การศึกษากับการวิจัย เพื่ออนาคตของประเทศไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ผู้นำกระแสอารยธรรม
ก็ต้องหันกลับมาคลำหาทางใหม่

ในเมื่อคำโก้หรู เช่น โลกาภิวัตน์ และวิสัยทัศน์ เหล่านี้มาจากประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตก เราก็ย้อนรอยดูซิ ลองมองย้อนทางกลับไปดูสังคมตะวันตกนิดหน่อย ดูแหล่งกำเนิดของถ้อยคำเหล่านี้ที่ครอบงำอารยธรรมมนุษย์ในปัจจุบัน ดูศูนย์กลางของสิ่งที่ชาวโลกรวมทั้งชาวไทยตื่นตาตื่นใจ ดูสังคมตะวันตกที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลางว่าเป็นอย่างไร เราก็จะเห็นสังคมตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้นที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยมีความเสื่อมโทรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง พูดรวมว่าอารยธรรมทั้งหมดกำลังเสื่อมลง ชาวตะวันตกกำลังผิดหวัง และกำลังขาดความมั่นใจ

เรื่องนี้เป็นอย่างไร อาตมภาพไม่ต้องพูดเอง แต่จะขอยกตัวอย่างคำกล่าวของคนอเมริกันเองมาจากหนังสือสัก ๓ เล่ม หนังสือประเภทนี้ตอนนี้มีมากเหลือเกิน แต่ขอยกมาดูเพียง ๓ เล่มนี้คือ

เล่มที่หนึ่ง กำลังเขียนขยายอยู่ โดยที่เขาได้ทำเป็นบทความก่อน ถึงตอนนี้อาจจะเสร็จแล้วก็ได้ คือเรื่อง Is America on the Way Down? (อเมริกากำลังเสื่อมหรือ?) เล่มที่สองคือหนังสือชื่อว่า The End of the American Century (สิ้นศตวรรษอเมริกัน) และเล่มที่สาม ชื่อ Taking Back America (เอาอเมริกาคืนมา หมายความว่าตอนนี้คนเขียนถือว่าเขาสูญเสียอเมริกาไปแล้ว) ขอนำข้อความจาก ๓ เล่มมาอ่านให้ฟังนิดหน่อย เพื่อดูว่าฝรั่งอเมริกันเวลานี้เขามองสังคมของเขาอย่างไร

เล่มที่ ๑ ว่า “สหรัฐจะกลายเป็นประเทศในกลุ่มโลกที่ ๓ เมื่อใด?” เขาตั้งคำถามขึ้นมา แล้วเขาก็ตอบเองว่า
“คำตอบหนึ่งคาดไว้ใกล้แค่ ค.ศ. 2020 (คืออีก ๒๕ ปี) ส่วนการคาดหมายที่มองในแง่ดีกว่านั้นเพิ่มให้อีก ๑๐ หรือ ๑๕ ปี แต่ไม่ว่าจะเอาแบบไหนก็ตาม ถ้าแนวโน้มปัจจุบันยังดำเนินต่อไป คนอเมริกันทั้งหมด ยกเว้นจำนวนน้อยนิด จะจนลงอย่างรวดเร็ว จนเหลืออยู่แต่ความหวนละห้อยอย่างสิ้นหวัง ถึงยุคทองแห่งความรุ่งเรืองของอเมริกาที่หมดสิ้นไปแล้ว”1

เล่มที่ ๒ ว่า
“บัดนี้ปัญหาภายในของอเมริกามาถึงจุดหนักหนาที่สุดแล้ว มันจะเลวร้ายมากไปกว่านี้ไม่ได้ อเมริกากำลังอยู่ท่ามกลางการปฏิวัติทางสังคม ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิวัติครั้งนี้จะเป็นเครื่องตัดสิน ไม่เฉพาะแต่วิถีแห่งอนาคตของอเมริกาเท่านั้น แต่จะตัดสินด้วยว่า อเมริกาอย่างที่เรารู้จักนี้จะมีอยู่ในศตวรรษที่ ๒๑ หรือไม่”2

เล่มที่ ๓ ว่า
“ทุกหนทุกแห่งที่คุณมองไป จะเห็นแต่สภาพที่ไม่น่าดู เรื่องอัปยศทั้งหลาย และความแหลกเหลวเละเทะต่างๆ โดยมีเสียงของโปโตแม็ก (Potomac หมายถึง รัฐบาลอเมริกัน) เปล่งโปรยปรายจากมหานครแห่งความสำราญฟอนเฟะ ออกมาปลุกปลอบให้ความมั่นใจ แต่เป็นเสียงที่แหบเครือกลวงในว่า ทุกอย่างเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี ทั้งที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ตระหนักรู้โดยสัญชาตญาณว่า ในอเมริกานี้ทุกอย่างแย่ไม่ดีเลย แต่คนส่วนมากก็ไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศของเราจึงตกอยู่ในภาวะสับสนระส่ำระสาย ตื่นเถิดอเมริกา จงตื่นขึ้นมา ก่อนที่จะสายเกินไปและอเมริกาได้กลายเป็นรัสเซียแห่งต่อไปเสียแล้ว”3

ตื่นเถิดชาวไทยด้วย ไม่ใช่ตื่นเฉพาะอเมริกา บางทีอเมริกาอาจจะยังดีกว่าเราก็ได้ แต่ตอนนี้อเมริกากำลังหวั่นกลัวเป็นอย่างยิ่ง หนังสืออย่างนี้เวลานี้มีเยอะแยะไปหมด นี่เป็นสภาพวิกฤตในทางสังคม แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ วิกฤตการณ์ทางภูมิธรรมภูมิปัญญา อันนี้ร้ายยิ่งกว่า เพราะมันเป็นฐานอยู่ใต้วิกฤตการณ์ทางสังคม

จะยกตัวอย่างกรณีวิกฤตการณ์ทางภูมิธรรมภูมิปัญญาของอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งมีชื่อว่าเป็น Harvard of the West (ฮาร์วาร์ดแห่งปัจจิมทิศ) นักศึกษาได้เรียกร้องให้เอาวิชาพื้นฐานสำคัญของมหาวิทยาลัยวิชาหนึ่งออกไปเสีย คือวิชา Western Culture (วิชาวัฒนธรรมตะวันตก) เพราะว่า วัฒนธรรมตะวันตกเป็นวัฒนธรรมแห่งการกดขี่ เป็นวัฒนธรรมจักรวรรดินิยม เป็นวัฒนธรรมเหยียดเชื้อชาติ แบ่งผิว เป็นวัฒนธรรมเห็นแก่ชาติพันธุ์ของตัวเอง นี่คือเหตุผลของนักศึกษา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในกิจการวิชาการของมหาวิทยาลัยอยู่ ๒ ปี ต่อมาสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยก็ตกลงมีมติยกเลิกวิชานี้และเปลี่ยนเอาวิชาใหม่เข้ามา นี้เป็นตัวอย่างของวิกฤตการณ์ทางภูมิธรรมภูมิปัญญา

เวลานี้มีแนวความคิดแบบ postmodernism (แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่) ซึ่งปฏิเสธค่านิยมวัฒนธรรมและภูมิธรรมภูมิปัญญาเดิม ที่อเมริกาภาคภูมิใจกันมาแทบทั้งหมด และฝ่ายเก่าที่ไม่เห็นด้วยก็กำลังสู้กันอยู่ หนังสือเล่มหนึ่งบอกว่าขณะนี้อเมริกากำลังเข้าสู่สงคราม แต่ไม่ใช่สงครามภายนอก เป็นสงครามภายในประเทศ และเป็นสงครามทางวัฒนธรรม จะยอมรับหรือไม่ว่า คตินิยมและแนวความคิดต่างๆ ที่เคยภูมิใจมาเป็นสิ่งเลวร้ายทั้งหมดแล้ว

รากฐานความคิดของตะวันตกที่ลึกที่สุด ซึ่งครองความยิ่งใหญ่มา ๒๐๐๐ พันกว่าปี คือแนวคิดพิชิตธรรมชาติ แม้แต่ Encyclopaedia Britannica ในหัวข้อที่ว่าด้วยประวัติวิทยาศาสตร์ เขาได้พูดไว้ได้ความว่า แต่ก่อนนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมตะวันตกล้าหลังตะวันออก (คือจีนและอินเดีย) แต่ด้วยแนวความคิดพิชิตธรรมชาติจึงทำให้ตะวันตกก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำหน้าเลยประเทศตะวันออกไป แนวความคิดพิชิตธรรมชาตินี้ถือว่าเป็นแนวคิดเอกของตะวันตก ซึ่งเป็นที่มาของอารยธรรมปัจจุบัน แต่เวลานี้ฝรั่งเลิกภูมิใจแล้ว ส่วนมากกลับบอกว่าแนวความคิดนี้ใช้ไม่ได้ และเป็นที่มาของปัญหาการทำลายธรรมชาติแวดล้อม

เวลานี้ฝรั่งจะย้ำให้มองธรรมชาติด้วยท่าทีใหม่ คือไม่ให้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ แต่ให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เขาย้ำกันเหลือเกินว่าให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ขอให้สังเกตในหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อม ฝรั่งจะย้ำตรงนี้ ในเมื่อมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าใครไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่าทำไมฝรั่งต้องมาย้ำด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะฝรั่งเขาไม่เคยมองอย่างนั้น นี่ก็ตัวอย่างหนึ่ง

ทิฏฐิรองลงมาก็เช่นคติแห่งความก้าวหน้า (idea of progress) ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นประมาณศตวรรษที่ ๑๙ โดยเริ่มก่อหวอดเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๑๗ จากกระแสความตื่นตัวที่มากับทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน คือแนวความคิดตามหลักวิวัฒนาการ ซึ่งทำให้บางคนสร้างความคิดในเชิงสังคมขึ้นมาตามหลักของธรรมชาตินี้ด้วย ตามหลักการนี้มนุษย์จะต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ใครที่เก่งก็อยู่รอด และมนุษย์นี้จะต้องก้าวหน้าต่อไปโดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเกื้อหนุน ตามแนวคิดนี้มนุษย์จะต้องก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง และความมั่งมีศรีสุข เมื่อไม่นานนี้แนวคิดแห่งความก้าวหน้านี้ฝรั่งภูมิใจนัก แต่เวลานี้เขาบอกเลิกแล้ว กลายเป็นว่าแนวคิดนี้ล้าสมัย ใช้ไม่ได้

แนวคิดอีกอย่างหนึ่งที่อเมริกันถือว่าเป็นฐานแห่งความเจริญของเขา คือ frontier mentality (สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน) คำว่า frontier นี้ ให้สังเกตว่าฝรั่งจะพูดมากที่สุดโดยเฉพาะอเมริกัน อะไรๆ ก็ต้อง frontier คือ แนวคิดบุกฝ่าพรมแดน ที่นำสืบมาจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป พอมาถึงอเมริกาแล้วแนวความคิดนี้ก็พัฒนาอย่างยิ่ง และได้กลายเป็นฐานความเจริญของอเมริกัน มาในถ้อยคำเช่นว่า “Go west young man, and grow up with the country” แปลว่า “เจ้าหนุ่มจงมุ่งหน้าตะวันตก และจงทำบ้านนอกขอกนาให้เจริญขึ้นมากับตัวเจ้า” นี่คือคติของตะวันตก ยุคคาวบอยก็เจริญมาอย่างนี้ คือเขามุ่งหน้าขยายดินแดนออกไป ไปหาทรัพยากรใหม่ ไปทำบ้านป่าเมืองเถื่อนให้เจริญขึ้นมา นี่คือคติ frontier ซึ่งช่วยให้ฝรั่งแผ่ขยายออกตะวันตกจนกระทั่งทั่วแผ่นดินอเมริกา แล้วออกอวกาศต่อไปอีก ล้วนเป็นแนวความคิดฟรอนเทียร์ทั้งนั้น

การที่ฝรั่งออกหาล่าเมืองขึ้นก็สืบเนื่องจากแนวคิด frontier นี้ ฉะนั้นแนวคิดนี้จึงสำคัญมาก เป็นเบื้องหลังของการสร้างสรรค์ความเจริญของอเมริกา แต่ขณะนี้ frontier mentality กำลังถูกประณามโดยคนสมัยใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่ผิดและใช้ไม่ได้แล้ว นี่คือสภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน

อีกอย่างหนึ่งที่อเมริกันต้องการและเป็นจุดหมายที่พ่วงอยู่ด้วยกันกับสภาพจิตบุกฝ่าพรมแดนนั้น คือ American dream คือฝันอเมริกัน ซึ่งยังพยายามกันอยู่ แต่มันเป็นแนวคิดแบบวัตถุนิยม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานความคิดที่เชื่อว่า ความสุขอยู่ที่การมีวัตถุเสพ เข้าแนวที่ว่า “เสพมากที่สุด สุขมากที่สุด”

อีกประการหนึ่ง melting pot (คติเบ้าหลอม) ขณะนี้ก็แตกแล้ว สังคมอเมริกันขณะนี้กลายเป็น mosaic ถ้าโมเสคอธิบายไม่ได้ก็จานสลัด อันนี้ก็พอจะทราบกัน แล้วก็ลัทธิ individualism (ปัจเจกนิยม) ซึ่งเป็นที่มาของระบบแข่งขันด้วย ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยฝรั่งก็แคลงใจและหันมาติเตียนกัน และผิดหวัง มีการมองว่าวัฒนธรรมของตัวเอง(วัฒนธรรมตะวันตก) เป็นตัวการทำลายโลก เป็นตัวกดขี่ และเป็นลัทธิแผ่อำนาจ เป็นอันว่าเวลานี้ ตะวันตกกำลังหันมาด่าว่าติเตียนบรรพบุรุษของตัวเองกันมากมาย

แม้กระทั่งประชาธิปไตยก็มีปัญหา อย่างหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่าเวลานี้ประชาธิปไตยอเมริกันมีการเมืองที่เปลี่ยนจากการเมืองแบบ civic politics มาเป็น claimant politics หมายความว่า ในประชาธิปไตยแบบทำหน้าที่พลเมืองนั้น ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยกันเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม ทุกคนมีจิตสำนึกในการที่ว่าทำอย่างไรเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคม เรียกว่าทำหน้าที่พลเมือง แต่เวลานี้การเมืองนั้นย้ายมาเป็น claimant politics คือเป็นการเมืองแบบเรียกร้องผลประโยชน์ ทุกคนคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและจะเอาเพื่อตัวเอง ซึ่งจะเป็นจุดสลายอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยอเมริกัน เขาบอกว่าประชาธิปไตยของเขาขณะนี้เคลื่อนย้ายจาก civic politics มาเป็น claimant politics

วัฒนธรรมอเมริกันที่กำลังรุ่งเรืองมีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลก คือวัฒนธรรมบันเทิง ซึ่งได้ขึ้นมามีฐานะเป็นสินค้าออกที่เด่นที่สุดของสหรัฐฯ นักแสดงอเมริกันและซอฟต์แวร์ต่างๆ ของอเมริกา อาศัยความเจริญของข่าวสารข้อมูลแผ่ความนิยมออกไป จนกระทั่งสินค้าออกด้านการบันเทิงนี้กลายเป็นสินค้าออกอันดับสองของอเมริกา (อันดับหนึ่งก็ด้านการบินอวกาศ) สิ่งบันเทิงของอเมริกากำลังแผ่อิทธิพลครอบงำไปทั่วโลก แต่บางคนวิเคราะห์ว่านี่คือเครื่องหมายแห่งความล่มสลายของอารยธรรมอเมริกัน ดังที่เขาเทียบให้ดูจากกรีก

เมื่อกรีกล่มสลายนั้นวัฒนธรรมบันเทิงของกรีกได้ครอบงำโลกตะวันตกต่อมาอีก ๓๐๐ ปี เวลานี้วัฒนธรรมอเมริกันที่กำลังแพร่หลายที่สุดคือ วัฒนธรรมบันเทิง สภาพนี้จะเป็นอย่างเดียวกับกรีกหรือไม่ คือเมื่ออเมริกาล่มสลายแล้วก็เหลือทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยคือวัฒนธรรมบันเทิงที่แผ่ไปทั่วโลก แต่จะเป็นวัฒนธรรมที่ดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันอาจจะกลายเป็นพิษเป็นภัยที่อเมริกาเหลือหลงไว้ให้แก่โลกก็เป็นได้

เป็นอันว่า จะต้องคิดให้ดีว่าเวลานี้เราสัมพันธ์กับสิ่งที่เข้ามามากมายด้วยความรู้เท่าทันดีแค่ไหน มันจะก่อปัญหาหรือไม่ แต่ในอเมริกาเองขณะนี้แน่นอนมันเป็นปัญหาแล้ว เขากำลังต่อสู้กันอยู่ในทางวัฒนธรรม เขากำลังมีปัญหาหนักในสังคม เขากำลังมีวิกฤตการณ์ทางภูมิธรรมภูมิปัญญา คนไทยเราจะตามเขา หรือว่าจะรู้ทันและได้บทเรียนแล้วตั้งตัวให้ดี หรือแม้แต่ไปช่วยเขาแก้ปัญหา เมื่ออเมริกาเป็นปัญหา ทั้งโลกก็เป็นปัญหาด้วย เพราะอารยธรรมของเขากำลังครอบงำโลกอยู่

เป็นไปได้ไหมว่าคนไทยเราจะตั้งตัวได้ในโลกนี้ที่กำลังมีปัญหามาก ถ้าหากว่าเราจะสำนึกและคิดด้วยปัญญา เราจะมีความเป็นตัวของตัวเองบ้างไม่ได้หรือ จำเป็นที่เราจะต้องมีจุดหมายอันสูงที่มุ่งจะแก้ปัญหาของโลกและคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่คอยแต่ตามเขา แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่จะไปต่อต้าน แต่เป็นการช่วยกันร่วมมือกันแก้ปัญหา เราอาจจะช่วยอเมริกาแก้ปัญหาได้ด้วยซ้ำไป แต่เรามีไหมภูมิธรรมภูมิปัญญาที่จะช่วยเขา ถ้าเราจะทำการในทางสร้างสรรค์อย่างนี้ แน่นอนว่าเราจะต้องมีการวิจัยเพื่อให้ได้ภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ถูกต้องมา

ขณะที่โลกติดตัน คนไทยรู้ไม่ทัน เราก็เดินหน้าไปไม่ได้ แถมยังหลงตามเขาไปในทางที่ผิด โดยไม่รู้ว่านี่เป็นทางไปสู่หายนะ แทนที่จะช่วยโลกยามนี้ให้ดีกลับไปร่วมซ้ำเติมความวิบัติ เพราะฉะนั้นควรจะถอนตัวออกมา และช่วยนำโลกออกจากหายนะไปสู่ความดีงามให้ได้ อันนี้แหละคือเรื่องที่การวิจัยจะช่วยได้ ทั้งที่จะให้รู้เท่าทันโลก และรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งที่สำคัญ

1Edward N. Luttwak, “Is America on the Way Down?” Commentary, March,1992, p.15.
2Steven Schlossstein, The End of the American Century (New York: W.W. Norton & Company, 1992) pp.479-480.
3Michael William Haga, Taking Back America (USA: Acclaim Publishing Co.,Inc., 1995) pp.225, 296.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง