การศึกษากับการวิจัย เพื่ออนาคตของประเทศไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บูรณาการการวิจัยเข้าไป
ในกระบวนการพัฒนาชีวิตทั้ง ๓ ด้าน

ตอนนี้พูดปนกันไปว่าการศึกษากับการวิจัยในความหมายทางพุทธศาสนานั้นต่างกันอย่างไร การศึกษามีความหมายกว้างกว่าการวิจัย คือครอบคลุมการวิจัยเข้าไว้ด้วย ครอบคลุมอย่างไร การศึกษาประกอบด้วย ๓ ด้านของการพัฒนาชีวิต ชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นองค์รวมที่ประกอบด้วยด้านต่างๆ ๓ ด้าน โดยย่อ คือ

๑. ด้านพฤติกรรม

๒. ด้านจิตใจ

๓. ด้านปัญญา

การศึกษาหมายความว่าอย่างไร ศึกษา คือ ฝึกฝน หรือพัฒนาใน ๓ ด้านเหล่านี้ ได้แก่พัฒนาพฤติกรรมขึ้นไป พัฒนาจิตใจขึ้นไป และพัฒนาปัญญาขึ้นไป ถ้าครบ ๓ ด้านนี้เราเรียกว่าการศึกษา ถ้าไม่ครบ การศึกษาก็เว้าแหว่ง บกพร่อง การวิจัยนั้นอยู่ในส่วนของปัญญา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา

การวิจัยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในด้านของปัญญาก็มาสัมพันธ์กับกระบวนการของการศึกษาทั้งหมด เพราะว่าทั้ง ๓ ด้านของการศึกษานั้นเป็นส่วนประกอบขององค์รวม ต้องมีความสัมพันธ์อิงอาศัยและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน พฤติกรรมก็มาหนุนจิตใจและหนุนปัญญา จิตใจก็หนุนพฤติกรรมและหนุนปัญญา ปัญญาก็มาหนุนพฤติกรรมและหนุนจิตใจ

องค์ร่วม ๓ ด้านนั้นหนุนกันอย่างไร เช่นในกรณีที่เราจะวิจัยด้วยความต้องการที่จะค้นหาความจริงให้เจอ เราก็ต้องมีพฤติกรรม เช่นในการหาข้อมูล เป็นต้น อย่างง่ายๆ ก็เดินไปดู ถ้าเราต้องการวิจัยให้ได้ปัญญาแต่เราไม่ทำพฤติกรรม สิ่งนั้นอยู่ห่างตัว เราขี้เกียจ แล้วไม่เดินไปดู ไม่รู้จักพูดจาไถ่ถาม แล้วจะได้ปัญญาอย่างไร การวิจัยก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นจะต้องมีพฤติกรรมซึ่งจะเกื้อหนุนให้เกิดการวิจัย และพร้อมกันนั้นก็มีจิตใจที่ไม่เกียจคร้านเฉื่อยชา เป็นต้น ถ้าในจิตใจมีความเพียร มีใจสู้ มีความรับผิดชอบ และมีตัวฉันทะ คือแรงจูงใจว่าต้องหาความจริงให้ได้ สภาพจิตใจอย่างนี้ก็จะมาหนุนปัญญาในการวิจัย ฉะนั้นทั้งสามด้านจึงต้องไปด้วยกัน การศึกษาทั้งกระบวนจึงมาหนุนการวิจัย และการวิจัยก็นำการศึกษาทั้งกระบวนให้ก้าวหน้าไป เช่น เมื่อคิดออกหรือรู้ความจริงแล้ว ก็ช่วยให้ทำพฤติกรรมที่ถูกต้องได้ผลดี และทำให้จิตใจโปรงโล่ง เป็นอิสระ สว่าง สงบ สดใส เป็นสุข

เพราะฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาพฤติกรรม ตั้งแต่วิธีการด้านพฤติกรรมในการหาข้อมูล เช่นในการไปหาผู้คน จะต้องรู้จักเข้าหาคน ว่าจะเข้าหาคนอย่างไร มีวิธีพูดอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างไรจึงจะเกื้อหนุนให้เราสามารถหาข้อมูลอย่างได้ผล ตลอดจนสามารถสืบหาความเห็นจากเขาได้

เนื่องจากการพัฒนาด้านพฤติกรรม ต้องอาศัยการพัฒนาด้านจิตใจมาหนุน เพราะต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้วยกัน เราก็จะต้องมีการพัฒนาด้านจิตใจด้วย อย่างน้อยต้องขอย้ำปัจจัยที่สำคัญด้านจิตใจ คือแรงจูงใจแห่งความอยาก ที่เรียกว่าฉันทะ ที่ว่าจะต้องหาความจริงให้ได้ และต้องทำให้มันดีให้ได้ ถ้าไม่บรรลุจุดหมายนี้จะไม่ยอมหยุด ปัจจัยด้านจิตใจตัวนี้จะมาหนุนการวิจัยอย่างเต็มที่

ทีนี้พอเราวิจัยได้ผลขึ้นมาการวิจัยนั้นก็เพิ่มขยายปัญญา ซึ่งก็มาหนุนพฤติกรรม ทำให้เรารู้ว่าเราควรจะพัฒนาพฤติกรรมอย่างไรจึงจะทำให้ได้ผลดียิ่งขึ้น แล้วก็ทำให้จิตใจได้ผลดีด้วย เช่น เกิดความพึงพอใจ พอเกิดความพึงพอใจจิตใจของเราก็มีความสุข และเมื่อมีความพอใจมีความสุขในการวิจัย เราก็ยิ่งเกิดความมุ่งมั่นเอาจริงยิ่งขึ้นที่จะวิจัยต่อไป ปัจจัยทุกด้านจึงสัมพันธ์กันหมด ฉะนั้นในกระบวนการของการศึกษานั้นทั้ง ๓ ด้านของชีวิตจะต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

ในด้านพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมที่สำคัญที่สุดก็คือ พฤติกรรมในการทำมาหาเลี้ยงชีพ เพราะชีวิตของคนนี้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่การทำมาหาเลี้ยงชีพ ฉะนั้นเราจะต้องเอาการทำมาหาเลี้ยงชีพมาใช้ประโยชน์ คือเอามาเป็นแดนพัฒนามนุษย์ เมื่อเราใช้การทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์ ก็จะเกิดการศึกษาในชีวิตจริง จากการทำมาหาเลี้ยงชีพนั่นแหละ ฉะนั้นการศึกษาจะต้องทำอันนี้ให้ได้

การศึกษาด้านพฤติกรรมนี้ในพุทธศาสนาท่านจัดเป็นหมวด ซึ่งมี ๓ ข้อคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ คือ วาจาก็ต้องดี เกื้อหนุนให้ชีวิตพัฒนา การกระทำก็ต้องเกื้อหนุนให้ชีวิตพัฒนา แต่ข้อสำคัญที่เรามักจะลืมก็คือ สัมมาอาชีวะ คือการประกอบการหาเลี้ยงชีพ ทำมาหากิน ว่าทำอย่างไรมันจะเป็นแดนที่ส่งเสริมการพัฒนาชีวิตของคน

คนทั่วไปมักจะลืมเรื่องนี้ว่าเราจะใช้การทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นแดนพัฒนามนุษย์อย่างไร เราจะนึกแต่เพียงว่าให้เขาพยายามดิ้นรนหาสิ่งเสพบริโภค โดยลืมไปว่ามันเป็นโอกาสที่เขาจะพัฒนาชีวิตของเขาไปด้วย แม้แต่ในด้านความสุข

รวมความตอนนี้ว่า เรื่องของการศึกษานั้นคลุมปัญญา คือการวิจัยเข้าไปด้วย วิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และวิจัยนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้การศึกษาคือการพัฒนามนุษย์เดินหน้าไปด้วยดี เพราะในชีวิตของมนุษย์นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ผ่านพ้นปัญหาไปโดยแก้ปัญหาสำเร็จ และดำเนินชีวิตไปโดยปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย คือ ปัญญา พร้อมกันนั้นพฤติกรรมและจิตใจก็เป็นตัวประกอบมาเกื้อหนุนให้การวิจัยนั้นสำเร็จผล ทำให้เกิดปัญญาด้วยดี

เท่าที่พูดมานี้ต้องการชี้ว่าจะต้องให้ทุกคนมีจิตใจเป็นนักวิจัยไม่ใช่มารอกันให้ทำงานวิจัยเท่านั้น ถ้าทำได้อย่างนี้ทุกคนก็มีชีวิตอยู่ด้วยการวิจัย และมีการวิจัยเป็นส่วนของการดำเนินชีวิต เราก็จะดำเนินชีวิตและทำการทุกอย่างด้วยการรู้ความจริง ทำด้วยปัญญา ที่รู้เข้าถึงความจริง พร้อมกันนั้นก็พยายามดำเนินชีวิตโดยหาทางทุกเวลาว่าทำอย่างไรจะให้ชีวิตและสังคมดีงาม ความสำนึกนี้จะกลายเป็นจิตใจของเราตลอดเวลา เมื่อเรามีจิตใจเป็นนักวิจัยแล้ว เราจะทำอะไรก็ต้องทำด้วยความรู้เข้าใจความจริง และทำเพื่อให้ทุกสิ่งมันดี ชีวิตที่การวิจัยมาเป็นส่วนประกอบของการศึกษา และการศึกษาเป็นกระบวนการที่นำชีวิตให้ดำเนินไปด้วยดี ก็จะทำให้คนพัฒนาเป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้จริง

ที่จริงนั้น ลำพังเป็นมนุษย์แล้วยังหาประเสริฐไม่ เรามักจะพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ถ้าพูดตามหลักพุทธศาสนาท่านไม่ยอมรับ ต้องพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ หมายความว่า ถ้าไม่มีการศึกษามนุษย์ก็ไม่ประเสริฐ เพราะว่ามนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกแล้วสู้สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้

เมื่อเราฝึกฝนพัฒนาคนไป เขาก็จะเปลี่ยนจากชีวิตที่อยู่ด้วยตัณหามาเป็นชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา เมื่อเป็นชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญาก็เป็นอันว่าถึงจุดหมาย เพราะชีวิตที่ประเสริฐก็คือชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา ในเรื่องนี้จะยกพุทธภาษิตมายืนยันก็ได้ เพราะว่าอันนี้เป็นลักษณะของชีวิตที่สมบูรณ์ แม้แต่จุดหมายของพุทธศาสนาที่ว่าเป็นพระอรหันต์เพื่ออะไร ก็เพื่อเป็นชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา

มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนานั้นยังไม่มีปัญญาพอ ก็ต้องอาศัยตัณหาช่วยให้อยู่รอดไปก่อน คืออาศัยความอยากเสพที่จะบำรุงบำเรอตัวมาเป็นตัวนำ ตัณหานั้นอยู่ภายใต้การเอื้อของอวิชชา อวิชชาเป็นตัวเอื้อให้ตัณหามาเป็นตัวชักนำชีวิต พอปัญญามาเราก็ไม่ต้องอาศัยตัณหา มนุษย์ก็ใช้ปัญญาดำเนินชีวิตไป มนุษย์ก็จะเปลี่ยนจากสัตว์ที่ต้องอาศัยตัณหาเป็นเครื่องจูงชีวิตมาสู่การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา การที่จะมีชีวิตด้วยปัญญาเราก็ต้องดำเนินชีวิตโดยใช้ปัญญา ซึ่งเป็นชีวิตแห่งการที่มีจิตใจเป็นนักวิจัยตลอดเวลา เมื่อการวิจัยที่แท้เกิดขึ้น เราไปเจอสิ่งใดก็ตาม ก็จะใช้ปัญญาเพื่อหาความจริงและหาทางทำให้มันดี เช่น แก้ปัญหาให้สำเร็จ

ปัญหา มีความหมายว่า เป็นสิ่งบีบคั้น ติดขัด คับข้อง แต่ปัญหายังมีความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ มันเป็นเวทีพัฒนาปัญญา พอเราเจอปัญหาเราต้องใช้ปัญญา เมื่อเราวิจัยตลอดเวลาปัญญาก็เกิด ปัญญานั้นก็เกิดจากการพยายามแก้ปัญหา โดยนัยนี้ ในที่สุดการวิจัยก็จะมีความหมายขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า การวิจัยคือการเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา

ในสังคมปัจจุบันเราต้องการคนที่สามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา ปัญหากับปัญญาสองตัวนี้ใกล้กันมาก เปลี่ยนตัวเดียวก็กลายจากปัญหาเป็นปัญญา คนที่เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาได้นี่แหละคือคนที่เราต้องการ เวลานี้เราสามารถไหมที่จะให้การศึกษา ที่ทำให้เด็กเป็นผู้มีความสามารถที่จะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา

มนุษย์ที่พัฒนาดีแล้วเป็นนักเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา เขามีความสามารถในการเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา การวิจัยนี้แหละจะเป็นตัวเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา ถ้าเราเจอปัญหาแล้วเราไม่ถอย เราสู้ปัญหา เราพยายามที่จะแก้ปัญหา จากการแก้ปัญหานั้นปัญญาก็จะเกิดขึ้น แล้วเราก็จะประสบความสำเร็จ

เวลานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นเรื่องนี้ เพราะว่าปัจจุบันนี้เด็กของเราเริ่มเป็นคนไม่สู้ปัญหา เมื่อไม่สู้ปัญหาก็เป็นคนอ่อนแอ เมื่อเป็นคนอ่อนแอก็ยิ่งทุกข์มาก และทุกข์ง่ายด้วย ดังนั้นคนที่ไม่สู้ปัญหาจึงต้องเจอแต่ความทุกข์ และทุกข์มากด้วย

ส่วนคนที่สู้ปัญหานั้น เขาสร้างจิตใจที่เป็นนักสู้ปัญหามาแล้ว พอเจอปัญหาก็บอกตัวเองว่าเราจะได้ปัญญา ก็เลยดีใจชอบใจ ถ้าใครชอบใจที่เจอปัญหา ก็ปลอดภัยว่าจะพัฒนาแน่นอน เพราะว่าเขาจะเริ่มสู้ และจากการสู้ปัญหานั้นเขาก็จะพัฒนาปัญญาขึ้นมาได้ แล้วเขาก็จะประสบความสำเร็จ คือเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา

นี้คือการวิจัยในความหมายขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นรากฐานของการวิจัยในความหมายที่เราใช้กันในปัจจุบัน ถ้าคนไทยเรามีจิตใจเป็นนักวิจัยในความหมายที่กล่าวมานี้ คำว่าการศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย ก็สำเร็จแน่นอนโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีการวิจัยในความหมายนี้ไว้ก่อน แม้แต่การวิจัยที่เป็นกิจการของสังคมก็จะต้องมีจิตใจของนักวิจัยนี้มาเป็นพื้นฐานเพื่อให้สำเร็จผลดีอย่างแท้จริง ตอนนี้ขอผ่านเรื่องนี้ไปก่อนเพราะได้ใช้เวลาไปมากแล้ว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง