ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสาระกับรูปแบบ โดยเน้นเรื่องธรรมกับวินัย ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาที่ถือว่า สาระคือตัวความจริง จะสื่อออกมาเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์หมู่มากและคงอยู่ได้ยั่งยืน ก็โดยอาศัยมีรูปแบบรักษาไว้ เหมือนอย่างผลไม้ เช่น มะม่วง ถ้าไม่มีเปลือกช่วยรักษาไว้ เนื้อหาคือเนื้อมะม่วงก็อยู่ไม่ได้นาน นอกจากนั้นก็จะไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ หรือใช้ประโยชน์ได้น้อย
เหมือนอย่างว่า น้ำเป็นสาระที่เราต้องการ แต่น้ำนั้นถ้าไม่มีแก้ว ก็ใช้ประโยชน์ได้ยาก จะดื่มทีก็ต้องเดินไปที่แหล่งน้ำ แล้วก็เอาปากไปจุ่มดูดหรือใช้มือกวักเอา แต่ถ้าเรามีแก้วหรือภาชนะ เราก็ใช้ประโยชน์จากน้ำได้ง่าย และจัดสรรได้ตามต้องการ แก้วจะมีขนาดเท่าไหน มีรูปร่างอย่างไร ก็อยู่ที่ว่าจะพัฒนารูปแบบอย่างไรให้สื่อสาระออกมาและใช้สนองความต้องการได้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดปัญหาก็มาอยู่ที่ว่า สาระที่รูปแบบนั้นสื่อหรือบรรจุไว้ เป็นของแท้จริงหรือไม่ เราหวังว่าแก้วน้ำจะมีน้ำให้เราดื่ม แต่ถ้าสิ่งที่อยู่ในแก้วนั้นไม่ใช่น้ำ กลับเป็นสุราหรือยาพิษแล้วผลจะเป็นอย่างไร
ตามปกติรูปแบบทางสังคม เช่นระบบต่างๆ มีขึ้นมาก็เพื่อสนองวัตถุประสงค์ที่จะสื่อหรือดำรงรักษาสาระที่เกี่ยวกับประโยชน์สุขของมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าตัวสาระนั้นกลายเป็นอำนาจและผลประโยชน์ รูปแบบที่สร้างขึ้นก็กลายเป็นเครื่องมือของอำนาจและผลประโยชน์นั้นไป ดังนั้นเวลานี้จึงต้องระวัง
ในการจัดตั้งวางระบบองค์กรต่างๆ ขึ้นมานั้น มนุษย์สมัยนี้มีความชำนาญพอสมควร แต่ในเมื่อเขาไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่ไร้พรมแดนของโลกและชีวิต และไม่สามารถทำจิตใจให้ไร้พรมแดนได้ เขาก็จะติดอยู่ในเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ แล้วก็จัดตั้งวางใช้ระบบและรูปแบบเป็นเครื่องมือแสวงหาและรักษาทั้งอำนาจและผลประโยชน์นั้น ทำให้เกิดปัญหากันเรื่อยไป
ระบบต่างๆ ที่สังคมได้พัฒนาขึ้นมา หรือรับเลียนแบบตามกันมา รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการปกครอง ระบบการเมืองเป็นต้นนั้น จะต้องพิจารณากันให้ดี ดังเช่นระบบประชาธิปไตยที่เป็นรูปแบบอันมีโครงสร้างที่สังคมยอมรับกันอยู่นี้ มันสื่อสาระอะไรอยู่ข้างใน มันสื่อสาระที่เป็นหลักการอันจริงแท้ ที่จะนำไปสู่สันติภาพได้จริงหรือเปล่า หรือภายใต้รูปแบบนั้นมีแต่เรื่องของตัณหา มานะ และทิฏฐิ
ระบบและรูปแบบทั้งหลาย นอกจากสื่อหลักการแล้วก็ต้องมีความจริงเป็นฐาน มนุษย์ยุคปัจจุบันก็พยายามเข้าถึงความจริงอันนี้ แต่เมื่อยังไม่ถึงความจริงแท้แห่งระบบความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมทั้งหมด เราก็ได้ความจริงมาเพียงบางส่วน หรือทำการคาดหมายเกี่ยวกับความจริงนั้น ในรูปที่เรียกว่าทฤษฎี
เพราะมองเห็นความสำคัญของการมีความจริงเป็นฐานนี่แหละ มนุษย์เจ้าปัญญาทั้งหลาย ก่อนที่จะวางระบบรูปแบบทางสังคม รวมทั้งรูปแบบทางการเมืองการปกครองเช่นระบอบประชาธิปไตย เมื่อยังไม่เข้าถึงความจริงแท้ทั่วตลอด ก็ต้องสร้างทฤษฎีขึ้นมารองรับ จากนั้นบนฐานของทฤษฎีก็จึงมาวางระบบขึ้น
ทฤษฎี นั้นย่อมมุ่งให้หมายถึง แนวคิดหรือหลักการที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริง ทฤษฎีก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเชิงเหตุผลว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ซึ่งได้เข้าถึงเพียงเป็นส่วนๆ เช่น ทฤษฎีการเมือง ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีสังคมวิทยา แต่ความจริงของโลกและชีวิตทั้งหมดเป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกันที่แยกไม่ได้ ถ้าทฤษฎีเป็นเรื่องที่แยกส่วนออกมาแต่ละด้าน ก็ไม่อาจสมบูรณ์ได้ เพราะที่จริงนั้นจะต้องมีความจริงหนึ่งเดียวที่ครอบคลุมทั้งหมดเป็นฐาน แล้ววางระบบรูปแบบที่แยกย่อยทั้งหลายขึ้นไปบนฐานที่ร่วมกันนั้นอีกทีหนึ่ง
ความเป็นจริงของโลกและชีวิตทั้งหมด ซึ่งเป็นความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวที่ทุกอย่างอิงอาศัยส่งผลต่อกันทั้งหมดอันนี้ ถ้าเราไม่เข้าถึงเราก็ย่อมไม่สามารถวางระบบจัดตั้งในสังคมให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากความจริงนั้นได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ อันนี้คือจุดที่ยังติดตันของอารยธรรม
ระหว่างกาลเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ อารยธรรม ก็คือ การที่มนุษย์ได้เพียรพยายามจะเข้าถึงความจริงของธรรมชาตินั้น และได้ความจริงมาเป็นด้านๆ ส่วนๆ แล้วมาตั้งเป็นทฤษฎีขึ้น ครั้นแล้ว บนฐานของทฤษฎีนั้นก็วางรูปแบบเป็นระบบเป็นการจัดตั้งขึ้นมา ดังนั้น ขณะนี้เราจึงต้องระลึกตระหนักถึงความบกพร่องของระบบจัดตั้งและโครงสร้างต่างๆ ในสังคมมนุษย์
เท่าที่ได้เพียรพยายามมา อย่างน้อยมนุษย์ก็ได้มีความมุ่งหมายว่า เราต้องการอยู่ดีมีสุข และให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยสันติ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าเรายังไม่เข้าถึงความจริงแท้ของโลกและชีวิต การวางระบบก็ย่อมจะเขวไป ทั้งๆ ที่จุดหมายที่ต้องการนั้นดี แต่ความจริงที่จะมาเป็นฐานในการวางวิธีการเพื่อให้เข้าถึงจุดหมายนั้นยังไม่มี คือเรายังไม่รู้ เมื่อยังไม่สามารถเข้าถึงความจริง ก็จึงวางวิธีการให้ได้ผลจริงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงยังต้องมีปัญหาระหว่างสาระกับรูปแบบหรือการจัดตั้งวางระบบ ดังตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในการปกครองแบบประชาธิปไตยนี่แหละ
มนุษย์รู้ตระหนักดีว่า การปกครองทุกอย่าง มีจุดหมายเพื่อให้สังคมเรียบร้อยดีงามมีสันติสุข ให้มนุษย์อยู่ร่มเย็นเป็นสุข นี่คือสิ่งที่เราต้องการ เราจึงหารูปแบบระบบการปกครองกันมา จนกระทั่งในที่สุด หลังจากได้ทดลองกันมาหลายอย่างแล้วเราก็พบว่า วิธีปกครองที่ให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมด้วยจะดีที่สุด อย่างน้อยมันก็เลวน้อยที่สุด เราก็เลยตกลงเรื่องเอาระบบประชาธิปไตย โดยมีหลักการให้ประชาทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง อย่างที่พูดง่ายๆ ว่าเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และหวังว่าการปกครองระบบนี้จะสัมฤทธิ์ผลนำมนุษย์ให้เข้าถึงจุดหมาย คือความอยู่ดีมีสันติสุขของมวลมนุษย์หรือของสังคมนั้นๆ และมนุษย์ผู้ฉลาดก็วางหลักการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดผลขึ้นในการปกครองแบบนี้โดยเฉพาะหลักการที่เรียกว่า เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ
แต่เพราะเหตุว่ามนุษย์เองมีปัญญาที่จำกัดพร้อมกันนั้นตัณหามานะทิฏฐิ ก็เข้ามาครอบงำหมู่มนุษย์นั้นอีก จึงทำให้ประชาธิปไตยมีปัญหา ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่เรามีระบบการปกครองแล้วนี้ เราก็ยังมีระบบต่างๆ อย่างอื่นๆ ในสังคม ซึ่งแยกเป็นแต่ละระบบๆ ต่างหากกัน และตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีคนละอย่าง ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงความสัมพันธ์ที่ประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ระบบเหล่านั้นก็แยกเป็นส่วนๆ เช่นในสังคมเดียวกัน ขณะที่มีทฤษฎีการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่ในทางเศรษฐกิจใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยม และในเวลาเดียวกันนั้น ระบบคอมมิวนิสต์ก็อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตย โดยมีทฤษฎีแยกต่างออกไปอีก เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องมีปัญหาว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างไหนจึง จะจริงแท้ดีแท้หรือสอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตย
พวกคอมมิวนิสต์ก็บอกว่า ทฤษฎีของเขาเสนอระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยที่แท้ ฝ่ายทุนนิยมก็ว่า ทฤษฎีของเรานี้ถูกต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตยจริง ปัญหาจะยังคงมีอยู่ต่อไป อย่างน้อยก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าอย่างไหนถูกต้องสอดคล้องกับความจริงแท้ เพราะนอกจากปัญหาทางด้านปัญญาว่าเข้าถึงความจริงกันแค่ไหนแล้ว ก็ยังมีปัญหาด้านจิตใจว่า ผู้วินิจฉัยเป็นอิสระหลุดพ้นจากความครอบงำของความใฝ่ผลประโยชน์ (ตัญหา) และความใฝ่อำนาจ (มานะ) ตลอดจนความยึดติดในอุดมการณ์ (ทิฏฐิ) หรือไม่
บางทีที่แท้อาจเป็นว่า ทั้งคอมมิวนิสต์และทุนนิยม ต่างก็ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยที่แท้ทั้งสองอย่าง และจะต้องหาระบบเศรษฐกิจแบบใหม่มาแทน
แต่จะอย่างไรก็ตาม พูดถึงเฉพาะในภาวะปัจจุบัน ขณะนี้ในเชิงอำนาจฝ่ายทุนนิยมชนะ ทุนนิยมจึงผงาดขึ้นมามีอิทธิพลมาก และเที่ยวอวดอ้างว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของตนสอดคล้องแท้จริงกับประชาธิปไตย จนเอามาผนวกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรูปของประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี (free-market democracy) คือ ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม