ในเวลาที่เหลือน้อยจะต้องขอพูดเรื่องนี้นิดหน่อย คือ การหันกลับมาย้อนรอยดูตัวเอง เมื่อกี้เราย้อนทางความเจริญที่มาถึงเรากลับไปดูสังคมตะวันตก ทีนี้ย้อนกลับมาดูตัวเองของเราบ้าง และย้อนถอยไปดูภูมิหลังจนถึงรากเหง้าของตัวเราเอง ว่าเราเป็นอะไรมาอย่างไร ขอย้ำว่าต้องค้นกันให้ถึงที่สุดจนเข้าถึงความจริงให้ได้ ถ้าไม่ถึงความจริงจะต้องไม่ยอมหยุด และหาทางทำให้มันดีให้ได้ ถ้าทำให้ดียังไม่ได้ก็ไม่ยอมหยุด อันนี้คือคติของพระพุทธเจ้ารวมทั้งชาวพุทธและนักวิจัยทุกคน
ต้องขอประทานอภัยที่จะวิจารณ์ว่า งานวิจัยของเรายังไม่ค่อยมีจิตใจของนักวิจัย ในวงวิชาการทั่วไปอย่างที่มองเห็น เช่นสังคมวิทยา ยังไม่ค่อยเห็นคุณสมบัตินี้ สังคมไทยของเรามีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรบ้างที่หล่อหลอมสังคมนี้ทั้งในทางลบและทางบวก
เราบอกว่าพุทธศาสนาเป็นสถาบันสังคมอย่างหนึ่ง และไม่ใช่เป็นสถาบันทางสังคมเท่านั้น แต่เป็นแหล่งแห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาด้วย เมื่อมองพระพุทธศาสนาเราไม่จำเป็นต้องมองในแง่ศาสนาเท่านั้น แต่เราต้องมองในแง่ที่เป็นปัจจัยทางสังคมด้วย โดยเฉพาะในฐานะรากฐานทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมจิตใจนิสัยของคน ถ้าเราจะจัดการกับสังคมไทยให้มีการพัฒนาเป็นต้นให้ดี เราจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ การที่จะต้องเข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนาในแง่นี้เราปฏิเสธไม่ได้ แต่แท้ที่จริงนั้นเราเข้าใจแค่ไหน
ทั้งๆ ที่พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่สืบรู้ได้ มีหลักการที่ชัดเจนเพราะเป็นคำสอนที่มีหลักการแน่นอน มีคัมภีร์เป็นแหล่งความรู้ที่จะบอก ตรวจสอบ ค้นคว้า พิสูจน์ได้ แต่เราก็ไม่ค่อยค้นกันไปถึงไหนเลย เวลาพูดถึงพระพุทธศาสนาในแง่ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย มีข้อสังเกตว่า แม้แต่นักวิชาการมักเรียนพุทธศาสนาจากความรู้และความเชื่อของชาวบ้าน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาที่พูดถึงในตำราจึงกลายเป็นพุทธศาสนาตามความเชื่อของชาวบ้าน ที่เอามาอ้างอิงอย่างสับสนให้เข้าใจผิดไปได้ว่าเป็นตัวพุทธศาสนาเอง
พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่ไม่บังคับศรัทธา เป็นศาสนาที่ไม่มี dogma ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติพระพุทธศาสนาจึงขึ้นกับการศึกษา ถ้าประชาชนหย่อนการศึกษา สิ่งที่ชาวบ้านเอามาเชื่อ เอามานับถือ เอามาปฏิบัติ ก็จะได้มาจากการเล่าต่อๆ กันมา จากความรู้ความเข้าใจที่เลือนลางลงไป สิ่งที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาก็เพี้ยนและคลาดเคลื่อนไป ฉะนั้น การแยกให้ชัดระหว่างหลักการของพระพุทธศาสนา กับพระพุทธศาสนาตามความเชื่อถือปฏิบัติของชาวบ้านหรือของยุคสมัย จึงเป็นความจำเป็นต่อการที่จะได้ความรู้ที่ถูกต้อง เราจึงจะต้องแยกระหว่างพระพุทธศาสนาที่ชาวบ้านเชื่อ กับพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักการเดิมแท้ แต่เรื่องนี้นักวิชาการทั่วไปแยกไม่ออก และเขาก็แยกไม่ได้ระหว่างพุทธศาสนาที่ชาวไทยเชื่อ กับพุทธศาสนาที่เป็นหลักการของพุทธศาสนาเอง ถ้าแยกสองอย่างนี้ไม่ได้
๑. ความรู้ทางวิชาการก็บกพร่อง ไม่ถูกต้อง ไม่เข้าถึงความจริง และไม่แสดงถึงความจริง
๒. ผู้ศึกษาเล่าเรียนไม่ได้ความรู้ที่ชัดเจน หรืออาจถึงกับหลงผิด
๓. เสียประโยชน์แก่สังคม แทนที่สังคมจะได้อะไรมาใช้ประโยชน์ ก็ไม่ได้
จึงจะต้องเน้นย้ำไว้ว่า ผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้านสังคมของไทยเรื่องใด ไม่สามารถทำให้เกิดความชัดเจนในการแยกต่างระหว่างหลักการของพระพุทธศาสนา กับพระพุทธศาสนาในความเชื่อถือของชาวบ้าน ผลงานนั้นต้องถือว่าขาดคุณค่าพื้นฐานทั้งในแง่ความจริงและคุณประโยชน์ จัดว่าเป็นผลงานที่ขาดการวิจัย
ฉะนั้น พระพุทธศาสนาที่ปรากฏแก่เรานี้ มองได้ทั้งในแง่ที่เป็นปัจจัยช่วยหล่อหลอมสังคมนี้ และพร้อมกันนั้นพุทธศาสนาอย่างที่คนไทยเชื่อนี้ก็ถูกคนไทยปรุงแต่งด้วย หมายความว่า พุทธศาสนานั้นถูกอิทธิพลความต้องการเป็นต้นของคนไทย ตลอดจนลัทธิความเชื่อถือที่มีอยู่ในสังคมไทยหล่อหลอมให้เกิดเป็นพระพุทธศาสนาแบบของไทยขึ้น ซึ่งต่างกับพระพุทธศาสนาเดิมแท้
ถ้าเราแยกเรื่องนี้ไม่ชัดเราก็จะเข้าใจสังคมไทยไม่ชัดด้วย เมื่อเข้าใจไม่ชัด ก็ไม่เห็นแง่มุมของปัญหาที่จะต้องแก้ไขและการที่จะนำพระพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์สังคมไทย ตลอดจนเสียประโยชน์ทุกขั้นตอนจนถึงขั้นที่ว่า ถ้าเราจะช่วยแก้ปัญหาความติดตันแห่งอารยธรรมของโลก เราก็หมดโอกาสที่จะนำสิ่งที่ดีที่เรามีไปนำเสนอต่อโลกด้วย
เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงเรื่องอุบาสก อุบาสิกา ว่าคุณสมบัติที่ถูกต้อง คือเป็นผู้ที่ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่หวังผลจากโชคลาง แต่หวังผลจากการกระทำ จะเห็นว่าเพียงคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกา ง่ายๆ แค่นี้ เมืองไทยเรานับถือพุทธศาสนามากี่ร้อยปีทำได้ไหม แค่นี้ก็แย่แล้ว เราอาจจะถามว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะพระพุทธศาสนาทำงานไม่สำเร็จผล หรือเป็นเพราะคนไทยใช้พระพุทธศาสนาไม่เป็น
ประวัติของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นประวัติแห่งการพยายามเข้าสู่และเข้าถึงพุทธศาสนา ในบางยุคบางสมัยเราก็ขึ้นมาสู่พุทธศาสนาได้ บางครั้งเราถอยหลังลง ขึ้นมาถอยลง ขึ้นมาถอยลง ดูสภาพสังคมไทยในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๕ เป็นตัวอย่าง ในหลวงรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงยกเอาคติพุทธศาสนาขึ้นมาเหนี่ยวรั้งไม่ให้ประชาชนไปหลงไสยศาสตร์ (ดูตัวอย่างในประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ ๑ จ.ศ. ๑๑๖๖, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ, เล่ม ๓, น. ๔๑๗) แม้ในรัชกาลที่ ๕ ก็เช่นเดียวกัน ทรงเอาพระทัยใส่ให้มีการสอนหลักการที่แท้ของพุทธศาสนา ไม่ให้หลงงมงาย ให้เชื่อเหตุเชื่อผล ไม่เชื่อไสยศาสตร์ แสดงว่าเมืองไทยเรามีประวัติการต่อสู้ทางปัญญาอย่างนี้กันมาเรื่อย และบางครั้งเราก็เพลี่ยงพล้ำถอยลงไป
ฉะนั้นมองในแง่หนึ่งเราอาจวางโมเดลของสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่พยายามเข้าถึงพระพุทธศาสนา คือไม่ใช่เป็นประเทศพุทธศาสนาแล้ว แต่เป็นประเทศที่พยายามเข้าถึงพุทธศาสนา แล้วเราก็เดินกันไป แต่เดินไปได้แค่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าเราไม่ตื่นตัวตระหนักในเรื่องนี้และไม่ตรวจสอบตัวเองเราจะพลาดมาก
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ ถ้าเพ่งมองที่พระพุทธศาสนาอย่างเดียว อาจจับแง่มุมของปัญหาพลาดได้ จึงขอให้ดูด้านความเจริญแบบสมัยใหม่บ้าง วิทยาศาสตร์ถือกันว่าตรงข้ามกับไสยศาสตร์ หรือเป็นตัวแก้ของไสยศาสตร์
วิทยาศาสตร์เข้ามาเมืองไทย ๑๐๐ กว่าปีแล้ว ในยุคแรกกระแสความเชื่อวิทยาศาสตร์ไหลแรงมาก แต่สภาพปัจจุบันของสังคมไทย ก็คือ ความกลาดเกลื่อนแพร่หลายของไสยศาสตร์ น่าจะถามเช่นเดียวกันว่า วิทยาศาสตร์ทำงานไม่สำเร็จในสังคมไทย หรือว่าคนไทยไม่สามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์เอง
โดยทั่วไปถือกันว่า วิทยาศาสตร์คู่กับเทคโนโลยี แต่น่าสังเกตว่าเวลานี้คนไทยไม่ค่อยรู้จักและไม่สนใจวิทยาศาสตร์ แต่ชอบใช้เทคโนโลยี (เชิงเสพเชิงบริโภค) และรู้จักวิทยาศาสตร์ในความหมายของเทคโนโลยี ยิ่งกว่านั้นยังจับคู่ใหม่เอาเทคโนโลยีมาเข้าคู่กับไสยศาสตร์ โดยเชื่อไสยศาสตร์ และใช้เทคโนโลยี กลายเป็นว่าไสยศาสตร์กับเทคโนโลยีเกื้อหนุนกันไปได้ดีในสังคมไทย
ยิ่งเวลานี้สังคมไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพคนอย่างหนัก คนไทยมีลักษณะอย่างไรบ้าง อาจจะต้องมองในแง่ร้ายให้มากเพื่อการช่วยกันแก้ไขปรับปรุง คนไทยปัจจุบันนี้มีลักษณะ
๑. เป็นคนประมาท คือเป็นคนที่หลงละเลิง เพลิดเพลิน ปล่อยตัว ไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่เร่งรัดจัดทำเรื่องที่ควรทำ เฉื่อยชา ชอบผัดเพี้ยน
๒. เป็นคนขาดความใฝ่รู้
๓. เป็นคนอ่อนแอ อาจจะเรียกว่าไม่สู้สิ่งยากก็ได้
ความอ่อนแอแสดงออกมา เช่น ในการหวังผลจากลาภลอย การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก การโอนภาระความรับผิดชอบให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การยกปัญหาให้เทวดาแก้ สภาพเหล่านี้แสดงถึงความอ่อนแอทั้งสิ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงการไม่ชอบใช้วิธีการแห่งปัญญา การขาดวิญญาณของนักวิจัย การคร้านคิด ไม่สู้ปัญหา ไม่ใช้ปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา ไม่เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา เป็นต้น อย่างที่ว่ามาแล้ว ก็เลยหาประโยชน์จากปัญหาไม่ได้