยู่นั้น มนุษย์จะเกิดความรู้สึกว่า ตัวมีปัญญา ตัวรู้ตัวเห็น แล้วก็จะเกิดมีสิ่งที่เรียกว่า “ทิฏฐิ” หมายความว่า ในขณะที่มนุษย์พยายามเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายนั้น เมื่อได้ความรู้ หรือข้อมูลขึ้นมาบ้างก็จะเกิดเป็นความเห็นของตนเอง แล้วก็เกิดความยึดติดในความเห็นนั้น พอคิดว่าที่ตัวเห็นนั้นเป็นความจริง ก็ยึดติดในความเห็นนั้นและยึดเอาความเห็นของตนเป็นความจริง ถึงตรงนี้ก็เกิดเป็นทิฏฐิขึ้นมา (ทิฏฐิเป็นภาษาบาลี สันสกฤตว่าทฤษฎี)

ทิฏฐิ ซึ่งรวมทั้งทฤษฎีด้วยนี้ ทั้งที่เกิดจากความที่รู้บ้างแล้ว แต่ทำให้เกิดผลในทางลบที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. ทิฏฐิเกิดขึ้นระหว่างกำลังหาความจริง ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็ทำให้เอาความเห็นเป็นความจริง มันจึงกลับมาเป็นตัวกั้นบังตนเองไม่ให้เห็นความจริง หรือปิดกั้นไม่ให้ก้าวไปในการหาความรู้ความจริงต่อไป พูดง่ายๆ ว่า กั้นบังกีดขวางปัญญานั่นเอง

๒. ทิฏฐิเกิดขึ้นจากการยึดถือ และการยึดถือนั้นก็โยงเข้ากับตัวตน คือยึดถือเป็นของตน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่น เช่นการทะเลาะวิวาทเป็นต้น ในลักษณะของการปกป้องตัวตน ตลอดจนอาจจะถึงกับไปบังคับบีบคั้นคนอื่นให้ถืออย่างตน ซึ่งบางทีรุนแรงถึงกับรบราฆ่าฟันกันเป็นสงครามก็มากมาย

เป็นอันว่า ทิฏฐินี้กลับมาเป็นตัวบังไม่ให้คนเข้าถึงปัญญา เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนามนุษย์จึงมีปัญหามาก เนื่องจากทิฏฐิมักเข้ามาขวาง ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องตั้งหลักตั้งท่าทีไว้ให้ดี โดยมองทิฏฐิเป็นทิฏฐิ หรือมองทฤษฎีเป็นเพียงทฤษฎี อย่าเพิ่งไปยึดว่าเป็นของเรา แล้วกลายเป็นว่าต้องอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเป็นความจริง อย่างอื่นเป็นเท็จทั้งสิ้น ก็เลยไม่สามารถที่จะรับฟังต่อ พระพุทธศาสนาให้ระวังมากเรื่องทิฏฐิ ไม่ให้ยึดติดทิฏฐิ

ทิฏฐินั้นถ้าเราปฏิบัติต่อมันผิด มันก็จะกันเราไม่ให้เข้าถึงความจริง แต่ถ้าเราใช้เป็น มันก็จะเป็นบันไดให้เราก้าวต่อไปสู่ปัญญาที่จะรู้ความจริง

ในระหว่างที่มนุษย์ยังเข้าไม่ถึงความจริง ทิฏฐิบางอย่างเมื่อยึดแล้วจะกั้นเราให้หยุดหรือเลิกค้นหาความจริง เช่น ทิฏฐิว่าอะไรจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่อำนาจเร้นลับที่เรารู้ไม่ได้จะดลบันดาล แต่ทิฏฐิบางอย่างจะทำให้เราค้นหาความจริงยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น ทิฏฐิว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทำให้เราค้นหาความจริงยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าพบอะไรก็ต้องคิดสืบสาวค้นหาเหตุปัจจัยของมัน เป็นการหนุนการแสวงปัญญา

ทิฏฐิที่กั้นขวางให้หยุดแสวงปัญญาไม่ค้นหาความจริง จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนทิฏฐิที่ช่วยให้แสวงปัญญาสืบหาความจริง จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ พระพุทธศาสนาเน้นมากเรื่องให้มีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเมื่อเรายึดถือแล้วจะนำหรือเป็นตัวหนุนให้เราค้นคว้าหาความจริงยิ่งขึ้นไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง