การศึกษากับการวิจัย เพื่ออนาคตของประเทศไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การวิจัยช่วยให้การศึกษาบรรลุจุดหมาย

การศึกษาก็เช่นเดียวกัน เราลองมาดูความหมายเดิมของท่าน การที่จะพูดถึงการศึกษาก็ต้องพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์

พุทธศาสนาบอกว่า ธรรมชาติของมนุษย์ คือ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก ฝึกได้ด้วยและต้องฝึกด้วย การฝึกคืออะไร คือเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา คำว่าฝึกนั้นรวมความหมายเหล่านี้อยู่ด้วยกันหมด เรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนา เรียกว่า การศึกษา เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงเป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา

การดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด วิธีดำเนินชีวิตทุกอย่าง มนุษย์ไม่ได้มาเปล่าๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ขับถ่าย พูดจา หรืออะไรๆ มนุษย์ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดทั้งสิ้น ในแง่นี้ มนุษย์แพ้สัตว์ทั้งหลายอื่นที่ส่วนมากมันได้วิธีดำเนินชีวิตมาเปล่าๆ ด้วยสัญชาตญาณ สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นมีการเรียนรู้จำกัดมาก เรียนรู้นิดหน่อยก็พอแล้ว พอเกิดมามันอาศัยสัญชาตญาณก็ไปได้เลย มันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์นั้นไม่ได้วิธีดำเนินชีวิตมาเปล่าๆ อย่างนั้น ทุกอย่างต้องลงทุน คือ ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน ต้องศึกษา ต้องพัฒนาขึ้นมาทั้งสิ้น ฉะนั้นชีวิตมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่โดยธรรมชาติบอกอยู่ในตัวว่าจะต้องมีการศึกษา เพราะแทบไม่ได้อะไรมาเปล่าๆ โดยสัญชาตญาณ อันนี้เป็นจุดอ่อนของมนุษย์ ที่แพ้สัตว์ทั้งหลายอื่นในแง่ที่ว่า สัตว์อื่นมันได้วิธีดำเนินชีวิตมาแทบจะเปล่าๆ เรียนรู้นิดเดียวก็พอ มันอยู่ได้ง่ายสบายเลย

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของมนุษย์นี้ก็เป็นจุดแข็งของมนุษย์ด้วย เพราะอะไร เพราะว่าความดีงาม ความเลิศ ความประเสริฐของมนุษย์นั้นอยู่ที่การเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา หรือการศึกษานี้ เมื่อมนุษย์เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาแล้ว มนุษย์จะเจริญงอกงามอย่างแทบจะไม่มีที่สิ้นสุดเลย และจุดนี้เป็นข้อที่ทำให้มนุษย์เก่งกว่าสัตว์ทั้งหลาย

ตอนแรกมนุษย์แพ้สัตว์ที่ว่าเราได้อะไรต่ออะไรมาต้องลำบากลงทุน เราแพ้สัตว์อื่น เราเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก สัตว์อื่นไม่ต้องฝึก แต่พอพลิกกลับอีกทีว่า สัตว์อื่นฝึกไม่ได้ มนุษย์เราเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เรารู้ตระหนักธรรมชาติของมนุษย์อย่างนี้แล้ว เราก็ใช้การศึกษา คือเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนานั้นให้ถูกต้องตามธรรมชาติของเรา มนุษย์ก็กลับเจริญงอกงามจนกระทั่งทิ้งห่างจากสัตว์ทั้งหลายไป อย่างเทียบกันไม่ได้เลย ส่วนตนพัฒนาจนเป็นมหาบุรุษ เป็นพุทธะ ส่วนรวมพัฒนาสังคมให้เจริญด้วยวัฒนธรรมและอารยธรรมอย่างแทบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์จึงอยู่ที่การศึกษานี้เท่านั้น คืออยู่ที่ความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ อันนี้จึงเป็นจุดแข็งของมนุษย์

รวมความว่า ชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตที่อยู่ได้ด้วยการศึกษา และจะอยู่ดียิ่งขึ้นไปด้วยการศึกษายิ่งขึ้น ชีวิตที่ดีคือชีวิตแห่งการศึกษา ถ้าชีวิตไม่มีการศึกษาก็ไม่มีความหมาย ถ้าปราศจากการศึกษาแล้วมนุษย์สู้ไม่ได้แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าศึกษาดีแล้ว มนุษย์ประเสริฐยิ่งกว่าเทวดาและแม้แต่พระพรหม นี่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

ในเมื่อการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ พุทธศาสนาจึงมองว่าชีวิตมนุษย์ต้องเป็นชีวิตแห่งการศึกษาอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ทั้งนี้เราหมายถึงชีวิตที่ดี ถามต่อไปว่า ชีวิตแห่งการศึกษานี้มีจุดหมายเพื่ออะไร

การศึกษานำไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่าปัญญา เมื่อมีการศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา ก็งอกงามดีประณีตขึ้นทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ตัวตัดสิน คือได้ปัญญา พอได้ปัญญาแล้วก็เกิดความรู้ เข้าใจ มาพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจให้ทำได้ ทำเป็น วางท่าทีและปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องทุกอย่างได้ถูกต้องเกิดผลดี

เมื่อเราเผชิญกับประสบการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ตอนแรกเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างไร เมื่อเราไม่รู้เราก็ติดตัน เราปฏิบัติต่อสิ่งนั้นไม่ถูก เราก็เกิดปัญหาคือความติดขัด บีบคั้น คับข้อง ที่พระท่านเรียกว่า ความทุกข์ ความทุกข์ก็คือตัวปัญหานั่นเอง มันบีบคั้นเรา แต่พอเราเกิดปัญญา รู้ว่ามันคืออะไร อย่างไร เราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรแล้ว เราก็โล่ง เราก็ข้ามพ้นปัญหา เรียกว่าหลุดพ้นเป็นวิมุต เมื่อหลุดจากปัญหาก็ข้ามพ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากทุกข์ ชีวิตมนุษย์จึงอาศัยปัญญามาเป็นตัวทำการที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากปัญหา หรือแก้ไขปัญหาได้

พอเจออะไรติดขัดก็เป็นปัญหา แต่พอปัญญามาปัญหาก็หมด เพราะฉะนั้น เพื่อจะให้ข้ามพ้นปัญหาเราจึงต้องการปัญญา ปัญหาจึงคู่กับปัญญา เราต้องการปัญญามาเพื่อแก้ปัญหา มนุษย์ก็เรียนรู้จากการแก้ปัญหานี้แหละ เราจึงได้ปัญญามา พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ทุกข์ที่เรียนรู้เป็นบ่อเกิดของปัญญา เมื่อข้ามพ้นปัญหา ข้ามพ้นทุกข์ก็ถึงวิมุตติ คือบรรลุอิสรภาพ และนี่แหละคือการได้ชีวิตที่ดีงาม

เมื่อมนุษย์พัฒนาสมบูรณ์แล้ว ก็จะดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง และทำการด้วยความรู้ที่จะดำเนินการให้ตรงกับเหตุปัจจัย เขาจึงไม่ต้องอาศัยตัณหา(ความชอบใจไม่ชอบใจ) มาชี้นำชีวิตต่อไป พระพุทธศาสนาจึงสอนหลักการว่า

“ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตประเสริฐ (ดีเลิศหรือสูงสุด)” (สํ.ส.๑๕/๘๔๑; ขุ.สุ.๒๕/๓๑๑)

เมื่อปัญญายังพัฒนาไม่เพียงพอ ถ้ามนุษย์จะไม่ดำเนินชีวิตโดยใช้ความชอบใจไม่ชอบใจ(ตัณหา)เป็นเครื่องชี้นำ เขาก็จะใช้ความเชื่อ(ศรัทธา)เป็นเครื่องชี้นำ ความเชื่อนั้นอย่างดีก็ช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ต่างจากปัญญาที่ทำให้เข้าถึงความมั่นคงปลอดภัยจริงๆ คนที่อยู่ด้วยศรัทธาจึงมีความสุขแบบปลอบประโลมใจ อบอุ่นใจ มีความหวัง หรือได้รับการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ต่างจากปัญญาที่แก้ปัญหาหมดไป ซึ่งทำให้หลุดรอดปลอดพ้น โปร่งโล่ง เป็นไท ซึ่งเป็นความสุขที่แท้จริง ทางพุทธศาสนาจึงสอนว่า

“การได้ปัญญา เป็นความสุข” (ขุ.ธ. ๒๕/๓๓)

นอกจากนั้น การอยู่ด้วยความเชื่อหรือศรัทธานั้น เป็นการไว้วางใจต่อสิ่งอื่น โดยฝากชีวิตและความสุขของตนไว้กับสิ่งที่เชื่อนั้น จึงเป็นการมีชีวิตที่ขึ้นต่อสิ่งอื่นภายนอก พึ่งตัวเองไม่ได้ ไม่เป็นอิสระ ส่วนปัญญาทำให้แก้ปัญหาและเข้าถึงสิ่งนั้นๆ ได้เองโดยตรง จึงทำให้คนพึ่งตนได้ เป็นอิสระหรือเข้าถึงอิสรภาพ

ยิ่งกว่านั้น ความเชื่อหรือศรัทธาอาจกีดกั้นขัดขวางการพัฒนาและเข้าถึงปัญญา เพราะต้องยึดอยู่กับสิ่งที่เชื่อ พระพุทธศาสนาจึงเน้นอย่างมากว่า ศรัทธาหรือความเชื่อนั่นเอง เริ่มต้นก็ต้องประกอบด้วยปัญญา และต้องเป็นความเชื่อในลักษณะที่ส่งเสริมการพัฒนาปัญญา คือให้ศรัทธาเป็นบันไดก้าวสู่ปัญญา หรือเป็นปัจจัยในการพัฒนาปัญญา และถือว่า

“ความเจริญงอกงามแห่งปัญญา (หรือการพัฒนาปัญญา) เป็นยอดสุด ในบรรดาความเจริญงอกงามทั้งหลาย” (องฺ.เอก. ๒๐/๗๘-๘๒)

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติการสำคัญในการศึกษาก็คือทำอย่างไรจะให้เกิดปัญญา และในการที่จะทำให้เกิดปัญญานั้น สิ่งสำคัญก็คือการวิจัย ถ้าเราไม่มีการวิจัย คือการทำให้เกิดปัญญา ด้วยการรู้จักคิดพิจารณาค้นหาความจริง หาทางทำให้มันดี ให้มันสำเร็จ ให้มันพ้นทุกข์ ให้มันแก้ปัญหาได้ การศึกษาจะก้าวไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาและการวิจัยจึงเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน เป็นหน้าที่ของชีวิตมนุษย์ทุกชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่จะมาจัดกันเป็นกิจการของสังคม หรือเป็นการวิจัยทางวิชาการต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่มันจะต้องโยงมาจากรากฐานของการวิจัยในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง