การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

- ๒ -
ประสานนอกกับใน ให้เกิดความสมบูรณ์

มนุษย์ต้องการสันติภาพ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องพัฒนาปัญญา จึงจะลุถึงสันติภาพ

ขอกลับมาเรื่องของสันติภาพอีกว่า ความจริงนั้นมนุษย์ต้องการสันติภาพแน่นอน และโดยธรรมชาติเขาก็ต้องการสันติภาพตลอดเวลา ทำไมจึงว่ามนุษย์ต้องการสันติภาพ เมื่อมนุษย์หิวกระหาย มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย ก็ต้องมีการระงับความหิวกระหายเร่าร้อนกระวนกระวายนั้น เมื่อระงับความหิวกระหายทุรนทุรายกระสับกระส่ายนั้นได้ ก็เกิดเป็นความสงบ นี้คือ สันติ ซึ่งแปลว่า สงบระงับ คือระงับความเร่าร้อน กระสับกระส่ายทุรนทุราย

เราเดินทางถูกแดดเผาเร่าร้อน เราก็เอาน้ำมาอาบดื่มระงับความเร่าร้อนนั้นแล้ว เราก็สงบ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเป็นเรื่องวุ่นวายเดือดร้อน มีความขัดแย้งโกรธแค้นกันรุนแรงขึ้นมา เกิดความพลุ่งพล่าน กระสับกระส่าย ก็ต้องระงับ มนุษย์นั้นต้องการความสงบแน่นอน ตราบใดที่ยังไม่ถึงจุดสงบนี้ เขาก็กระสับกระส่ายกระวนกระวาย บีบคั้นกดดันเป็นทุกข์ ต้องดิ้นรนหาทางระงับ ซึ่งก็คือการสนองความต้องการ เมื่อสนองความต้องการแล้วก็ระงับ หายความเร่าร้อน และเกิดความสงบ เพราะฉะนั้น สันติภาพนี้มนุษย์ต้องการทุกเมื่อ

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า มนุษย์อาจจะหรือมักจะสนองความต้องการ หรือระงับความเร่าร้อนรุนแรงด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง บางทีระงับไปได้ส่วนหนึ่ง แต่กลับทำให้เกิดปัญหาใหญ่ ซึ่งมีผลสะท้อนตามมารุนแรงหนักยิ่งกว่าเก่า เลยเดือดร้อนยิ่งห่างไกลจากสันติภาพหนักขึ้นไปอีก

ที่จริง ตามปกติมนุษย์ก็มี โลภะ โทสะ โมหะ อยู่ในตัว ที่ต้องคอยสนองระงับตลอดเวลาอยู่แล้ว การที่มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่นี้ก็เป็นการหาทางระงับสภาพจิตเหล่านี้ คือระงับโลภด้วยการเอามาให้ได้ พอได้มา โลภระงับ เราก็เกิดความสงบ ถ้าเกิดโทสะเราก็ระงับด้วยการไปทำร้ายเขา แต่จากการพยายามระงับด้วยวิธีนี้ ปัญหาสังคมก็เกิดตามมา และยิ่งเดือดร้อนกันมากขึ้น จึงเป็นการระงับที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้เกิดปัญหาบานปลายออกไป

รวมความว่า การที่มนุษย์ต้องการสันติภาพนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์เอง แต่เราควรจะต้องการสันติที่ถูกต้อง หรือสันติที่แท้จริง การระงับด้วยการตามสนองโลภะ โทสะ โมหะนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ยังไม่ถูกต้องตามเหตุปัจจัยของการที่จะให้เกิดสันติหรือความสงบที่จริงแท้และยั่งยืน

จากการเรียนรู้ในที่สุดเราก็พบว่า มนุษย์ต้องมีปัญญารู้ถึงเหตุปัจจัยของทุกข์หรือปัญหา แล้วแก้ให้ถูกที่เหตุปัจจัยของมัน จึงจะระงับทุกข์และบรรลุสันติได้ เราจึงถือว่าปัญญานี้สำคัญ เมื่อได้ปัญญารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายรวมไปถึงโลกและชีวิตแล้ว ปัญญานั้นก็ปลดปล่อยจิต ทำให้จิตใจของเรากว้างขวางไร้พรมแดน ปัญญาที่แท้เป็นทั้งตัวแก้ปัญหาและไม่ก่อปัญหาหรือไม่ทำให้เกิดปัญหาด้วย และที่สำคัญมากคือมันทำให้เกิดความเชื่อมโยงได้ระหว่างสันติภาพภายในกับภายนอก เพราะในที่สุด ทุกอย่างจะมาอยู่ใต้แสงสว่างของปัญญา ที่เป็นตัวรู้ความจริงและรู้ที่จะแก้ปัญหา

เมื่อเรารู้ความจริง และเกิดภาวะจิตที่ถูกต้อง หลุดพ้น เป็นจิตไร้พรมแดนแล้ว ก็สงบภายใน คือมีสันติภาพภายใน ซึ่งทำให้พร้อมที่จะออกไปแก้ปัญหาภายนอก และปัญญานั้นจะแก้ปัญหาได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตรงตามเหตุปัจจัย สันติที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นได้ แต่มนุษย์จะมาถึงจุดแห่งปัญญาที่ทำให้จิตเป็นอิสระนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการศึกษา เราจึงต้องพัฒนาคน

เป็นอันว่า ภารกิจของแต่ละคน หรือแต่ละชีวิต ก็คือต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วยการศึกษาจนเกิดปัญญารู้ความจริง ซึ่งด้านหนึ่งจะทำให้สามารถโยงปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการแก้ไขหรือทำการสร้างสรรค์ได้สำเร็จ และอีกด้านหนึ่งก็จะทำให้จิตหลุดพ้นอิสระ เป็นจิตที่ไร้พรมแดน ปัญญารู้แจ้ง ในจิตใจที่ไร้พรมแดนนี้แหละ จึงจะสามารถสร้างสรรค์สังคมที่มีสันติสุขได้ แต่พร้อมกันนั้นและควบคู่กันไปก็ต้องมีการจัดระบบของสังคมให้เป็นสภาพที่เอื้อ ซึ่งจะปิดช่องที่จะเฉออกไปเพื่อไม่ให้มีเหตุปัจจัยแห่งการสูญเสียสันติด้วย ดังนั้นระบบสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การจัดตั้งระบบสังคมที่ดีเป็นการกีดกั้นไม่ให้มีเหตุปัจจัยฝ่ายที่จะมากระตุ้น หรือยั่วยุให้เกิดการสูญเสียหรือทำลายสันติภาพ และพร้อมกันนั้นก็สร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของสันติภาพ

ถ้าระบบสังคมมีลักษณะที่สนับสนุนกระตุ้นให้คนมุ่งจะได้จะเอา คอยหาทางแย่งชิงผลประโยชน์กัน ก็แน่นอนว่ามันจะทำให้คนถูกหล่อหลอม ทั้งโดยแบบแผนพฤติกรรมและสภาพจิตใจให้เป็นไปในทางแบ่งแยกและแก่งแย่งเป็นปฏิปักษ์กัน ดังนั้นเมื่อระบบและโครงสร้างสังคมไม่เอื้อต่อสภาพจิตใจที่ดีที่จะโน้มไปในทางสันติ การสร้างสันติภาพก็เป็นไปได้ยาก นี่เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์กลับไปกลับมาซึ่งกันและกันระหว่างปัจจัยทางสังคมกับปัจจัยในตัวคน แต่ในที่สุดเราต้องมีปัญญา ซึ่งเป็นปัจจัยตัวสำคัญที่สุดที่จะเชื่อมโยงปัจจัยเหล่านั้นเข้ามาถึงกัน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง